โดย ช. คนสัญจร

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ ได้กำหนดในแผนปี พ.ศ. 2560-2564 จะทำให้ประชากร 40% (27 ล้านคน) ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยในปัจจุบัน 5,344 บาทต่อคนต่อเดือน เพิ่มขึ้นอีก 2,411 บาทต่อเดือน เป็น 7,755 บาทต่อคนต่อเดือน  อำนาจหน้าที่ของสภาพัฒน์ฯ มีหน้าที่เสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรี และประสานงานกับส่วนราชการของรัฐและรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามแผนที่กำหนด ประเด็นสำคัญคงอยู่ที่ความเป็นจริง ในอนาคตอีก 5 – 10 ปี ข้างหน้า เศรษฐกิจจะเปลี่ยนแปลงมาก แล้วคนในสังคมเราจะไล่ทันกับการเปลี่ยนแปลงนั้นได้แค่ไหน หรือเราจะยิ่งห่างกันมากขึ้นในแง่ของรายได้ของประชากร

เมื่อดูในรายละเอียดของแผนงานที่คณะรัฐมนตรีและสภาพัฒน์ฯ เห็นชอบและเริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว มีหลายโครงการที่จะต้องร่วมกับภาคเอกชนในเงื่อนไขที่เอื้อต่อการลงทุน โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก อันเป็นการต่อยอดจากโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด เป็นโครงการซูเปอร์อีสเทิร์นซีบอร์ด เน้นการลงทุนใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งรัฐจะต้องใช้เงินลงทุน 3 แสนล้านบาท และเอกชนลงทุนมากกว่า 1.9 ล้านล้านบาท โดยจะดำเนินการใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เชื่อมการดำเนินการกับเศรษฐกิจภาคตะวันตก และทวายกับฝั่งทะเลกัมพูชา และจีน แบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรม เขตพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเขตพัฒนาเมือง เชื่อมการคมนาคมทางถนน ขยายมอเตอร์เวย์ รางรถไฟทางคู่ พัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด และทางอากาศด้วยการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา พร้อมทั้งพัฒนาพื้นที่อู่ตะเภาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมการบิน และศูนย์ซ่อมอากาศยาน ภาคตะวันออกจะกลายเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้า เชื่อมระหว่างฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกัน

โครงการดังกล่าวส่งผลต่อธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพราะพื้นที่เหล่านั้นเป็นแหล่งงาน แหล่งอาศัย แหล่งท่องเที่ยว ธุรกิจค้าปลีกกับพื้นที่ค้าปลีกจะเพิ่มมากขึ้น สำหรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น จะเป็นการพัฒนาหรือต่อยอดการใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น ประกอบด้วย 1. อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร 2. เทคโนโลยีชีวภาพ 3. ท่องเที่ยวไฮเอนด์และเชิงสุขภาพ 4. อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและยานยนต์ 5. อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับดิจิทัล 6. การบินและโลจิสติกส์ 7. หุ่นยนต์เพื่อการผลิต  8. เชื้อเพลิงชีวภาพ 9. เคมีชีวภาพ และ 10. อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมที่ต้องได้รับการปรับปรุง และนำเทคโนโลยีกับความคิดสร้างสรรค์มาใช้ เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมแฟชั่น (อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องหนัง อัญมณี และเครื่องประดับ)

ธุรกิจดั้งเดิมเริ่มประยุกต์ไอที และนำนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิตและบริหารจัดการ ภาคเอกชนโดยเฉพาะธนาคาร สถาบันการเงิน กลุ่มธุรกิจค้าปลีก มีแผนยกระดับด้านนี้ด้วยเงินลงทุนมหาศาล เกิดธุรกิจใหม่อย่างน้อย 3 ประเภท คือ 1. ซื้อสินค้าจากผู้บริการรายเดียว 2. ซื้อสินค้าจากผู้บริการหลายรายภายใต้ระบบจำหน่ายเดียว 3. ซื้อสินค้าจากผู้บริการหลายรายไม่จำกัดสถานที่ นอกจากนี้ คณะทำงานด้านพัฒนา คลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคตเสนอให้มีเขตเศรษฐกิจชีวภาพ และนวัตกรรมครบวงจร มูลค่า 400,000 ล้านบาท ในพื้นที่ขอนแก่นและนครสวรรค์ โดยนำอ้อยกับมันสำปะหลังมาเป็นวัตถุดิบ ซึ่งกำลังขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มูลค่าโครงการเทียบเท่าโครงการระเบียงเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาโรงงานตั้งอยู่นอกเขตเศรษฐกิจ ซึ่งอาจจะใช้วิธีประกาศครอบคลุมพื้นที่อีกหลายจังหวัด เช่น พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ซึ่งโครงการนี้ภาคเกษตรจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น และเกษตรกรจะได้รับประโยชน์โดยตรง

จากโครงการต่างๆ นั้น นับได้ว่าโครงสร้างเศรษฐกิจไทยขยับเข้าสู่ยุคดิจิทัล แต่ประชากรของประเทศจะได้รับประโยชน์อย่างไรในเค้าโครงทั้งหมดของรัฐบาลในนามของรัฐ ซึ่งเป็นผู้กำหนดกรอบจากแรงผลักดันของกระแสโลก แต่ภาคเอกชนเป็นผู้ดำเนินการร่วมกับข้าราชการ แม้จะใช้วาทกรรมที่ดูดี เช่น โครงการประชารัฐที่ให้ชุมชน NGO และธุรกิจจับมือกันสร้างสัมมาอาชีพเต็มพื้นที่ โดยมีคณะกรรมการภาครัฐและเอกชน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 12 ชุด แต่ภาคเอกชนเหล่านั้น คือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เครือซีเมนต์ไทย และกลุ่มไทยเบฟ  ซึ่งเข้าไปมีบทบาทเกือบทุกคณะ ต่อไปไม่แน่ใจว่าจะลงเอยด้วยคอร์รัปชันเชิงนโยบายอีกหรือไม่ เพราะในรายละเอียดลึกๆ ในโครงการใหญ่ๆ นั้น มีแนวโน้มที่จะปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบ เพื่อเอื้อในการลงทุนด้วยการให้ต่างชาติถือหุ้นในบริษัทที่เข้ามาลงทุนได้มากกว่า 50% พร้อมกับมีระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินอู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง โดยมีจุดเชื่อมที่ลาดกระบัง และใช้พื้นที่อู่ตะเภา เป็นศูนย์การขนส่งทางอากาศเป็นพื้นที่ปลอดใบอนุญาต เพื่อแข่งขันกับฮ่องกงและสิงคโปร์ ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าโดยแท้ต่อไป คงต้องแก้กฎหมายศุลกากรที่เกี่ยวข้องและกฎหมายเขตพิเศษศุลกากร

ขณะเดียวกันคงไม่ง่ายในการลดความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้ เพราะช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ตัวเลขว่างงานมีถึง 440,000 คน  และในช่วงเดือนมีนาคม เมษายน เด็กที่จบหลักสูตรเก่าในระดับ ปวช. ปวส. ปริญญาตรี อีกกว่า 500,000 คนจะเข้าสู่ตลาดแรงงาน คนตกงานจะมีมากขึ้น แรงงานที่ออกจากภาคเกษตรมาทำงานในเมืองปรับตัวเข้าสู่ตลาดแรงงานที่เข้าสู่ยุคดิจิทัลได้ยาก ความฝันของแรงงานเหล่านั้น คือ มาเป็นวินมอเตอร์ไซค์ ค้าขายออนไลน์ ขณะที่อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุซึ่งจะมีมากขึ้น และสิ่งสำคัญเสมือนเป็นของคู่เมืองก็คือ ผู้นำหรือแกนนำผู้ปกครองก็จะยังอยู่ในสังคมที่มีความเชื่อ เวทมนตร์ โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์และโชคชะตา: สบายดีนะไทยแลนด์แดนในอนาคต

ที่มาภาพ: voicetv.co.th