โดย ช. คนไม่หวังอะไร

จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ขายออนไลน์หนึ่งล้านห้าหมื่นราย แต่จดทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์เพียงหนึ่งหมื่นสามพันรายเท่านั้น คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 2% ของผู้ขายออนไลน์ทั้งหมด ธุรกิจในรูปแบบนี้ไม่ต้องลงทุนหน้าร้าน ไม่ต้องเสียค่าเช่าพื้นที่ ค่าจ้างพนักงานทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ส่งผลให้สินค้าและบริการต่างๆ เปิดขายกันอยู่บนอินเทอร์เน็ตได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้มีผู้สนใจก้าวเข้าสู่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซกันอย่างมาก ธุรกิจ SME ก็ได้เข้าเกี่ยวข้องเป็นห่วงโซ่  ปัจจุบันธุรกิจ SME มี 334,521 ราย รายได้รวมของธุรกิจทุกขนาดทั่วประเทศอยู่ที่ 23.3 ล้านล้านบาท โดย 43% หรือ 10 ล้านล้านบาทเป็นรายได้ของ SME  และจากการจ้างงานทั้งหมด 13.4 ล้านคน 80% เป็นการจ้างงานของธุรกิจ SME  การกระจุกตัวของ SME ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร สัดส่วนของรายได้ธุรกิจ SME แบ่งได้เป็นภาคการผลิต 32% ภาคการค้า 46% และภาคบริการ 55% ของรายได้ธุรกิจ SME รวมในแต่ละประเภท

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสื่อสารทำให้มีช่องทางการเข้าถึงสินค้าและบริการได้มาก ผู้ประกอบการจำนวนมากเริ่มเปลี่ยนการซื้อขายมาสู่ระบบการค้าออนไลน์ มีการใช้แรงงานน้อยลงแต่ใช้กระบวนการทางความคิดเพิ่มขึ้น จากตัวเลขการทำธุรกิจที่ไม่ถูกต้องและไม่สะท้อนความเป็นจริงในธุรกิจออนไลน์ ผู้บริโภคบางส่วนถูกเอาเปรียบจากการซื้อสินค้าในช่องทางนี้ เช่นการชำระเงินแล้วไม่ได้สินค้า หรือสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐาน สมาคมผู้ค้าปลีกจึงเสนอให้ภาครัฐพิจารณาสามข้อหลัก คือ การประกอบธุรกิจออนไลน์ ผู้ประกอบการจะต้องเกี่ยวข้องกับภาษี 2 ประเภท โดยต้องดำเนินการ 1. จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่กรมสรรพากร ไม่ว่าจะมีรายได้เท่าไรก็ตาม 2. จดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ 3. จดทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะมีผู้ประกอบการธุรกิจร้านค้าออนไลน์จำนวนมากที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการเสียภาษีอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะผู้ค้าออนไลน์รายใหญ่ที่อยู่ต่างประเทศ

นอกจากผู้ประกอบการค้าปลีกจะได้รับผลกระทบจากธุรกิจออนไลน์แล้ว ทุนไทย-ทุนข้ามชาติยังได้อาศัยระบบเทคโนโลยีร่วมมือกันจัดตั้งบริษัททำธุรกิจโลจิสติกส์ เช่น SCG ร่วมทุนกับบริษัทยามาโตะ เอเซียจัดตั้งเป็นบริษัท SCG ยามาโตะเอ็กซ์เพรส ส่งพัสดุย่อยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล แล้วขยายไปตลาดต่างจังหวัดโดยเปิดสาขาย่อย 100 แห่ง ในรูปแบบศูนย์บริการ SCG เอ็กซ์เพรสและตัวแทนรับพัสดุ SCG เอ็กซ์เพรส

ที่มาภาพ: www.scgexpress.co.th

โดยมีบริการ 4 รูปแบบ ได้แก่ 1. บริการขนส่งพัสดุย่อยแบบเร่งด่วนถึงบ้าน 2. บริการส่งเอกสารหรือพัสดุภัณฑ์ด่วน 3. บริการเก็บเงินปลายทาง 4. บริการขนส่งพัสดุแบบควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งแน่นอนว่าธุรกิจนี้ย่อมกระทบตลาดของบริษัทไปรษณีย์ไทย เพราะเป็นธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ บริษัทไปรษณีย์ไทยมีสาขาทั่วประเทศ 1,300 แห่ง คงจะต้องปรับปรุงรูปแบบทั้งเทคโนโลยีการส่ง EMS ไม่ว่าจะส่งวันนี้กี่โมงก็ตาม ปลายทางจะต้องได้รับของในวันรุ่งขึ้น รวมไปถึงการเปิดแอปพลิเคชันฝากส่งล่วงหน้า และ Messenger Post ลูกค้าสามารถเรียกใช้บริการรับของฝากและส่งล่วงหน้า เพื่อเชื่อมผู้ประกอบการทางด้านอี-คอมเมิร์ซที่จำหน่ายสินค้าผ่านไอจีและเฟซบุ๊ก

แม้ไปรษณีย์ไทยจะเป็นยักษ์โลจิสติกส์ผูกขาดในอดีต แต่อุตสาหกรรมมาถึงจุดเปลี่ยนสู่สังคมดิจิทัล ก็จะต้องปรับตัวเพื่อรับการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหม่ เพราะนอกจาก SCG ยามาโตะ เอ็กซ์เพรสแล้ว ยังมีสกู๊ตตาร์ ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันแมสเซ็นเจอร์ออนไลน์ ผู้ใช้สามารถส่งสินค้าผ่านแอปพลิเคชัน มีแมสเซ็นเจอร์ให้บริการกว่า 1,000 คัน ทำหน้าที่รับส่งเอกสารให้ลูกค้า

ที่มาภาพ: www.skootar.com

นอกจากนี้ยังมี ลาล่ามูฟ ให้บริการผ่านแอปรับส่งสินค้าเช่นเดียวกัน โดยมีบริการ 3 รูปแบบ คือมอเตอร์ไซค์ รถกระบะ และรถยนต์ 5 ประตู สามารถส่งสินค้าถึงผู้รับได้ภายใน 1 ชั่วโมง ปัจจุบันให้บริการแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจลูกค้า SME หรือขายของออนไลน์ มีสัดส่วน 60% และลูกค้าทั่วไปที่ใช้บริการรับส่งสินค้าหรือฝากซื้อของ มีสัดส่วน 40% ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงเช่นกัน เมื่อมีคู่แข่งทั้งในไทยและต่างประเทศเข้ามาบุกตลาด บริษัทไปรษณีย์ไทยก็คงจะต้องตื่นตัวเพื่อแข่งขันกับผู้ประกอบการเหล่านี้ ปัจจุบันมีผู้ให้บริการธุรกิจโลจิสติกส์ดังนี้ บริษัทไปรษณีย์ไทย แบรนด์ไปรษณีย์ มีสาขา 1,300 แห่ง บริษัท SCG ยามาโตะ เอ็กซ์เพรส แบรนด์ SCG  เอ็กซ์เพรส มีสาขา 110 แห่ง บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส แบรนด์เคอรี่ มีสาขา 40 แห่ง บริษัทลาล่ามูฟ แบรนด์ลาล่ามูฟ บริษัทอาร์เอฟอีเซอร์วิส แบรนด์ปอลอ มีสาขา 40 แห่ง บริษัทนิ่มซี่เส็ง โลจิสติกส์ มีศูนย์กระจายสินค้า 9 แห่งในภาคเหนือ

การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่เกิดขึ้น ผู้บริโภคจะได้เปรียบเพราะสามารถเข้าถึงข้อมูลตัวสินค้าและการบริการได้ง่าย แต่หากรัฐไม่สามารถจัดการอย่างเป็นระบบ ผู้บริโภคย่อมเสียเปรียบและถูกหลอกลวงได้ง่ายเช่นกัน แม้รัฐจะมีหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค แต่ที่ผ่านๆ มา หน่วยงานนี้มีภารกิจมาก บุคลากรไม่เพียงพอ การให้การคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปอย่างล่าช้า ขณะเดียวกัน แม้รัฐจะมีบริษัทไปรษณีย์ไทยเป็นของรัฐ มีองคาพยพพร้อมกว่าภาคเอกชน แต่การบริการอาจสู้ภาคเอกชนไม่ได้ ดังเช่นอดีตที่เคยมี รสพ. (องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์) ซึ่งรับพัสดุภัณฑ์ต่างๆ สู้ภาคเอกชนไม่ได้ แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรีให้หน่วยงานราชการทั้งหมดใช้บริการของรสพ. แต่สุดท้ายก็ยังประสบภาวะขาดทุนและยุบตัวเองในที่สุด

(ขอบคุณภาพปกจาก pixabay.com)