โดย ช. คนไม่หวังอะไร

23 พฤศจิกายน 2016

  1. เมื่อพูดถึงหัวข้อนี้ เราควรรู้สภาพสังคมไทยในยุคสมัยนั้นก่อน เค้าโครงอำนาจทางการปกครองนั้น เป็นที่ทราบกันว่ามีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี นับตั้งแต่สิ้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ถือได้ว่าเป็นสี่เสาเทเวศร์คนแรก (เพราะบ้านท่านก็คือบ้านที่ท่านประธานองคมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ พักอาศัยจนถึงปัจจุบัน) สังคมไทยในยุคนั้น สาธารณูปโภคต่างๆ ไม่สะดวกมากนัก การคมนาคมทางเครื่องบินมีน้อย เส้นทางรถโดยสารระหว่างจังหวัดก็มีไม่มาก ทางรถไฟเป็นเส้นทางหลักสำหรับการเดินทาง ระบบการสื่อสารโทรศัพท์ในแต่ละจังหวัดมีไม่กี่เครื่อง หากจะติดต่อกันก็มีเพียงโทรเลข สื่อสารมวลชน สถานีโทรทัศน์มีเพียงไม่กี่ช่อง และระบบการส่งสัญญาณก็ไม่ครอบคลุม แต่ละภาคจึงมีสถานีโทรทัศน์และมีเครือข่ายคลื่นที่ไม่ค่อยชัด
  2. แน่นอนว่าสถานีวิทยุย่อมอยู่ในความรับผิดชอบของกลไกรัฐ การจัดรายการต่างๆ ย่อมเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายที่กำหนด รวมทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ด้วย ซึ่งสื่อสิ่งพิมพ์ในยุคสมัยนั้นกว่าจะส่งถึงต่างจังหวัดและต่อเนื่องถึงระดับอำเภอก็ข้ามวัน เพราะต้องส่งทางรถไฟเท่านั้น ส่วนในระดับตำบลหมู่บ้านหาอ่านไม่ได้เลย สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ มิใช่จะมีต้นทุนส่งเองได้มากนัก มีเพียงรายวันไม่กี่ฉบับเท่านั้นที่มีรถตู้วิ่งส่งเป็นเส้นทางภูมิภาค ส่วนนิตยสารหรืออื่นๆ ต้องใช้เอเยนต์ที่เป็นตัวแทนการส่งไปต่างจังหวัด
  3. สถานศึกษาในระดับปริญญาตรีจากเดิมที่มี จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ ขอนแก่น เชียงใหม่ สงขลานครินทร์ ก็มีเพิ่มเพียงไม่มาก เศรษฐกิจในระดับภูมิภาคจะมีตัวแทนจำหน่ายที่รับจากส่วนกลางไปจำหน่ายเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ซึ่งร้านค้าในตัวจังหวัดจะมีไม่มาก ส่วนระดับอำเภอก็มีเพียงไม่กี่แห่ง ประชาชนในภูมิภาคจะมีรายได้จากภาคการเกษตร ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปอสำหรับโรงงานทอกระสอบ อ้อย และประมง โดยมีพ่อค้าคนกลาง
  4. อำนาจกับเศรษฐกิจและสังคมในยุคสมัย เราต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า ช่วงสงครามเกาหลี พ.ศ. 2493-2495  และสงครามเวียตนาม พ.ศ. 2498-2518 เป็นช่วงเสมือนหนึ่งว่าเอกราชนั้นมี แต่มีอำนาจที่มากกว่าของชาติมหาอำนาจ เป็นสิทธิสภาพนอกอาณาเขตจริงๆ ประวัติศาสตร์หลายด้านที่ไม่เปิดเผยล้วนแล้วแต่เป็นด้านมืดที่เปิดไม่ได้

(ติดตามรายละเอียดเบื้องลึกได้ในตอนต่อๆ ไป)

 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่:

www.14tula.comwww.sarakadee.com