เชื่อว่าหลายคนในที่นี้อาจกำลังคิดทำธุรกิจอะไรสักอย่างบนโลกออนไลน์ หรือได้เริ่มต้นทำไปแล้ว ไม่ว่าจะขายสินค้า ประกาศรับงานในรูปแบบฟรีแลนซ์ หรือรับทำงานศิลปะเก๋ๆ ล้วนแต่เป็นแนวคิดที่ดีที่เราอยากสนับสนุนค่ะ ช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจนี้สำคัญมาก เพราะหากสามารถจัดระบบงาน มีตัวช่วยง่ายๆ มาแบ่งเบาภาระ และลดทอนงานที่ไม่จำเป็นลงได้ ก็จะช่วยให้ธุรกิจที่เราเริ่มต้นด้วยตัวคนเดียวหรือไม่กี่คนแบบนี้ลงตัวยิ่งขึ้น และยังเป็นรากฐานให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป

วันนี้เราจึงอยากแนะนำแอพพลิเคชัน แพลตฟอร์ม หรือเว็บไซต์ที่จะช่วยธุรกิจของคุณที่กำลังเริ่มต้นหรือที่จะเริ่มต้นเร็วๆ นี้ โดยแบ่งเป็นประเด็นตามนี้

1) หน้าร้านสำคัญมาก
หลายคนถามเราว่า เปิดเว็บเป็นของร้านเราเองดี หรือจะไปเปิดร้านบน Facebook, Instagram, Line@ หรือ Youtube ดี อันนี้เราขอตอบว่าดีหมดค่ะ เพราะก็เหมือนว่าคุณจะเปิดร้านสาขาเดียว หรือหลายสาขาพร้อมๆ กันก็ได้ ที่สำคัญคือการจัดหน้าร้าน มีเนื้อหา รูปภาพ และข้อมูลที่ช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่าย จ่ายเงินสะดวก จะเพิ่มปุ่มจ่ายเงินออนไลน์ ปุ่มแชต นำเสนอวิดีโอรีวิวสินค้า ก็แล้วแต่ร้านค้าเลยค่ะ หน้าร้านออนไลน์ก็เหมือนหน้าร้านจริงๆ ถ้าเราหมั่นปรับปรุงและจัดกิจกรรม ก็จะทำให้ลูกค้าเข้ามาเรื่อยๆ วันนี้ไม่ซื้อ วันหน้าอาจจะซื้อก็ได้ค่ะ

ข้อควรระวัง: อย่าให้ข้อมูลที่ขัดแย้งกันเอง เช่น บนเว็บไซต์บอกว่ามีสีนี้ แบบนี้ แต่บนสื่ออื่นบอกไม่มีของ แบบนี้ทำให้ลูกค้าสับสน เมื่อพยายามติดต่อถามร้านค้า แต่บนหน้าเว็บไม่มีเบอร์ที่อัพเดต ไลน์ก็ไม่ตอบกลับ แบบนี้เกรงว่าจะแป้กเอาตั้งแต่เริ่มต้นนะคะ

2) ช่องทางการขายก็ยิ่งสำคัญ
ส่วนใหญ่เมื่อเราเปิดร้านบนสื่อโซเชียลมีเดีย หรือรับงานฟรีแลนซ์บนหน้าร้านตัวเองมาได้สักระยะ อาจรู้สึกว่าต้องใช้วิทยายุทธอย่างมากในการเรียกลูกค้าเข้าร้าน ทั้งบูสท์โพสต์ก็แล้ว ซื้อไลก์ก็แล้ว ยอดไลก์ก็ขึ้นเอาๆ แต่ยอดขายกลับไม่กระเตื้องขึ้นเลย คล้ายกับร้านที่มีสินค้าดีๆ แต่ยังตั้งอยู่ในจุดที่ไม่สะดุดตาลูกค้า คงถึงเวลาแล้วที่เราต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ลูกค้าเห็นเรามากขึ้น เพราะแพลตฟอร์มอย่าง Lazada, 11Street, Shoppee, Kaidee, Weloveshopping, Ebay, Aliexpress, Etsy, Pinkoi, Fastwork, Gowabi ฯลฯ เป็นเหมือนห้างสรรพสินค้าที่มีเงินสนับสนุน แจกโค้ดส่วนลด คอยจัดรายการดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาดูสินค้าและบริการของเรา ปกติแล้วแพลตฟอร์มพวกนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายแรกเข้า บางรายอาจเก็บค่าคอมมิชชันภายหลัง บางรายมีบริการเสริมให้ เช่น ถ่ายภายสินค้า จัดอบรมให้เรา ซึ่งถือว่าคุ้มมากกับการที่ทำให้เรามีกลุ่มลูกค้ากว้างขึ้น ซื้อสินค้าร้านเราจริงๆ ไม่ได้เข้ามาไลก์แล้วจากไป

ข้อควรระวัง: ให้ศึกษารายละเอียดในการเข้าร่วมเป็น Seller หรือ คู่ค้าของแพลตฟอร์มเหล่านี้ให้ดีว่ามีเงื่อนไขอย่างไร เช่น เราต้องทำอะไรบ้าง มีสิทธิประโยชน์อะไรบ้างที่เราจะได้รับ หรือมีช่องทางใดบ้างที่สินค้าหรือบริการของเราจะได้รับการไฮไลต์ให้เป็น No. 1 ของสินค้าหรือบริการประเภทนั้นๆ

3) ลงทุนกับเครื่องมือทำมาหากินเท่าที่จำเป็นก่อน
การจัดการงานเอกสาร งานคำนวณตาราง งานพรีเซนต์ และเครื่องมือเฉพาะสำหรับงานบางประเภทเช่น โปรแกรม Adobe สำหรับงานออกแบบ หรือ กล้องสำหรับงานนำเสนอ ถือเป็นหัวใจหลักที่จะช่วยให้ธุรกิจที่กำลังเริ่มนี้เติบโตได้ คุณอาจจะเริ่มต้นจากการใช้เครื่องมือฟรีในตระกูล Google อย่าง Gmail, Google Doc, Google Sheet, Google Drive หรือจะลงโปรแกรมอย่างตระกูล Microsoft Office ที่มีทั้ง Word, Excel, PowerPoint ฯลฯ เพื่อให้งานของคุณดูมีความเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้นก็ได้ และสำหรับฟรีแลนซ์หลายคนที่ทำงานออกแบบ งานฝีมือ หรืองานด้านอาหาร เราขอแนะนำให้ลงทุนไปเลยกับเครื่องมือหากินที่อาจมีต้นทุนบ้าง อย่างซอฟต์แวร์เฉพาะทาง กล้องถ่ายรูป หรือกล้องวิดีโอ เพราะผลลัพธ์ที่ได้จะทำให้คุณเหนือกว่าคู่แข่ง

ข้อควรระวัง: ลองเลือกใช้เครื่องมือที่ไม่แพงมากก่อน อย่าเพิ่งทุ่มทุนกับเครื่องมือใด ถ้าคุณยังไม่มีความรู้เรื่องนั้นมากนัก หากใช้แล้วดีค่อยขยับขยาย แต่หากไม่เวิร์กก็ขายต่อหรือแปลงมาเป็นทุนก็ได้ เราไม่สนับสนุนให้คนที่เพิ่งเริ่มธุรกิจใหม่ซื้อระบบอะไรแพงๆ หรือลงทุนกับระบบหลังบ้านที่บอกรับประกันว่าจะหาลูกค้าให้ หรือทำงานได้ครบทุกด้าน แล้วก็จากไปพร้อมกับค่าดูแลรายปี แต่ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย

4) ประหยัดเวลาเรื่องส่งของหรือวางบิล
ธุระเรื่องรับส่งเอกสาร เก็บเช็ค วางบิล ส่งของไปต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ สามารถกินเวลาคุณไปเกินครึ่งวัน และอาจไม่เหลือพอที่จะมานั่งอัปเดตออร์เดอร์ คุยโต้ตอบลูกค้า หรือปรับแต่งรายการสินค้าให้อัปเดตอยู่เสมอ ดังนั้น เราจึงขอแนะนำให้คุณใช้บริการบริษัทขนส่งอย่าง Lalamove, Line Man, Kerry, DHL, Skootar ฯลฯ บางรายแจกส่วนลดสำหรับลูกค้าใหม่ หรือมีโปรโมชันสำหรับบางเส้นทางการส่ง บางรายเรียกใช้บริการได้ตลอด 24 ชม. และทุกรายมีแอพพลิเคชันที่สามารถตรวจสอบได้ว่าสินค้าหรือเจ้าหน้าที่ที่เราให้ไปดำเนินเรื่องอยู่ไหนแล้ว และมีประกันความเสียหายด้วย ถือว่าสะดวกมากสำหรับมือใหม่อย่างเรา ลองศึกษาดูนะคะ วิธีนี้น่าจะช่วยประหยัดเวลาใน 1 วันของคุณได้มากทีเดียว

ข้อควรระวัง: ควรบรรจุสินค้าหรือเอกสารให้เรียบร้อยและรัดกุม แจงข้อมูลให้ครบถ้วนและวางแผนเรื่องโลจิสติกส์ล่วงหน้าว่าในหนึ่งวันเราจะให้เจ้าหน้าที่ไปส่งของที่ไหนบ้าง เพื่อช่วยลดความซ้ำซ้อนในการทำงาน ประหยัดเวลา และเงินในกระเป๋า

5) โหลดแอพธนาคารไว้เลย จะรออะไร
ปิดการขายฉับไว ลูกค้าพร้อมโอน แต่แม่ค้าไม่มีเลขบัญชี แบบนี้ถือว่าช้าเกินไปค่ะ ฉะนั้น เราขอแนะนำให้คุณอำนวยความสะดวกในการจ่ายเงินของลูกค้าให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชีธนาคารที่ได้รับความนิยม น่าเชื่อถือ แล้วสมัครออนไลน์แบงก์กิ้ง เพื่อสามารถตรวจสอบเรื่องการโอนเงินได้ทันที หรือจะทำบนหน้าเว็บของคุณให้รองรับระบบจ่ายเงินบนหน้าเว็บก็ได้ วิธีนี้คุณอาจต้องปรึกษานักพัฒนาเว็บและบริษัทที่ทำ Payment Gateway หรือช่องทางจ่ายเงินก่อน แล้วค่อยตัดสินใจว่าธุรกิจของคุณพร้อมหรือไม่สำหรับ E-Commerce ระดับนี้

ข้อควรระวัง: ไม่ใช่ทุกธุรกิจที่จะพร้อมสำหรับเว็บไซต์ E-Commerce ลองประเมินธุรกิจของคุณก่อน ศึกษาหาข้อมูลให้ดี ก่อนจะลงทุนเกินตัว จมเงินไปกับการพัฒนาเว็บแบบทุ่มทุนเกินไป

หนทางทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป แต่ก็ใช่ว่าจะมืดมิดซะทีเดียว ในตอนต้นอาจต้องเหนื่อยหน่อย แต่เราเชื่อว่าหากคุณลองเปิดใจนำเทคโนโลยีที่เหมาะเข้ามาช่วย ลองผิดลองถูกบ้าง และที่สำคัญคือขอให้ตั้งใจและอดทนเผชิญกับบทเรียนต่างๆ ในช่วงแรกนี้ไปให้ได้ ไม่นานก็จะเติบโตเป็นธุรกิจที่แข็งแกร่งได้อย่างแน่นอนค่ะ

โดย หญิงเยอะ

29 มีนาคม 2560