By May Sirinun

18 มีนาคม 2012

ระหว่างที่นั่งเซ็งๆ ทำงาน เปิด facebook ขึ้นมาฆ่าเวลาไปเรื่อยๆ สายตาก็ผ่านไปเห็นโพสต์เพื่อนเก่าบอกกำลังรอตั๋วไปนิวซีแลนด์ อืมม นิวซีแลนด์ จะดีมั้ยนะ หันไปคุยกับน้องข้างโต๊ะสักพัก “ถ้าเป็นหนู หนูจะไป” อ่ะ โอเค งั้นก็… ป่ะ ได้เวลาเผาโบนัสทิ้งละ

เรามีกันสี่คน กิจ ฝ้าย เพื่อนเก่าสมัยป.ตรี ชู เพื่อนใหม่ของเรา เก่าของเค้า และตัวเองอีกหน่วย การเดินทางหลังจากลาพักร้อนครั้งล่าสุดเมื่อ 20 เดือนที่แล้ว ดูเหมือนนานแต่เวลาผ่านไปเร็วเมื่อคุณมีอะไรยุ่งๆ ต้องทำ และไม่น่าเชื่อว่าจะสามารถกลั้นหายใจได้นานขนาดนั้น

เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหก ก็โกหกจริงๆ เพราะมันผ่านไปช้ามาก การอยู่บนเครื่องบินนานๆ เป็นกิจกรรมที่เสียเวลาที่สุดในโลก หนังจาก PTV จบไปสองเรื่องแล้วก็ยังไม่ถึง นั่งกรรมฐานอีกสามสิบอึดใจ ในที่สุดเครื่องก็แตะสนามบิน Sydney รอเปลี่ยนเครื่องอีกชั่วโมงครึ่ง breakfast บนเครื่องอีกมื้อ… และแล้วเราก็หากันจนเจอ นิวซีแลนด์

ท้องฟ้าที่นี่เป็นฟ้าที่คุณไม่มีทางได้เห็นในประเทศไทย หรือแม้แต่ยุโรปหลายๆ ประเทศที่ไปมา มันเป็นสีฟ้านั่นแหละ แต่มันใสและเป็นฟ้าที่ถูกผสมได้อย่างสวยงามที่สุด นี่อาจจะเป็นผลจากการที่นิวซีแลนด์มีพระราชบัญญัติการจัดการทรัพยากร (Resource Management Act) เริ่มบังคับใช้ในปี 1991 ซึ่งนับได้ว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกของโลกที่จัดการเกี่ยวกับปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทำให้ไม่มีม่านมลพิษเจือปนอยู่ในบรรยากาศเมฆที่นี่ก็มีลักษณะแปลกๆ คือยาวเป็นแพขนาดใหญ่และลอยต่ำจนรู้สึกเหมือนจะเอื้อมไปจับได้ และคงเป็นที่มาของชื่อประเทศตามภาษามาวรีที่ว่า Aotearoa หมายถึง “ดินแดนแห่งทิวเมฆยาวสีขาว” นั่นเอง

10 วันที่เกาะใต้ ทริปเริ่มจาก Christchurch เมืองที่บอบช้ำจากแผ่นดินไหวหลายต่อหลายครั้ง สภาพเมืองไม่ต่างจากเมืองที่เกิดจราจล ถนนร้าวเป็นช่วงๆ ตึกหลายตึกกลายเป็นตึกร้าง ผู้คนเริ่มทยอยอพยพออก อีกไม่นานเมืองที่เคยเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของนิวซีแลนด์คงจะมีประชากรอาศัยน้อยที่สุดในประเทศถ้าภัยธรรมชาติยังคุกคามอย่างไม่ปราณี เราขับรถเล่นในเมือง ผ่านจุดที่เคยเห็นในรายการข่าว ตึกที่มีคนไทยเสียขีวิต และโบสถ์ที่พังทลาย ช่างเป็นการเริ่มต้นทริปด้วยความเศร้าสลด และความกังวลว่าถูกจับฐานกลับรถในที่ห้ามกลับ เพราะเราสี่ตัวเล่นกลับรถตามนิสัยกทม.นิยม และความเชื่อที่ว่า ที่ใดไม่มีป้ายห้ามกลับแสดงว่ากลับได้ \^0^/

ค่าที่ว่า มันคือหน้าร้อน ทุกคนบอกว่า (ย้ำ) “มันคือหน้าร้อน” สัมภาระในกระเป๋าจึงเป็น เสื้อยืดและกางเกงขาสั้น สัมผัสแรกเมื่อหนังหน้าปะทะลมที่สนามบิน “สาบาน นี่หน้าร้อน!?!!@&*#(&!$#@&” จริงๆ ก็ไม่ผิด หน้าร้อนเค้า 15-16 องศาตอนกลางวัน 9-10 องศาตอนกลางคืนบวกลมกรรโชกแรง คงเป็นลักษณะอากาศที่สุดชิวสำหรับชาวเมือง ประชากรพากันใส่ขาสั้น รองเท้าแตะ และท่ายอดนิยมคือ ไม่ใส่รองเท้า เดินเฉิดฉายในที่ต่างๆ ให้ฝ่าเท้าดำเล่น ในขณะที่เราสี่ตัวพยายามเอาตัวซุกใน jacket ให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ jacket ก็เอามาตัวเดียว บางๆ เบาๆ เมื่อถึงวันสุดท้ายจึงกลายเป็นสารให้ความเค็มอย่างสุดลิ้น (แต่ไม่ได้ชิมนะ เดาจากกลิ่น)

ทุกๆ เช้าของทุกๆ วัน เราตื่นประมาณ 6 โมงกว่า กิจอาบน้ำก่อน คนอื่นๆ ตามมา ที่พักส่วนใหญ่เป็น hostel เพื่อเพิ่มประสบการณ์ชีวิตในการอาศัยกับหลายชนชาติ ให้ความรู้สึกเหมือนเข้าค่ายลูกเสือ เนตรนารีนานาชาติไม่มีผิด ฝ้ายเป็นมือหนึ่งในการทำกับข้าวมื้อเย็น ส่วนคนอื่นๆ เป็นมือหนึ่งในการกำจัดอาหาร เนื่องจากส่วนใหญ่จะถึงจุดหมายค่ำมากและร้านรวงมักจะปิดไปแล้ว การทำกับข้าวกินเองจึงเป็นความคิดที่วิเศษสุด ส่วนเรื่องประหยัดกว่าการซื้อกินมั้ยก็ไม่เท่าไหร่ เพราะเราจัดหนักกับเนื้อวัวนิวซีแลนด์และปลาแซลมอน ไม่งกเครื่องเคียงและน้ำกับแกล้มต่างๆ เผลอๆ อาจจะแพงกว่านั่งกินข้าวตามร้านด้วยซ้ำ ข้อดีของการทำกับข้าวร่วมกันคือเป็นการกระชับความสัมพันธ์ไปในตัว ทำ กิน ล้าง เช็ด เก็บ แยก (ขยะ) ทิ้ง (ขยะ) โยน (ขยะ) และพยายามรับ (ฟัง) คำค่อนแคะจากการสร้างกลิ่นติดครัวแบบเอาไม่ออก

เนื่องจากประเทศนิวซีแลนด์มีประชากรน้อยเพียง 39 คนต่อ 1 ตร.ไมล์ (เทียบกับไทย 327:1 sq. mi) เราจึงพบพื้นที่เวิ้งว้างว่างเปล่ากว้างขวางสุดลูกหูลูกตามากมาย การจะเจอคน 1 คนนั้นยากยิ่งกว่าการเจอแกะ 100 ตัว ประชากรมีความเป็นอยู่ซุปเปอร์เรียบง่ายและดูจะไม่อาทรร้อนใจกับการที่ไม่มีสัญญาณมือถือหรือ Internet ใช้ ราคาค่างวดในการซื้อจำนวน MB ของ Internet ก็สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ เรื่องการได้ใช้ฟรีนั้นไม่ต้องหวัง ทั้งนี้อาจจะเพราะการลงทุนด้านการพัฒนาระบบการติดต่อสื่อสารต้องใช้เงินทุนมหาศาลอันเนื่องมาจากปัจจัยด้านพื้นที่ที่กว้างใหญ่ รัฐบาลถึงขนาดต้องออกกฎหมายให้มีการพัฒนา Internet broadband ให้เร็วขึ้นและมีราคาถูกลง นิวซีแลนด์ยังได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมอย่างสุดขั้ว โดยได้ให้สัตยาบันใน Kyoto Protocol เมื่อปี 2002 และกำหนดเป้าหมายที่จะเป็นประเทศปลอดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon neutral) โดยการปลูกป่า ยังไม่พอ รัฐบาลยังออกนโยบายภาษีคาร์บอน (carbon tax) เพื่อจูงใจให้เจ้าของฟาร์มปศุสัตว์นำคาร์บอนที่ลดได้ไปหักลดหย่อนภาษีได้อีกทางหนึ่ง ดูๆ ไปก็ไม่น่าจะเป็นประเทศที่ประสบปัญหานี้เพราะมีแต่ทุ่งนา และแกะ เอาเข้าจริงก็ผู้ร้ายหน้าขนนี่แหละตัวการสำคัญ เพราะก๊าซมีเทนที่ก่อให้เกิดปรากฎการณ์เรือนกระจกดันมาจากการผายลม (ตด) ของพวกมัน เอาสิ คิดสภาพแกะ 40 ล้านตัว วัว 10 ล้านตัว ตดกลางแจ้งพร้อมๆ กันวันละ 3 ครั้ง (อาจจะมากกว่าเพราะพืชผักเป็นวัตถุดิบในการผลิตก๊าซอย่างดี) ไม่ไหวนะ จริงๆ ไอ้คาร์บ้ง คาร์บอน อาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลักของความพยายามนี้ก็เป็นได้ -_-“

ทริปดำเนินไปเรื่อยๆ จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง เราแวะตามทางเกือบทุกจุด look out ซึ่งแปลได้ว่า จุดสุดยอด (ที่ต้องชะโงกหน้าดู) รวมถึงจุดที่ไม่มีป้ายแปะแต่หยุดตามใจคนขับ ต้องยกความดีความชอบให้เพื่อนฝ้ายที่แพลนทริปได้สุโค่ย ระเบิด GPS เป็นจุดๆ ทำให้เราตามเก็บ RC ได้แบบหลง (น้อย) ที่สุด นอกจากนั้น เธอยังเป็น GPS ที่มีเลือดเนื้อและวิญญาณ สามารถบอกทางได้อย่างแม่นมั่นยังความอบอุ่นใจมาให้เพื่อนเป็นที่สุด แกะหลายหมื่นหลายแสนที่เราขับผ่าน วัว กวาง แกะ วัว กวาง วัวขนยาว แกะหน้าดำ ลามะ วัวสมเสร็จ แกะ แกะ แกะ ซากกระต่ายป่าติดหนึบไส้ทะลักตามถนน ตัววอมแบต แกะ วัว แกะ แกะ วัว เป็นเช่นนี้ไปตลอดทาง ความตื่นตาตื่นใจในสภาพภูมิประเทศที่กล้องไม่ว่าจะดีแค่ไหนก็เก็บภาพได้ไม่หมด อากาศที่ปราศจากมลภาวะ หายใจได้โล่งอย่างที่ไม่ต้องใช้ยาพ่น (ปกติต้องใช้เพราะแพ้อากาศและมีปัญหาเรื่องโพรงจมูก) อาหาร organic ผลไม้หลากหลายราคาถูก การใส่ใจกับอาหารที่ผลิตแบบ Gluten-free และ no MSG อยู่อย่างพอเพียงด้วยการใช้รถเก่ากึ๊กและไม่ยี่หระต่อการอวดรถใหม่กับใคร บริโภคการเดินป่า ขี่จักรยาน แทนการเดินห้าง ภูเขา หน้าผาที่กดคุณให้รู้สึกว่าตัวเอง “เล็ก” ขนาดไหนในโลกใบนี้ โรงหนังเล็กขนาดจุคนได้ไม่เกิน 50 คน สิ่งเหล่านี้แม้จะขัดต่อความรู้สึกของคนเสพติดการสื่อสารจากซีกโลกบน แต่นิวซีแลนด์ยังหมุนช้าและไม่มีทีท่าว่าจะต้องหมุนตามใคร

พอทริปเริ่มดำเนินมาได้เกินครึ่งทาง เราก็เริ่มเตือนกันถึงวันเวลาที่เหลือ กิจเริ่มคร่ำครวญ ชูยังทำหน้าที่เหรัญญิกเหรียญทองของทริปต่อไป ทุกคนอยากให้เวลาเดินช้าลงแต่มันก็ไม่เคยเกิดขึ้น 10 วันของการได้กลับมาใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อนเก่าอีกครั้ง ทำให้ความรู้สึกของความสุข มิตรภาพในวันเก่า ภาพต่างๆ เมื่อกว่าสองทศวรรษค่อยๆ ย้อนกลับมา กลิ่นของความผูกพัน ความเป็นเพื่อนอาจจะจางไปบ้างในวันที่เรามีภาระรับผิดชอบมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่เคยไปไหน เพียงแค่ซ่อนตัวอยู่ในมุมของความทรงจำ รอวันที่จะย้อนกลับมาสะกิดความรู้สึกเราเสมอๆ ทริปนี้แม้จะไม่หวือหวาในความรู้สึก หากแต่อิ่มไปด้วยความอบอุ่นในมิตรภาพที่เรามอบให้กันตลอดระยะเวลาแห่งการเดินทาง

(ติดตามชมภาพสวยๆ จากการเดินทางครั้งนี้ได้ที่นี่)