ปัจจุบันดูเหมือนจะมีการแบ่งชัดเจนแล้ว ว่าราชาศัพท์ในการบอกอายุ มี 3 ระดับ

  1. พระมหากษัตริย์กับพระราชินี ใช้ว่า มีพระชนมพรรษา…พรรษา
  2. มกุฎราชกุมาร (รวมทั้งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี) ใช้ว่า มีพระชนมายุ…พรรษา
  3. สมเด็จเจ้าฟ้าลงมาถึงหม่อมเจ้า ใช้ว่า มีพระชันษา…ปี

กฎเกณฑ์นี้ยึดถือกันเคร่งครัดมาก ถึงขั้นที่ว่าใครใช้ “พระชนมายุ” กับพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินี เป็นการใช้ราชาศัพท์ผิด ต้องใช้ “พระชนมพรรษา” เท่านั้น แล้วก็เลยพานจะเอาคำ “พระชนมพรรษา” ไปใช้แทนคำว่า “อายุ” ในทุกๆ กรณีด้วย เช่น “มีพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน” แปลว่า มีอายุยืน ดังนี้เป็นต้น

ที่จริง “พระชนมพรรษา” ไม่ได้แปลตรงตัวว่า “อายุ” แต่แปลว่า “ปีแห่งพระชนม์” หรือ “จำนวนปีแห่งพระชนม์” เพราะ “พรรษา” แปลว่า ปี “พรรษา” นี้ก็คือคำเดียวกับ “วรรษ” เช่นในคำว่า ทศวรรษ (10 ปี) ศตวรรษ (100 ปี) แล้วยังแปลว่า “ฝน” หรือ “ฤดูฝน” ด้วย แบบที่เราเรียก “เข้าพรรษา – ออกพรรษา” ซึ่งหมายถึงช่วงระยะเวลา 3 เดือนในฤดูฝน ด้วยความที่ใน 1 ปีเรามีฤดูฝน 1 ครั้ง และฤดูฝนก็เป็นฤดูสำคัญเพราะเป็นช่วงเวลาที่เราได้ทำการเกษตร เราจึงใช้คำว่า “ฝน” ในความหมายว่า “ปี” เช่น “18 ฝน” หมายถึงฤดูฝน 18 ครั้ง ซึ่งก็เท่ากับ “18 ปี” นั่นเอง

การที่เราใช้คำว่า “ฝน” ในความหมายว่า “ปี” เลยทำให้มันกลายเป็นคำบอกอายุได้ด้วย อย่างที่เราพูดว่า “18 ฝน” คือผ่านฤดูฝนมาแล้ว 18 ครั้ง ก็หมายความว่า “อายุ 18 ปี” ดังนั้นคำว่า “ฝน” ที่เราใช้หมายถึง “ปี” เราต้องแปลอีกชั้นหนึ่งจึงจะหมายถึง “อายุ” เพียงแต่เราใช้กันจนชิน จนถ้าพูดว่า “18 ฝน” ก็จะแปลว่า “อายุ 18 ปี” ทันที

ราชาศัพท์ “พระชนมพรรษา” ก็เช่นเดียวกัน คือถ้าแปลตรงตัว ก็จะแปลว่า “ปีแห่งพระชนม์” ต้องเอา “ปีแห่งพระชนม์” มาแปลอีกรอบ จึงจะแปลว่า “อายุ” แต่เราก็ใช้กันจนชิน จนแปลคำนี้เป็น “อายุ” ทันที ลืมความหมายแบบตรงตัวไป

ประเด็นคือ ในเมื่อ “พระชนมพรรษา” ไม่ได้แปลตรงตัวว่า “อายุ” เราจึงไม่สามารถใช้คำนี้แทน “อายุ” ในทุกกรณีได้

กรณีที่ใช้ได้ เช่น “เฉลิมพระชนมพรรษา” คำว่า “เฉลิม” แปลว่า “เพิ่ม” จึงหมายถึง “เพิ่มจำนวนปีแห่งพระชนม์ให้มากขึ้น”

กรณีที่ไม่ควรใช้ เช่น “มีพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน” เพราะถ้าแปลตรงตัว จะแปลว่า “มีปีแห่งพระชนม์นานขึ้น” หมายความว่าปีหนึ่งมี 12 เดือน แต่เราอยากให้ปีแห่งพระชนม์แต่ละปียืดยาวออกไปเกินกว่า 12 เดือน ก็นับว่าเป็นคำอวยพรที่ประหลาดมาก

คราวนี้ ถ้าไม่ใช้ “พระชนมพรรษา” จะใช้คำว่าอะไร

คำที่ความหมายตรงตัวที่สุด ก็คือ “พระชนมายุ” เพราะมาจากคำว่า พระชนม + อายุ

ในเอกสารเก่า เวลากล่าวถึงอายุของเจ้านาย ใช้คำว่า “พระชนมายุ” ทั้งสิ้น ไม่ใช้ว่า “พระชนมพรรษา” เลย การใช้คำ “พระชนมพรรษา” ในการบอกอายุ เพิ่งมีขึ้นในสมัยหลัง เมื่อเราอยากใช้คำที่คิดว่าเป็นคำสูงๆ เพื่อถวายพระเกียรติ ทำให้ “พระชนมายุ” ถูกลดระดับกลายเป็นคำที่ต่ำกว่าไปโดยปริยาย

ดังนั้น การใช้ราชาศัพท์ในการบอกอายุพระมหากษัตริย์กับพระราชินี จึงสามารถใช้ว่า “มีพระชนมายุ…พรรษา” ได้ โบราณก็ใช้มาแบบนี้ หรือถ้าจะใช้ “มีพระชนมพรรษา…พรรษา” แบบสมัยใหม่ก็ไม่ผิด

แต่ถ้าจะถวายพระพรให้ทรงมีอายุยืนยาว ต้องใช้ “มีพระชนมายุยิ่งยืนนาน” เท่านั้น จะใช้ “มีพระชนมพรรษายิ่งยืนนาน” ไม่ได้ เพราะแปลตรงตัวแล้วความหมายผิดเพี้ยนไป

ส่วนคำ “พระชันษา” อ่านว่า พระ-ชัน-นะ-สา เป็นคำที่สร้างขึ้นโดยกร่อนจากคำว่า “พระชนมพรรษา” เพื่อใช้เป็นราชาศัพท์แปลว่า “อายุ” ซึ่งตามหลักต้องใช้กับเจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้าลงมาถึงหม่อมเจ้า

แต่จริงๆ แล้ว ในการใช้ราชาศัพท์ หลักการที่เป็นหลักใหญ่คลุมหลักทุกอย่างไว้ทั้งหมด ก็คือ “การใช้ให้เหมาะกับบุคคล” กฎเกณฑ์ต่างๆ เป็นเพียงแนวทางหรือข้อมูลพื้นฐานให้เรารู้ลำดับว่าคำไหนสูงกว่าหรือต่ำกว่า แต่เวลาใช้จริง ต้องปรับตามความเหมาะสมด้วย

เป็นต้นว่า ถ้าจะกล่าวถึงอายุเจ้านายชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า (คือพระราชโอรส-ธิดา ของพระมหากษัตริย์) หากทรงมีอายุมากแล้ว ก็ควรจะใช้ “มีพระชนมายุ…พรรษา” เพื่อถวายพระเกียรติในฐานะที่มีพระชนมายุสูง ไม่น่าจะใช้ “มีพระชันษา…ปี”

หรือถ้าจะกล่าวถึงอายุของสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งตามหลักต้องใช้ราชาศัพท์ระดับเดียวกับพระองค์เจ้า (เทียบได้กับพระราชนัดดา หรือหลานของพระมหากษัตริย์) ก็ควรจะใช้ “มีพระชนมายุ…พรรษา” เช่นเดียวกัน ไม่ควรใช้ “มีพระชันษา…ปี” เพราะท่านมีพระชนมายุสูงแล้ว

ที่จริงการใช้ราชาศัพท์ก็ไม่ต่างจากการใช้ภาษาสามัญ คือถ้ารู้จักใช้ให้เหมาะสมงดงามด้วยความเข้าใจที่แท้จริง เราก็เป็นนายของภาษา แต่ถ้ายึดหลักถือกฎเกณฑ์อย่างเถรตรงโดยปราศจากความเข้าใจ ภาษาก็เป็นนายเรา

อ้างอิง: ข้อมูลเกี่ยวกับราชาศัพท์คำว่า “พระชนมพรรษา” และ “พระชนมายุ” สรุปจากเอกสาร “หลักการใช้ราชาศัพท์ ของ นายภาวาส บุนนาค รองราชเลขาธิการ (พ.ศ. 2514 – 2537)”

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ
28 กรกฎาคม 2560