โดย ช. คนไม่หวังอะไร

ในประเทศไทยปัจจุบันมีประชากร 65.9 ล้านคน เป็นชาย 32.1 ล้านคน (49%) หญิง 33.4 ล้านคน (51%) มีสัญชาติไทย 62.3 ล้านคน ไม่มีสัญชาติไทย 3.2 ล้านคน อายุ 15 ปี ขึ้นไปมี 55.83 ล้านคน อยู่ในกำลังแรงงาน 38.3 ล้านคน โดยที่ 37.6 ล้านคนมีงานทำ อีก 4.3 แสนคนว่างงาน ส่วนที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ไม่พร้อมทำงานมี 17.45 ล้านคน ได้แก่ แม่บ้าน นักเรียน นักศึกษา คนชรา เป็นต้น ในส่วนของผู้มีงานทำ 37.6 ล้านคนนั้น ประกอบด้วย ชาย 20.41 ล้านคน หญิง 17.27 ล้านคน อยู่นอกภาคเกษตรกรรม 26.99 ล้านคน และในภาคเกษตรกรรม 10.69 ล้านคน  ในจำนวนประชากร 65.9 ล้านคนนี้มีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมและมีการออมเงิน 14.74 ล้านคน ไม่มีหลักประกันรายได้ 18 ล้านคน และพบว่ามีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 9.4 ล้านคนหรือ 14.5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด เมื่อถึงปี พ.ศ. 2568 จะมีผู้สูงอายุถึง 14.4 ล้านคน ซึ่งหมายถึง 1 ใน 5 คนของจำนวนประชากรทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ คงจะส่งผลต่ออนาคตด้านความสามารถในการพัฒนาประเทศแน่นอน อนึ่ง ในปัจจุบันมีผู้สูงอายุติดเตียง ติดบ้าน และต้องพึ่งพิงคนอื่นกว่า 1 ล้านคน เนื่องเพราะสุขภาพไม่ดี และขาดบริการทางสุขภาพในชนบท มีการคาดการณ์ว่าภายใน 20 ปีนี้ รัฐจะต้องจัดงบประมาณดูแลจาก 6 หมื่นล้านบาทเป็น 2 แสนล้านบาท

หากมองภาพรวมข้างต้น ก็อาจทราบถึงเค้าโครงปัญหาได้ไม่ยาก เมื่อแยกแยะเป็นคนทำงาน 37.6 ล้านคน คนไม่ทำงาน 17.4 ล้านคน ว่างงาน 4 แสนคน และผู้สูงอายุประมาณ 10 ล้านคน โดยจำนวนคนทำงาน 37.6 ล้านคนนั้นเป็นคนทำงานในภาคเกษตรกรรม 10.69 ล้านคน นอกภาคเกษตรกรรม 26.99 ล้านคน ย่อมแน่นอนว่าในจำนวนนี้มีคนยากจน 7.1 ล้านคนและอีก 6.7 ล้านคนยังเสี่ยงต่อสถานภาพความยากจน จากการสำรวจของสถาบันวิจัยระหว่างประเทศและธนาคารโลกระบุไว้ชัดเจนว่า สาเหตุสำคัญมาจาก 1. ปัญหาการเมืองบั่นทอนความเชื่อมั่น 2. ข้าราชการย่ำอยู่กับที่ตลอด 20 ปี 3. ลดการลงทุนจากปีพ.ศ. 2529-2539 เท่ากับ 15% พอปีพ.ศ. 2553-2558 เหลือ 1.6% 4. ภาคอุตสาหกรรมปีพ.ศ. 2529-2539 โต 12% ปีพ.ศ. 2553-2558 โต 1% โดยภาคการเกษตรชะลอตัวมากกว่า 10 ปี 5. เศรษฐกิจโตช้าหลังเพื่อนบ้าน ปีพ.ศ. 2529-2539 โต 9% เฉลี่ยต่อปี พอปีพ.ศ. 2553-2558 เหลือ 3% ต่อปี 6. แรงงานฝีมือลดลง เพราะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาทำให้ขาดแคลนแรงงานฝีมือมากถึง 41.4% เด็กไทยเรียนจบและมีทักษะแก้ไขปัญหาขั้นสูงเพียง 1.7% ขณะที่สิงคโปร์ 35% เวียดนาม 12%

ปัญหาหลักๆ เหล่านี้คงมีอำนาจรัฐเท่านั้นที่จะดำเนินการได้ โดยเฉพาะจำนวนกำลังคนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นเกือบ 50% ทั้งที่วิธีการทำงานย่ำอยู่กับที่ตลอด 20 ปี ขณะนี้กำลังคนภาครัฐมีประมาณ 2.2 ล้านคน เป็นส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 1.7 ล้านคน ส่วนท้องถิ่น 4 แสนคน หลังริเริ่มการปฏิรูประบบราชการโดยปรับลดกำลังคน ผลปรากฎว่าจำนวนข้าราชการประจำแทบไม่เพิ่มขึ้นแต่ที่เพิ่มขึ้นมาก คือ ลูกจ้างรัฐและพนักงานรัฐซึ่งเพิ่มขึ้น 6 เท่า โดยบางกระทรวงมีลูกจ้างและพนักงานมากกว่าข้าราชการประจำ เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีข้าราชการประจำประมาณ 10,000 คน แต่มีลูกจ้างและพนักงานของรัฐร่วม 50,000 คน เงินเดือนข้าราชการเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คิดเป็นเพียง 2 ใน 3 ของเงินเดือนแรกเข้าพนักงานเอกชนที่ระดับการศึกษาเท่ากัน แต่ปัจจุบันข้าราชการได้เงินเดือนแรกเข้าสูงกว่าพนักงานเอกชนโดยเฉลี่ยประมาณ 10% เพราะที่ผ่านมามีการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการวุฒิปริญญาตรีเป็น 15,000 บาทต่อเดือน งบบุคลากรภาครัฐเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าจากเมื่อ 10 ปีก่อน ถ้านับรวมภาระงบบุคลากร สวัสดิการอื่นๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล และบำเหน็จบำนาญก็ร่วม 1.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ของรัฐ ในขณะที่จำนวนกำลังคนภาครัฐในระดับท้องถิ่นเพิ่มขึ้นตามจำนวนองค์กรปกครองท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้น

เมื่อเทียบกับจีดีพี งบบุคลากรของไทยสูงเป็นอันดับต้นๆ ในเอเชีย โดยอยู่ที่ประมาณ 7% สูงกว่ามาเลเซีย 6% ฟิลิปปินส์ 5% และสิงคโปร์ 3% ธนาคารโลกวิจัยพบว่าความมีประสิทธิผลของรัฐบาลไทยอยู่อันดับ 74 จาก 196 ประเทศ และพบว่าความไร้ประสิทธิภาพของภาครัฐเป็น 1 ใน 5 ปัจจัยที่เป็นปัญหาในการทำธุรกิจในประเทศไทย ปัญหาคอร์รัปชันและการเล่นพรรคเล่นพวกของข้าราชการไทยอยู่อันดับ 93 จาก 148 ประเทศ ใกล้เคียงกับประเทศอินเดียซึ่งเป็นอันดับที่ 94 ประเด็นสำคัญต่อมาคือ ในขณะนี้จำนวนข้าราชการพลเรือนระดับสูงตั้งแต่ซี 9 ขึ้นไปมีเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า คล้ายกับข้าราชการทหาร-ตำรวจที่มีตำแหน่งนายพลจำนวนมาก แต่จำนวนข้าราชการประจำโดยรวมลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มกระทรวงใหม่เมื่อปีพ.ศ. 2545 ทำให้มีกรมเพิ่มขึ้นกว่า 40 กรม ส่งผลให้ภาครัฐเสี่ยงต่อปัญหาขาดแคลนกำลังคนโดยเฉพาะระดับปฏิบัติ การปฏิรูประบบราชการจึงมีความสำคัญอย่างเร่งรีบ เชื่อว่ารัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลก็มีความคิดนี้ เพราะเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้กลไกอื่นๆ สำเร็จได้ และเวลานี้นับเป็นโอกาสที่ดี เพราะจะมีข้าราชการประมาณ 40% เกษียณอายุในอีก 15 ปีข้างหน้า จึงควรเริ่มขนาดกำลังคนให้เล็กลง ปรับปรุงประสิทธิภาพ เน้นความโปร่งใสเป็นตัวชี้วัดเชื่อมโยงกับการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ และเพิ่มสัดส่วนการจ่ายค่าตอบแทนตามผลงาน

ในความเป็นจริงที่กำลังดำเนินการตามแผนสภาพัฒน์ปี พ.ศ. 2560-2564 ซึ่งจะทำให้ประชากร 40% (27 ล้านคน) มีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 5,344 บาท ต่อคนต่อเดือนเป็น 7,755 บาทต่อคนต่อเดือนนั้น หากไปย้อนดูโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกปี พ.ศ. 2560-2564 ทั้ง 2 ส่วนนี้คงผสมผสานกันได้ เพราะโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษครอบคลุมทุกภูมิภาค ส่วนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจก็ประมาณการแล้วว่าจะทำให้เศรษฐกิจโต 5% ต่อปี มีการจ้างงานใหม่กว่า 100,000 อัตรา/ปี พร้อมกับมีโครงการเมืองใหม่ซึ่งจะรองรับประชากรที่จะเพิ่มขึ้น มีแหล่งงานและมีการลงทุนใหม่ๆ อีกมาก ทว่ารัฐบาลโดยคสช. จะดำเนินการตามแผนงานและโครงการได้ขนาดไหน เนื่องจากภาคเอกชนและต่างประเทศยังขาดความเชื่อมั่น โดยเสนอให้ปรับกฎเกณฑ์หรือยกเว้นระเบียบบางข้อสำหรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ และเสนอให้มีระบบเพิ่มขีดความสามารถของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย อีกทั้งยังกังวลต่อการลงทุนในรูปแบบความร่วมมือภาครัฐกับเอกชนด้วย

(ขอบคุณภาพปกจาก pixabay.com)