โดย ช. คนไม่หวังอะไร

1 ธันวาคม 2016

1.ร่องรอยอำนาจช่วงเวลานั้น หากจะพูดโดยไม่เกรงใจกันก็คงได้แก่ ควันหลงอำนาจจากสหรัฐอเมริกา สังคมโลกเปลี่ยนแปลงไปมากหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรมาจัดระเบียบโลก ประเทศไทยก็ตกอยู่ในสภาวะนั้น จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์-จอมพลถนอม กิตติขจร-จอมพลประภาส จารุเสถียร-พลอากาศเอกทวี จุลละทรัพย์-พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์-พลเอกกฤษณ์ สีวะรา ล้วนสัมพันธ์กัน เพียงแต่เกิดความขัดแย้งในห้วงอำนาจของถนอม-ประภาสที่ครองอำนาจปกครองถึง 10 ปีและยังเป็นช่วงที่สงครามเย็นร้อนระอุ ในช่วงหลังสิ้นสุดสงครามเกาหลีซึ่งต่อด้วยสงครามเวียตนาม สังคมไทยตกอยู่ในการปกครองของทหาร สหรัฐฯ ใช้ลาวเป็นสมรภูมิแรก เปิดฉากสงครามระหว่างคอมมิวนิสต์กับประชาธิปไตย ลาวเป็นสมรภูมิการรบที่ถูกทิ้งระเบิดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ไทยเองก็ส่งอาสาสมัครทหารพรานเข้าร่วมสงครามลับนี้กว่า 20,000 คน

2.สหรัฐฯ ใช้พื้นที่ในไทยหลายภูมิภาคเป็นฐานปฎิบัติการทางทหาร ซึ่งสงครามเวียตนามนี้กลายเป็นสมรภูมิสงครามแรกที่สหรัฐฯพ่ายแพ้ และเป็นต้นทางการลำเลียงยาเสพติดสู่สหรัฐฯ ภายในประเทศไทยก็ได้รับผลพวงหลายด้านเช่นกัน เศรษฐกิจสังคมเมื่ออำนาจปกครองเป็นเช่นนั้น ย่อมก่อให้เกิดธุรกิจการเมืองที่โยงใยและขัดแย้งกันในหมู่ผู้ปกครอง นับตั้งแต่เครือข่ายของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์กับเครือข่ายกลุ่มราชครูของจอมพลผิน ชุณหะวัณและพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ แม้สิบปีที่ถนอม-ประภาสมีอำนาจปกครอง แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบใดๆ มากนักจากรากฐานที่จอมพลสฤษดิ์วางไว้

3.สาระสำคัญที่สังคมมักจะไม่ค่อยกล่าวถึงก็คือ เหตุที่ถนอม-ประภาส-ณรงค์ (กิตติขจร, พันเอก) พ้นจากตำแหน่งเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 จุดพลิกผันจริงๆ คืออะไร คณะผู้ปกครองขัดแย้งกันจริงหรือไม่ และเกิดอะไรขึ้น พลเอกกฤษณ์ เป็นผู้บัญชาการทหารบกในห้วงเวลานั้น หลังเหตุเกิดแล้ว พลตรีวิฑูรย์ ยะสวัสดิ์ ผู้นำอาสาสมัครสู้รบที่ลาว เจ้าของฉายา เทพ 333 ขึ้นเป็นพลตำรวจโท ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจปี พ.ศ. 2516 พอปี พ.ศ. 2518 โยกกลับมาเป็นพลโทในตำแหน่งผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก และปีพ.ศ. 2519 ขึ้นเป็นรองเสนาธิการทหารบก จ่อขึ้น 5 เสือ ทบ. ด้วยอายุเพียง 51 ปี แต่เพียงไม่กี่วันก็ถูกโยกไปประจำกองบัญชาการทหารสูงสุด และในวันเดียวกันก็ถูกโยกไปประจำสถานฑูตไทย ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น คล้ายกับที่พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณถูกโยกไปประเทศอาร์เจนตินาในยุคที่จอมพลสฤษดิ์ปฎิวัติ แตกต่างกันเพียงพลตรีชาติชายได้กลับมาและเปล่งประกายในช่วงรัฐบาลหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช แต่สำหรับพลโทวิฑูรย์ เป็นเสมือนการปิดตำนานระหว่างร่องรอยอันบาดหมางระหว่างสองเครือข่าย ถนอม-ประภาส-ณรงค์ กับกฤษณ์ และปิดเหตุ 6 ตุลา 19 และหลังจากนั้นศูนย์กลางอำนาจทางทหารระดับสูงลดลง และนำไปสู่การสยายปีกของทหารยังเติร์ก จปร.7 ในระดับกองพัน

4.เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ในยุคที่ประชาธิปไตยมีเพียงเสี้ยวหนึ่งในช่วงอำนาจทหารปกครอง เกิดกลุ่มธุรกิจมากมาย ไม่ว่าจะในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีธนาคารหลายแห่ง เช่น ธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย ศรีนคร ศรีอยุธยา นครหลวงไทย สหธนาคาร มหานคร เจ้าของล้วนมีสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจและเครือข่าย เจ้าของธุรกิจธนาคารจากเดิมประกอบธุรกิจอื่นๆ มาก่อนทั้ง โสภณพนิช ล่ำซำ เตชะไพบูลย์ รัตนรักษ์ เมื่อมีธนาคารย่อมมีธุรกิจประกันภัยกับอื่น ๆ ตามมาอีกมาก และยังมีชาวจีนอีกจำนวนหนึ่งที่ได้เข้ามาพึ่งพระบารมีใต้ร่มพระบรมโพธิสมภารและเจริญก้าวหน้าตามความสามารถ ดำเนินธุรกิจที่ริเริ่มโดยชาวตะวันตกเกี่ยวกับเหมืองแร่และแหล่งพลังงาน นอกจากนี้ ชาวจีนยังเข้ามาดำเนินการค้าทอง ค้าข้าว ยางพารา สิ่งทอ เหล้า แป้งมัน ขนส่งทางเรือ และสินค้าอุปโภคบริโภค

5.การเลือกตั้งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ในปีพ.ศ. 2518 หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคกิจสังคมซึ่งมี สส. แค่ 18 คน จากจำนวน สส. ทั้งหมด 269 คน และได้นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ หัวหน้าพรรคสังคมชาตินิยมที่มี สส. 16 คน เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร มีพรรคการเมืองจำนวนมากที่สมาชิกได้รับเลือกตั้ง สาระสำคัญคือ คึกฤทธิ์ได้ดำเนินนโยบายเงินผัน สร้างงานสร้างเงินสู่ชนบท และให้สวัสดิการโดยอ้อม เรียนฟรี รักษาฟรี รถเมล์ฟรี เปิดสัมพันธ์กับประเทศจีนและกลุ่มประเทศสังคมนิยม ขณะที่ประชาชนก็เริ่มต่อต้านทหารสหรัฐฯ ที่ประจำในไทยเกือบแสนคนและฐานทัพอีก 12 แห่ง เครื่องบินรบกว่า 500 ลำ กลุ่มสหภาพแรงงานต่างๆ ก็เคลื่อนไหวเรียกร้องเสรีภาพและหยุดงาน ในขณะที่พรรคการเมืองต่างๆ เริ่มเติบโตทางธุรกิจหลายแขนง ทั้งกลุ่มราชครู ซึ่งพลตรีประมาณ อดิเรกสารเป็นรองนายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และกลุ่มการเมืองที่เติบโตจากสัมปทาน เช่น นายทวิช กลิ่นประทุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายบุญชู โรจนเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากธนาคารกรุงเทพ

6.การปกครองโดยพรรคการเมืองหลังอำนาจทางทหารที่ปกครองมานาน มีเสถียรภาพน้อย แม้นักการเมืองในยุคนั้นจะมีอุดมคติกว่ายุคปัจจุบัน เพราะสังคมยังอยู่ในยุคสงครามเย็น แม้สงครามเวียตนามจะสิ้นสุดลง แต่ประเทศไทยก็ยังอยู่ในช่วงสงครามมวลชนภายในระหว่างรัฐบาลกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) สมรภูมิการสู้รบมีทุกภูมิภาค ความคิดเห็นที่แตกต่างในเมืองมีไม่น้อย กลไกรัฐเป็นปฎิปักษ์กับประชาชน รัฐบาลจึงมีการจัดตั้งไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.) ลูกเสือชาวบ้าน อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.รด.) ส่วนในเมืองก็มีการจัดตั้งจากผู้หวังดีคือ กลุ่มนวพลและกลุ่มกระทิงแดงที่มีสมาชิกรวมกันไม่น้อยกว่า 70,000 คน เกิดเป็นสมรภูมิรบย่อยๆ หลายจุดภายในประเทศ ประกอบกับความกลัวภัยจากคอมมิวนิสต์ของผู้ปกครองหลังจากที่สหรัฐฯ เกิดอาการปอดแหกจากทฤษฎีโดมิโน ทำให้นำมาสู่เหตุการณ์นองเลือดเป็นประวัติศาสตร์ 6 ตุลา 19 ในช่วงยุครัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช

7.การศึกษาและสื่อสารมวลชน นอกจากมหาวิทยาลัยของรัฐที่เคยกล่าวไปแล้ว ในปีพ.ศ. 2514 มีการตั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง และในปีพ.ศ. 2521 มีการตั้งมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช การผลิตบุคลากรเพื่อประโยชน์ทางสังคมในยุคสมัยนั้นยังมีไม่มาก และยังไม่เอื้ออำนวยต่อการเดินทางรวมถึงที่พักอาศัยเพื่อการศึกษาสำหรับชาวชนบทที่มีรายได้ไม่มากนัก เพราะสังคมชนบทมีรายได้จากภาคเกษตรกรรมเป็นหลัก มีอุตสาหกรรมน้อยมาก มหาวิทยาลัยในแต่ละภูมิภาคมีเพียงแห่งเดียว การศึกษาของไทยจึงไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ สื่อสารมวลชนช่วงหลัง 14 ตุลา 16 – 6 ตุลา 19 ก็มี ประชาธิปไตยรายวัน เดอะเนชั่น ประชาชาติ จตุรัส ผู้จัดการ มาตุภูมิ อาทิตย์ แต่ก็มีข้อจำกัดทางกฎหมาย นักสื่อสารมวลชนยังขาดความมั่นคงในวิชาชีพ ความสำคัญทั้งสองด้านทั้งการศึกษาและสื่อสารมวลชน จึงเป็นรองการสื่อสารของรัฐที่มีสถานีโทรทัศน์ในมือทุกช่อง ทั้ง 3, 5, 7, 9 และยังมีสถานีวิทยุที่ก่อให้เกิดพลังทางสังคมได้มากกว่า เช่น สถานีวิทยุยานเกราะ เป็นต้น ความผันผวนทางการปกครองและสังคมมีสูง จึงนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ต.ค. 19 และตามด้วยการรัฐประหารปีพ.ศ. 2519 ซึ่งนำโดยพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ผู้บัญชาการทหารเรือและผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้น ทำให้เกิดรัฐบาลที่มีนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี ตามมาด้วยการเกิดกบฏที่นำโดยพลเอกฉลาด หิรัญศิริ และการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งของพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ในปีพ.ศ. 2520 ที่ทำให้ได้พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี

(โปรดติดตามตอนต่อไป สังคมประชาธิปไตยครึ่งใบในยุคพลเอกเกรียงศักดิ์-พลเอกเปรม พ.ศ. 2520-2530)