ในช่วงเทศกาลตรุษจีนแบบนี้ จะเห็นคำมงคลต่างๆ ปรากฏออกมาเต็มไปหมด ทั้งภาพวาด โปสเตอร์ การ์ดอวยพร ไปจนถึงรูปภาพในโซเชียล หนึ่งในคำที่เห็นบ่อยที่สุดคงเป็นคำว่า “福” ที่คนไทยนิยมออกเสียงเป็นภาษาแต้จิ๋วว่า ฮก หรือวาสนา ไม่ใช่ฮกธรรมดา หลายครั้งยังเป็นตัวฮกกลับหัวด้วย เลยคิดว่าน่าจะเอามาเขียนถึงแบบละเอียดสักครั้งหนึ่ง

คำว่า “福” (fú ) จีนกลางอ่านว่า ฝู ปรากฏครั้งแรกตั้งแต่ยังเป็นอักษรกระดองเต่า เป็นภาพของมือสองมือถวายไหเหล้าเป็นเครื่องเซ่นไหว้หน้าแท่นบูชา หมายถึงการขอพรต่อเทพเจ้าให้ชีวิตมีความอุดมสมบูรณ์ ร่มเย็นเป็นสุข ปราศจากโรคภัย พูดอีกอย่างก็คือความปรารถนาทั้งหลายทั้งมวลของมนุษย์เพื่อชีวิตที่ดีตั้งแต่โบราณกาล ก็คือ “福” คำนี้ ในที่นี้จึงแปลว่าวาสนา หลังจากนั้นอักษรตัวนี้ก็วิวัฒนาการมาเรื่อยๆ จนกลายมามีหน้าตาอย่างในปัจจุบัน

(อันที่จริงคนจีนมีความคิดเรื่องวาสนาในอุดมคติ 5 ประการมาตั้งแต่สมัยแรกเริ่มของประวัติศาสตร์ เรียกว่า 五福 แล้ว แต่เนื่องจากรายละเอียดของวาสนาทั้งห้า มีการปรับเปลี่ยนมาเรื่อยๆ ในแต่ละยุคสมัยจนถึงปัจจุบัน ก็จะยังไม่เอามาเล่าตอนนี้)

คำว่า “福” ในปัจจุบัน เป็นอักษรแสดงเสียงและความหมาย ด้านซ้าย “礻” อ่านว่า ซื่อ เป็นหมวดนำอักษรจีนที่บ่งบอกความหมายว่าคำนี้เกี่ยวกับโต๊ะหมู่บูชาและการเซ่นไหว้ ส่วนด้านขวาบ่งบอกเสียง เดิมทีเป็นอักษรภาพรูปไหเหล้า แต่ในช่วงสุดท้ายของวิวัฒนาการกลับผิดเพี้ยนกลายเป็นตัว “畐” ที่เป็นอักษรภาพของคำว่า “腹” (fù ) ที่แปลว่า ท้อง แทน สังเกตว่าสี่เหลี่ยมด้านบนคล้ายหัวคน ส่วนตัว “田” ข้างล่างก็คล้ายกับท้อง อักษร “十” ที่อยู่ข้างในท้อง มีความหมายว่าเต็มสมบูรณ์ อักษรภาพ “畐” ตัวนี้ จึงหมายถึงคนที่มีกินอิ่มท้องหรือมีความสมบูรณ์พูนสุข สังเกตคำว่า “富” (fù )  ฟู่ ที่แปลว่าร่ำรวย ก็มีลักษณะอักษรแบบนี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถึงลักษณะขีดการเขียนจะผิดเพี้ยนไป แต่ก็ยังคงความหมายของความอุดมสมบูรณ์อยู่นั่นเอง

เมื่อ “福” เป็นคำมงคล คนจีนก็เลยนิยมเอามาใช้ประดับตกแต่งบ้าน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลตรุษจีนจะมีการเอากระดาษลวดลายคำว่า “福” มาติดบนประตูบ้านและหน้าต่าง แถมหลายบ้านยังติดกลับหัวกลับหางอีกด้วย เรื่องนี้หลายคนคงเคยได้ยินมาบ้างแล้ว เรื่องของการติดคำว่า “福” กลับหัว ซึ่งมีที่มาจากการเล่นคำพ้องเสียง (谐音) และความหมายแฝง (寓意) ระหว่าง “福倒” (fú dào) (ฝูเต้า) ที่แปลว่า ตัววาสนากลับหัว กับ “福到”  (fú dào) (ฝูเต้า) ที่แปลว่าวาสนามาถึง

มีนิทานเล่าที่มาของการติดอักษร “福” กลับหัวนี้หลายสำนวนด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฮ่องเต้จูหยวนจาง เรื่องของซูสีไทเฮา หรือกงชิงหวาง แต่หลักใหญ่ใจความคล้ายกัน คือการใช้ปฏิภาณไหวพริบแก้ไขเหตุร้ายกลายเป็นดีโดยอาศัยเรื่องของคำพ้องเสียง  ขอเล่าเฉพาะสำนวนที่แพร่หลายที่สุด เรื่องมีอยู่ว่า ในรัชสมัยของหมิงไท่จู่ จูหยวนจาง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง หลังจากยึดเมืองนานกิงได้ ทรงต้องการปราบปรามผู้ที่คิดกระด้างกระเดื่อง จึงใช้รหัสลับให้ผู้สนับสนุนพระองค์ติดกระดาษคำว่า “福” ไว้บนประตูบ้าน ในวันรุ่งขึ้นหากบ้านไหนไม่มีกระดาษแผ่นนี้ก็จะถูกฆ่าทิ้งทั้งหมด เรื่องไปถึงพระกรรณของหม่าฮองเฮา ผู้ทรงได้ชื่อว่าเป็นฮองเฮาที่ทรงพระเมตตาที่สุดองค์หนึ่งของจีน พระองค์ทรงต้องการหยุดภัยครั้งนี้จึงออกอุบายให้ทุกครอบครัวในเมืองติดคำว่า “福” ไว้หน้าบ้านตัวเองให้หมดภายในคืนเดียว มีอยู่ครอบครัวหนึ่งเพราะอ่านหนังสือไม่ออกจึงติดกลับหัว วันรุ่งขึ้นเมื่อฮ่องเต้จูหยวนจางทรงได้ยินว่าทุกบ้านมีคำว่า “福” ติดอยู่ ยังมีหลังหนึ่งติดกลับหัวด้วย ก็กริ้วหนัก รับสั่งให้ทหารปิดล้อมบ้านหลังนั้นไว้ทันที หม่าฮองเฮาทรงเห็นท่าไม่ดีจึงรีบตรัสว่า “ครอบครัวนี้เห็นว่าพระองค์จะเสด็จมาเยี่ยม จึงตั้งใจติดคำว่า ‘福’ กลับหัว เพื่อสื่อความหมายว่าวาสนามาเยี่ยมเยียนอย่างไรล่ะเพคะ” ฮ่องเต้ทรงได้ยินดังนั้นก็พอพระทัย หายกริ้วและรับสั่งปล่อยตัวคนในครอบครัวนั้นเสีย เหตุการณ์ทุกอย่างจึงกลับสู่ความสงบสุข นับแต่นั้นมาชาวบ้านต่างพากันติดคำว่า “福” กลับหัวกันหมด นอกจากเพื่อให้โชคดีมาถึงแล้ว ยังเป็นการรำลึกถึงหม่าฮองเฮาอีกด้วย

เรื่องของการติด “福” กลับหัวยังไม่จบแค่นี้ ในหมู่ชาวจีนรุ่นใหม่ยังเอาเรื่องคำพ้องเสียงมาสร้างความเชื่อที่ซับซ้อนมากขึ้นไปอีก ว่ากันว่าหากจะติดคำว่า “福” ไว้ที่ประตูหน้าบ้าน ต้องติดตั้งตรงห้ามกลับหัว เพราะประตูบ้านคือช่องทางรับความโชคดีเป็นสิริมงคลเข้ามา ถ้าติด “福” กลับหัวความหมายจะกลายเป็น “把福气倒在门外了!” คือกลายเป็นเอาวาสนาเทกลับออกนอกประตูไปเสีย เพราะคำว่า “倒” คำนี้ นอกจากหมายถึงกลับหัวแล้ว ยังมีความหมายว่าเทออกไปด้วย แต่หากเป็นการติดไว้ในบ้าน ตามห้องหับ ตู้ โต๊ะ ถ้วยชามรามไหแล้วละก็ ให้ติดกลับหัวได้ เพราะจะมีความหมายว่าเป็นการเทวาสนาเข้ามาภายในบ้าน ในห้อง ในภาชนะต่างๆ บ้านนี้ก็จะมีวาสนา ความโชคดี อุ่นหนาฝาคั่งไปตลอดทั้งปี

ความจริงใช่ว่าคนจีนทุกคนจะเชื่อเรื่องแบบนี้ จีนเป็นประเทศใหญ่ ความแตกต่างด้านความเชื่อมีมาก บางคนมองว่าเรื่องนี้เป็นความเชื่อที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม สิ่งของแต่ละอย่างก็เหมาะสมกับการติดคำมงคลที่แตกต่างกันไป ไม่ใช่ว่าจะติดคำว่า “福” พร่ำเพรื่อไปหมด ชาวจีนแถบกวางเจาไม่นิยมติด “福” กลับหัว เพราะกลายเป็นความหมายแฝงที่ไม่ดี หลายคนยังเห็นว่าติดแบบไหนก็ได้ตามที่คิดว่าสมควร ขอให้สบายใจวาสนาก็มาเอง

หมายเหตุ: ในภาพด้านล่าง คือคำว่า “福” กับลายค้างคาว ค้างคาวในภาษาจีนเรียกว่า 蝙蝠 (biān fú) (เปียนฝู) คำว่า “蝠” ก็พ้องเสียงกับคำว่า “福” ดังนั้นในวัฒนธรรมจีน ค้างคาวจึงเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี มีวาสนา และเป็นหนึ่งในลวดลายมงคลที่มักปรากฏในศิลปะตามแบบประเพณีจีนแขนงต่างๆ

โดย บุษรา เรืองไทย

2 กุมภาพันธ์ 2560