โดย ช. คนไม่หวังอะไร

หากพิจารณาเปรียบเทียบอ้างอิงจากงานศึกษาหลายชิ้น ระบุว่าผู้ค้าหาบเร่แผงลอยมีทั้งชาวกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่สัดส่วนของผู้ประกอบอาชีพชาวต่างจังหวัดจะสูงขึ้น ด้วยสาเหตุความยากจนในภาคเกษตรกรรมและปํญหาการกระจายรายได้อย่างไม่เป็นธรรมระหว่างกรุงเทพฯ และชนบท ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534) มีการส่งเสริมอาชีพส่วนตัวขนาดเล็กในเขตเมืองโดยเน้นที่กลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอย งานศึกษาดังกล่าวสะท้อนถึงการปรับตัวของแรงงานจากภาคเกษตรในชนบทเข้าสู่อาชีพผู้ค้าหาบเร่แผงลอยในเมือง กลายเป็นอาชีพที่ช่วยให้แรงงานย้ายถิ่นจากชนบทของไทยมีรายได้ ก้าวพ้นจากความยากจน คล้ายกับชาวจีนสมัยต้นรัตนโกสินทร์ในหลายกรณี แล้วยังช่วยให้ผู้ค้าเหล่านี้สามารถสะสมทุน ขยายการประกอบอาชีพ และเลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจในเวลาต่อมา

ยี่สิบปีผ่านไป ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยมีฐานะทางเศรษฐกิจหลากหลาย มีแนวโน้มว่าผู้ค้าที่ไม่ได้ยากจนมีมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการมีผู้ค้าที่เป็นชนชั้นกลางเข้ามาในสนามการค้ามากขึ้น ดังตัวอย่างของนายศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ ซึ่งเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 ได้ผันตัวเองจากนักธุรกิจมาสู่การเร่ขายแซนด์วิชข้างทาง ปรากฎการณ์นี้เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์การจ้างงาน และมีแรงงานต่างด้าวจำนวนไม่น้อยหันมาประกอบอาชีพการค้าข้างทางด้วย การขยายตัวของผู้ค้าสองกลุ่มนี้มีการยืนยันทั้งจากผู้ค้า ผู้ซื้อ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องโดยตรง คือ เทศกิจ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีมาตรการชัดเจนเกี่ยวกับผู้ค้าข้างทางที่เป็นแรงงานต่างด้าว สถิติจากสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า ช่วงปี พ.ศ. 2539-2543 ซึ่งเป็นช่วงหลังเศรษฐกิจฟองสบู่แตก มีผู้ค้ามากกว่า 3 แสนคน ในขณะที่สถิติของกรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดเก็บเฉพาะผู้ค้าหาบเร่ แผงลอยบนทางเท้าที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพการค้า ระบุว่ามีผู้ค้าประมาณ 2 หมื่นคนหรือเพียงร้อยละ 10 ของตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ และในปี พ.ศ. 2556 สถิติจากกรุงเทพมหานคร มีผู้ค้าที่ได้รับอนุญาตในจุดผ่อนผันจำนวน 21,065 ราย นอกจุดผ่อนผัน 18,790 ราย

จากการสำรวจว่าผู้ค้ามาจากไหนและค้าขายสินค้าประเภทใดนั้น พอสรุปได้ดังนี้ 1. เครื่องประดับของใช้ส่วนบุคคล 35.42% 2. อาหาร 26.82% 3. เสื้อผ้า 4.90% 4. ของใช้ในบ้าน 7.06% 5. อื่นๆ 25.80% ส่วนผู้ค้ามาจากไหนนั้น ผู้ค้าส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาไม่เกิน 6 ปีและบางส่วนได้รับการศึกษาในระดับปริญญา สาเหตุมาจากการมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการยังชีพ ปัญหาครอบครัว ปัญหาหนี้สิน และการตกเป็นเหยื่อของ “บริโภคนิยม” ความที่กรุงเทพฯ มีพื้นที่จำกัด ทำให้ผู้ค้าบางรายต้องแสวงหาทางออกด้วยการใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์กับนักการเมืองท้องถิ่นและผู้มีอิทธิพล การจัดการเกี่ยวกับการค้าหาบเร่แผงลอยจะครอบคลุมประเด็นอย่างน้อยสี่ประเด็น ได้แก่ มิติทางเศรษฐกิจ มิติทางสังคม มิติทางการเมือง และมิติทางวัฒนธรรม ซึ่งหมายถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน

นักวิชาการท่านหนึ่งแสดงความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า ในทางปฏิบัติ พื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งหมดซึ่งมีบ้านของคนจำนวนกว่า 10 ล้านคน ควรให้แต่ละเขตหรือแต่ละชุมชนเป็นผู้ร่วมกำหนดชะตากรรม รวมไปถึงการสร้างอัตลักษณ์แบบตนเอง ส่วนโครงสร้างใหญ่ เช่น โครงสร้างสาธารณูปโภค หรือโครงสร้างในการบำบัดรักษาความสะอาด ควรทำให้เป็นระบบ หากมองในแง่วัฒนธรรมแล้ว การเติบโตของร้านค้าริมทางเกิดจากวัฒนธรรมการกินของคนไทย ร้านค้าแผงลอยเปรียบเสมือนโรงอาหารของคนในกรุงเทพฯ พื้นที่ตลาดสดเริ่มเปลี่ยนเป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์เพราะการขยายเมือง ทำให้พฤติกรรมของคนเมืองเปลี่ยนไปด้วย อาหารริมทางเกิดขึ้นตามความต้องการของผู้อยู่อาศัย เพราะราคาไม่สูง เหมาะสำหรับคนในชุมชนที่ไม่มีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะไปรับประทานในภัตตาคารหรือห้างสรรพสินค้า หรือแม้กระทั่งร้านสะดวกซื้อ ประชาชนแต่ละพื้นที่ควรมีส่วนในการจัดระเบียบพื้นที่และร้านอาหาร ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม วิถีชีวิต และเศรษฐกิจชุมชน โดยรัฐจัดการปัญหาเป็นองค์รวม

เยาวราชที่สำนักข่าว CNN ยกย่องให้เป็นย่านที่มีอาหารริมทางหรือ “สตรีทฟู้ด” ยอดเยี่ยมแห่งหนึ่งในโลก เป็นเหตุให้กรุงเทพฯ เปลี่ยนนโยบายหันมาสนับสนุนให้เป็นจุดขายนักท่องเที่ยว เพราะรายจ่ายนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 60% จะเป็นค่าอาหาร เครื่องดื่ม ซื้อของจากร้าน และอาหารริมทาง ส่วนการเร่งรัดการจัดระเบียบคืนทางเท้าให้ประชาชนตามนโยบายของ คสช. นั้น เริ่มจุดแรกที่ถนนราชดำเนินกลาง เขตพระนคร ด้วยการประกาศห้ามขายตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยให้ย้ายไปขายในซอยใกล้เคียงแทน ยกเลิกพื้นที่ขายตามริมคลองคูเมืองเดิมและรอบศาลฎีกา ยุติแหล่งค้าขายสินค้าตำนานริมคลองหลอด ตามด้วยรอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่ยังให้การค้าตามเดิมแต่ขีดแนวตั้งวางให้ชัดเจน และจัดระเบียบตลาดคลองถม ซึ่งแม้ร้านค้าบนอาคารยังเปิดขายอยู่ แต่บรรยากาศผิดไปจากอดีต ไม่คึกคักเหมือนเดิม รวมทั้งพื้นที่ใกล้เคียงย่านสะพานเหล็กที่รุกล้ำคลองโอ่งอ่างก็ถูกรื้อทิ้งเมื่อปี พ.ศ. 2558

ปากคลองตลาดแหล่งค้าดอกไม้พวงมาลัยเก่าแก่ มีการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่กรุงเทพฯ กับผู้ค้าอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงพื้นที่ติดกันใต้สะพานพระพุทธยอดฟ้าที่มีแผงค้านานาชนิด  ปัจจุบัน กรุงเทพมหานครจัดระเบียบผู้ค้าหาบเร่แผงลอยไปแล้ว 61 จุด ในพื้นที่ 27 เขต โดยมีจุดที่ยังผ่อนผันแต่เข้าไปกำกับให้เป็นระเบียบมากขึ้นที่ปากซอยอุดมสุข ปากซอยอ่อนนุช ถนนราชปรารภ หน้าศูนย์การค้าบิ๊กซีปทุมวัน รวมทั้งบางพื้นที่ที่จัดแบ่งเวลาให้ค้าขาย 2 รอบ เช่น หน้าเซ็นทรัลเวิลด์ ย่านโบ๊เบ๊ ถนนข้าวสาร และบางจุดยอมให้ขายเฉพาะกลางคืน เช่น หน้าศูนย์การค้าสยามสแควร์ หน้าวัดหัวลำโพง ถนนสีลมขาออก ตั้งแต่สีลมซอย 10 ถึงแยกพระราม 4 โดยกรุงเทพมหานครตั้งเป้าหมายด้วยการจัดระเบียบผู้ค้าใน 48 เขต จากทั้งหมด 50 เขต ในกรุงเทพฯ บนถนน 73 สาย ระยะทาง 309 กิโลเมตร ที่มีผู้ค้าในจุดผ่อนผันทั้งสิ้น 17,812 ราย มีกำหนดแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนสิงหาคม ปี พ.ศ. 2560 ซึ่งยังไม่รู้ว่าเมื่อรัฐจัดระเบียบริมทางเท้าโดยผลักดันให้ผู้ค้าต้องดิ้นรนด้วยตนเองแล้ว ประชาชนที่ประกอบอาชีพเหล่านี้จะเป็นอย่างไรต่อไป

(ขอบคุณภาพปกจาก pixabay.com)