ภาคแรก หอยผลุบ อินทรีย์ผงาด ยังเติร์กเกิด

โดย ช. คนไม่หวังอะไร

7 ธันวาคม 2559

1.เมื่อเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รัฐบาลพลเรือนที่นำโดยหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ตอนเย็นวันที่ 6 ตุลาคม 2519 คณะนายทหารภายใต้การนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ จึงอ้างความจำเป็นอย่างยิ่งในการยึดอำนาจ มีการออกคำสั่งควบคุมสื่อไม่ให้เผยแพร่เนื้อหาและภาพในเหตุการณ์สังหารหมู่ และได้ตั้งนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีคณะรัฐมนตรีเพียง 17 คน โดยนายธานินทร์ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า รัฐบาลนี้เปรียบเสมือนหอยที่อยู่ในเปลือก มีนัยยะว่าเป็นรัฐบาลที่มีคณะทหารคอยให้การคุ้มกัน รัฐบาลของนายธานินทร์จัดทำแผนพัฒนาประชาธิปไตย 12 ปี และดำเนินนโยบายขวาสุดโต่ง มีการกวาดจับผู้ต้องสงสัยฝ่ายซ้ายหลายพันคน ส่งผลให้นิสิตนักศึกษาหนีเข้าป่าเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนับพันคน มีการออกคำสั่งให้มหาวิทยาลัยยกเลิกการเรียนการสอนเรื่องการเมือง ส่งผลให้เกิดการปะทะกันระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและเจ้าหน้าที่รัฐบาลหลายครั้ง สังคมบาดหมางกันแทบทุกส่วน คณะทหารซึ่งนำโดยพลเรือเอกสงัด จึงทำการยึดอำนาจอีกครั้ง แต่ขณะที่ทำการนั้น นายทหารบกกลุ่มหนึ่งก็ได้ปฏิบัติการซ้อนเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 เป็นที่สังเกตได้ว่า การทำรัฐประหาร 2 ครั้งนี้ มิได้ดำเนินการโดยผู้บัญชาการทหารบก แต่เป็นการนำโดยผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำให้เห็นถึงศูนย์กลางอำนาจทางทหารที่เปลี่ยนไป

หลังการรัฐประหาร 20 ตุลาคม 2520 พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หลังจากรับตำแหน่งเพียง 20 วัน ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 จากอดีตผู้นำหน่วยทหารไทยในสมรภูมิเกาหลีรุ่นแรก ซึ่งต่อมามีการแปรสภาพเป็นกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ รัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตยครึ่งใบประกาศใช้เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2521 กำหนดให้ข้าราชการประจำเป็นรัฐมนตรีและดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ และในบทเฉพาะกาล ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้งเหนือกว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีกำหนด 10 ปี โดยสมาชิกวุฒิสภานั้นส่วนใหญ่มาจากนายทหารคุมกำลัง โดยเฉพาะนายทหารกลุ่มยังเติร์ก (นายทหารที่จบโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ รุ่นที่ 7 หรือ จปร.7)  มีพระราชบัญญัติการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2522 ซึ่งกำหนดการจำกัดสิทธิของผู้ที่ใช้สิทธิเลือกตั้ง เช่น ต้องจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และการไปใช้สิทธิ์นั้นต้องลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ก่อน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2522 พรรคกิจสังคม ซึ่งนำโดยหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชได้รับเลือกตั้งสูงสุด 88 ที่นั่ง พรรคชาติไทยได้ 42 ที่นั่ง พรรคประชาธิปัตย์ได้ 35 ที่นั่ง (ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทยได้รับผลพวงจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยในการเลือกตั้งปี 2519 นั้น พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือก 114 ที่นั่ง พรรคชาติไทย 56 ที่นั่ง) พรรคสยามประชาธิปไตยซึ่งนำโดยอดีตนายทหารคนสนิทของพลเอกกฤษณ์ สีวะรา พันเอกพล เริงประเสริฐวิทย์ ได้ 31 ที่นั่งและพรรคประชากรไทยโดยนายสมัคร สุนทรเวช ได้ 32 ที่นั่ง โดยสามารถกวาดที่นั่งในกรุงเทพฯ ถึง 29 ที่นั่ง จากจำนวนสส. ในกรุงเทพฯ ทั้งหมด 32 ที่นั่ง จากการเลือกตั้ง ไม่มีพรรคใดสามารถรวบรวมเสียงได้ถึงครึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 301 ที่นั่ง พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 โดยมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบกเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

2.แม้สงครามเวียดนามจะยุติลงในปีพ.ศ. 2518 โดยการพ่ายแพ้ของสหรัฐอเมริกา แต่เกิดผลพวงตามมาไม่น้อย ชาวเวียดนามนับล้านคนอพยพหนีจากเวียดนามใต้ ล่องเรือตามท้องทะเลมาสู่ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะไทย สำหรับลาว เมื่อสหรัฐฯ พ่ายแพ้ที่เวียดนาม คนลาวก็อพยพมาไทยกว่า 3 แสนคน ซึ่งรวมทั้งชาวม้งที่สหรัฐอเมริกาได้หนุนหลังในการปะทะกับเวียดกงและพรรคคอมมิวนิสต์ลาว ชาวเขมรนับแสนคนก็อพยพภายหลังเขมรแดงยึดกรุงพนมเปญได้ ผู้อพยพเหล่านี้มาอาศัยอยู่ตามแนวเขตชายแดนและศูนย์อพยพที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) จัดตั้งขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้อพยพสามารถออกไปตั้งถิ่นฐานในประเทศที่ 3 เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส แคนาดา หรือออสเตรเลียได้ ควันหลงจากการปะทะกันระหว่างค่ายประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ในสมรภูมิเอเชีย แม้ไทยอาจจะเป็นฐานทัพของสหรัฐฯ แต่ไทยก็มิใช่คู่อริกับจีนและโซเวียต ซึ่งพลเอกเกรียงศักดิ์ก็ได้เดินทางไปทั้ง 2 ประเทศ รวมถึงมีความสัมพันธ์ทางการค้าและการทูต ในช่วงที่สหรัฐอเมริกาใช้ไทยเป็นฐานปฏิบัติการนั้น ได้สร้างถนน และทำการค้ากับไทยรวมทั้งประเทศในยุโรปและญี่ปุ่น ทำให้ไทยพัฒนามากกว่าเพื่อนบ้าน ช่วงศูนย์อำนาจทางทหารเสื่อมลงนั้น นายทหารระดับกองพันซึ่งอยู่เบื้องหลังพลเอกเกรียงศักดิ์ได้เพาะบ่มฐานกำลังให้ตัวเองมากขึ้น ทั้งในคณะรัฐมนตรีและในรัฐสภารวมทั้งกองทัพ โดยที่นายทหารเหล่านี้ต่างผ่านศึกสงครามกันมา ต่างมีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมจากเดิมให้ก้าวหน้าขึ้น มีนักวิชาการและคนรุ่นใหม่เข้าร่วมกับแนวความคิดนั้นจำนวนมากในเวลาต่อมา

3.เศรษฐกิจ-สังคมในช่วงนั้น ประเทศไทยยังไม่พัฒนาเท่าที่ควร เกือบทุกด้านยังมีการผูกขาดโดยไม่มีการแข่งขัน โรงงานยาสูบหรือน้ำมันมีตัวแทนจำหน่ายเพียงจังหวัดละ 1-2 ราย การจัดการน้ำมันถูกควบคุมโดยทหาร และมีการจัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งต่อมาพลเอกเกรียงศักดิ์กำหนดให้มีพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยขึ้น ปั๊มน้ำมันที่ใช้ตราสามทหารจึงค่อยๆ หายไป และต่อมารัฐบาลขึ้นราคาน้ำมัน เป็นเหตุให้ถูกญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ และถูกกดดันจากทหารยังเติร์ก โดยหากไม่ลาออกจะถูกลงมติไม่ไว้วางใจ จนในที่สุด พลเอกเกรียงศักดิ์จึงประกาศลาออกกลางสภา

สังคมกรุงเทพมีเพียงห้างสรรพสินค้าไทยไดมารู ซึ่งนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น นับเป็นประเด็นที่นิสิตนักศึกษาใช้เป็นจุดต่อต้านสินค้าจากต่างประเทศ ก่อนจะขยายตัวเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยจนเกิดเหตุ 14 ตุลา 2516 ที่ตั้งไทยไดมารูเดิมนั้นคือบริเวณเซ็นทรัลเวิลด์ในปัจจุบัน โดยต่อมาได้ย้ายข้ามมาอีกฝั่งด้านราชดำริอาเขต ทางฝั่งสยามสแควร์ มีโรงหนังสกาลา ลิโด้ สยาม และฝั่งตรงข้ามเป็นโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์การค้าสยามพารากอน ใกล้เคียงกับศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ หลังจากนั้นเศรษฐกิจเริ่มเจริญเติบโต มีร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด มีการพัฒนาธุรกิจศูนย์การค้าให้ใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งได้รับอนุญาตจากการรถไฟในยุครัฐบาลเกรียงศักดิ์ ให้สร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่และโรงแรมในบริเวณห้าแยกลาดพร้าว ซึ่งนับได้ว่าเป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดของไทยและเป็นจุดเริ่มต้นที่กลุ่มเซ็นทรัลสามารถขยายเครือข่ายไปสู่ธุรกิจด้านอื่นๆ อีกจำนวนมาก