โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

13 ธันวาคม 2016

ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 083; ไปดู A Monster Calls รอบสื่อมาค่อนเดือนแล้ว แต่ไม่ได้เขียนเพราะยังช็อกอยู่ ตอนนี้พอจะทำใจได้แล้ว ได้ฤกษ์เขียนสักที

ที่มารูป: http://www.impawards.com

A Monster Calls เป็นหนังจากการร่วมทุนของสเปน อังกฤษ และอเมริกา มีต้นกำเนิดจากวรรณกรรมเยาวชนที่แต่งโดย แพทริก เนสส์ ถ้าดูที่หน้าปกหนังสือจะเห็นข้อความว่า “A Novel by PATRICK NESS” และ “From an original idea by SIOBHAN DOWD” เนื่องจากจริงๆ แล้วเจ้าของแนวคิดแรกเริ่มก็คือ เชียบอห์น ดาวด์ นักเขียนหญิงชาวอังกฤษเชื้อสายไอริช เธอแต่งเรื่องนี้เมื่อตอนที่ป่วยเป็นมะเร็ง โดยเขียนโครงเรื่อง คาแร็กเตอร์ตัวละคร และบทนำไว้แล้ว แต่เธอก็มาเสียชีวิตไปก่อนด้วยวัยเพียง 47 ปี บก.สำนักพิมพ์จึงขอให้เนสส์เขียนเรื่องนี้ต่อจากที่ดาวด์ได้ริเริ่มไว้ ซึ่งเขาก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยม หลังจากหนังสือได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2554 ก็กวาดรางวัลไปมากมาย ทั้งยังได้รับยกย่องให้เป็นวรรณกรรมเยาวชนยอดเยี่ยมประจำปีนั้น และเป็นหนึ่งในวรรณกรรมที่ดีที่สุดแห่งปี 2011 ด้วย

นอกจากหนัง A Monster Calls จะมีวรรณกรรมตั้งต้นที่แข็งแรงมากดังกล่าวแล้ว ทีมงานก็สายแข็งไม่แพ้กัน เริ่มจากผู้กำกับชาวสเปน ฆวน อันโตนิโอ บาโยนา (J. A. Bayona) ก็มีผลงานเลอค่าอย่าง The Orphanage (ชื่อไทย “สถานรับเลี้ยงผี“) และ The Impossible (ชื่อไทย “สึนามิภูเก็ต“) มาก่อน ด้านผู้เขียนบท ก็ได้แพทริก เนสส์ เจ้าของบทประพันธ์มาเขียนเอง นักแสดงหลักคือ เฟลิซิตี้ โจนส์ กับ ซิกอร์นีย์ วีฟเวอร์ ก็เป็นนักแสดงมือรางวัลทั้งคู่ แล้วยังได้ เลียม นีสัน นักแสดงชายยอดฝีมืออีกคนหนึ่งของวงการ มาพากย์เสียงและแสดงเป็นอสุรกาย (Monster) โดยใช้เทคนิคโมชันแคปเจอร์ด้วย ส่วนผู้รับบทนำ คือนักแสดงหนุ่มน้อยวัย 13 ชื่อ ลูว์อิส แม็คดูกัลล์ ก็ดูหน่วยก้านไม่ธรรมดาเลย เห็นจากเทรลเลอร์ว่าประชันบทบาทกับนักแสดงรุ่นแม่และรุ่นตายายได้ดีไม่ใช่น้อย

A Monster Calls เป็นเรื่องของเด็กชายชาวอังกฤษคนหนึ่ง อาศัยอยู่กับแม่ซึ่งป่วยเป็นมะเร็ง ส่วนพ่อไปมีครอบครัวใหม่ที่อเมริกา เขาไม่ถูกกับยายซึ่งเจ้าระเบียบสุดๆ แต่ก็จำใจต้องไปอยู่ในความดูแลของยาย เพราะพ่อไม่สามารถพาเขาไปอยู่ด้วยได้ เด็กชายไปโรงเรียนก็ไม่มีความสุข เพราะโดนเพื่อนแกล้งตลอด โดนซ้อมหน้าปูดตาเขียวทุกวัน และแล้วคืนหนึ่งเมื่อนาฬิกาบอกเวลาเที่ยงคืนเจ็ดนาที อสุรกายก็ปรากฏตัวขึ้นที่ห้องของเขา บอกว่าจะเล่านิทานให้ฟัง วันละเรื่อง รวม 3 เรื่อง เมื่อจบเรื่องที่ 3 เด็กชายจะต้องเล่าเรื่องของตัวเองให้มันฟัง

ดิฉันว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนังจิตวิทยาชั้นดีเรื่องหนึ่งทีเดียว มันแสดงให้เห็นว่า คนคนหนึ่งซึ่ง “โตเกินกว่าจะเป็นเด็ก แต่ก็ยังเล็กเกินกว่าจะเป็นผู้ใหญ่” นั้น จะรับมือกับความเจ็บปวดและความสูญเสียได้อย่างไรบ้าง เชียบอห์น ดาวด์ ก็คงจะแต่งเรื่องนี้เพื่อรับมือกับความตายที่กำลังจะมาถึงเช่นเดียวกัน พล็อตเรื่องจึงดาร์กได้สุดลิ่มทิ่มประตูขนาดนี้ มันดาร์กขนาดที่ว่า แม้แต่จินตนาการก็ยังเป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัว และ “นิทานซ้อนนิทาน” ก็นำเสนอความเป็นจริงอันโหดร้ายของชีวิตได้อย่างถึงแก่น แต่ที่โหดสัสรัสเซียขั้นสุดก็คือ หนังแสดงความซับซ้อนของมนุษย์ได้อย่างสมจริงมากกกกกก ตั้งแต่ความซับซ้อนพัฒนาขึ้นจากอะไร คนซับซ้อนมองโลกอย่างไร จัดการกับปัญหาอย่างไร ทุกข์ทรมานอย่างไร วนอยู่ในลูปอย่างไร และเผื่อแผ่ความทุกข์ให้แก่คนอื่นอย่างไร ทำเอาดิฉันขนพองสยองเกล้าไปแปดตลบ เพราะเท่าที่ได้สัมผัสความซับซ้อนของคนรอบข้างมา มันใช่มากๆ หนังเรื่องนี้นำเสนอพลังทำลายล้างของคนซับซ้อนได้อย่างเป็นรูปธรรม จนดิฉันผู้เป็นเหยื่อความซับซ้อนมาตลอดแทบหงายหลังตกเก้าอี้

สิ่งที่ทำให้ดิฉันยอมซูฮกให้แก่หนังเรื่องนี้คือ การที่หนังบอกว่า “ความซับซ้อน” เป็นปฏิปักษ์ของ “ความจริง” ที่ใดมีความซับซ้อน ที่นั้นจะไม่มีความจริงอยู่เลย แต่ชีวิตคนเราจะมโนตลอดเวลาไม่ได้ ดังนั้น ถ้าอยากเข้าใจความจริง ก็ต้องหัดยอมรับความจริง โดยเริ่มจากกล้าที่จะยอมรับความรู้สึกที่แท้จริงของตัวเองก่อน แล้วแสดงมันออกมาอย่างตรงไปตรงมา ประเด็นนี้ดิฉันว่าเด็ดมาก

แต่ “ท่าที” ของหนังนี่สิที่ทำให้ดิฉันลำบากใจ เพราะหนังเน้นการแสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมาด้วยการใช้ความรุนแรงมากไปหน่อย ซึ่งอาจจะทำให้คน (ทั้งคนที่ซับซ้อนและไม่ซับซ้อน) เข้าใจผิดได้ว่า การแสดงออกแบบนั้นคือการแก้ปัญหาความซับซ้อน ทั้งๆ ที่ความซับซ้อนสามารถแก้ได้ด้วยวิธีเดียวเท่านั้น คือการยอมรับความจริง

นี่คือเหตุผลแห่งการช็อกไป 20 วัน พร้อมทั้งรู้สึกว่า การดูหนังเรื่องนี้ต้องใช้วิจารณญาณอย่างสูง และไม่เหมาะกับเด็กด้วยประการทั้งปวง

สรุป: จ่าย 0 ได้กลับมา 50

หมายเหตุ:

1.หนังสือ A Monster Calls มีฉบับแปลไทยชื่อ “ผู้มาเยือนหลังเที่ยงคืน” แปลโดย วรรธนา วงษ์ฉัตร

2. มีเสียงก่นด่ากันมากว่า ชื่อหนังภาษาไทย คือ “มหัศจรรย์เรียกอสูร” เป็นการแปลชื่อภาษาอังกฤษที่ผิดไวยากรณ์โดยสิ้นเชิง แต่ดิฉันว่าที่ผิดกว่าคือคำว่า “มหัศจรรย์” นี่แหละ มันฟังดูลั้ลลามากไป และแม้คนตั้งชื่อภาษาไทยจะตีความว่าเด็กชายเป็นผู้เรียกอสูร (ซึ่งก็ไม่ผิด) แต่ดิฉันว่าชื่อภาษาอังกฤษตรงกับเรื่องมากกว่า เช่นเดียวกับชื่อหนังสือฉบับแปลไทย ซึ่งทั้งชวนให้ฉงนสนเท่ห์ และท้าทายการตีความ