ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 179; ดู BNK48: Girls Don’t Cry หนังสารคดีที่เปิดเผยหยาดน้ำตาของสาวๆ วงไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปที่โด่งดังที่สุดในเมืองไทยขณะนี้

เมื่อต้นปี คนไทยเกือบทั้งประเทศถูกเพลงเพลงหนึ่งยึดหัวหาดจนไม่ว่าจะไปไหนหรือทำอะไรก็หนีเพลงเพลงนี้ไม่พ้น เพลงที่ว่าก็คือ “คุกกี้เสี่ยงทาย” ของวง BNK48 (อ่านว่า บีเอ็นเคโฟร์ตี้เอ้ต) ซึ่งก็คือเพลง “Koisuru Fortune Cookie” ของวง AKB48 ในเวอร์ชันภาษาไทย ก่อนหน้านั้นดิฉันรู้จักแต่วงเอเคบีฯ ของญี่ปุ่น ซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อ 13 ปีที่แล้ว จนโดนเพลงคุกกี้เสี่ยงทายตีหัวเข้าบ้านแล้วนั่นแหละถึงได้รู้ว่า บีเอ็นเคฯ เป็น “วงน้องสาว” ของเอเคบีฯ และวงเอเคบีฯ ก็มีน้องสาวตั้ง 9 วง อยู่ในญี่ปุ่น 4 วง ประเทศอื่นๆ 5 วง รวมทั้งไทยด้วย

ที่เรียกว่า “วงน้องสาว” นี้ หมายความว่า จะต้องฟอร์มวงขึ้นมาด้วยวิธีการเดียวกัน ภายใต้คอนเส็ปต์เดียวกัน บริหารจัดการวงด้วยกฎเกณฑ์เดียวกัน เสื้อผ้าหน้าผมเป็นแบบเดียวกัน ร้องเพลงเดียวกัน เต้นท่าเดียวกัน ตั้งชื่อวงแบบเดียวกัน คือใช้อักษรย่อชื่อสถานที่ตามด้วยเลข 48 ตัวเลขนี้ไม่ได้หมายความว่าวงมีสมาชิก 48 คน แต่มาจากนามสกุลของคุณชิบะ โคทาโร่ ประธานบริษัท (ชิ = 4 บะ = 8) ส่วนอักษรย่อชื่อสถานที่ ก็คือที่ตั้งของโรงละครหรือที่จัดแสดงประจำของวง อย่าง AKB ย่อมาจากชื่อย่านอะกิฮะบะระ หรือเรียกสั้นๆ ว่า อะกิบะ (Akiba) ในกรุงโตเกียว ส่วน BNK ย่อมาจากบางกอก (Bangkok) หรือกรุงเทพฯ สรุปแล้ววงน้องสาวต้อง ‘มี’ และ ‘เป็น’ ทุกอย่างแบบเดียวกันกับวงพี่สาว ซึ่งถ้าใครได้ติดตามข่าวคราวเกี่ยวกับวงการเพลงญี่ปุ่นมาบ้างก็คงจะรู้ว่า มันจะมีความเคร่งครัดบางอย่างที่คนไทยสบายๆ อย่างเราอาจจะเข้าใจได้ยาก ยิ่งถ้าเป็นนักร้องไอดอล (หมายถึงนักร้องที่เน้นภาพลักษณ์น่ารักสดใส) ด้วยแล้ว เราอาจจะถึงขั้นเหวอ ที่จริงก็อย่าว่าแต่เราผู้เป็นคนดูคนฟังเลย แม้แต่ตัวศิลปินเองก็อาจจะเหวอพอกัน เมื่อผ่านการออดิชันเข้าไปแล้วได้พบว่า ทุกอย่างไม่ได้สวยหรูหรือโรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่เคยคิด

BNK48: Girls Don’t Cry เป็นหนังสารคดีว่าด้วยการเผชิญ ‘โลกแห่งความจริง’ ของ “เมมเบอร์” (สมาชิก) วงบีเอ็นเคฯ รุ่น 1 ทั้งหมด 30 คน จากจุดเริ่มต้นที่ก้าวเข้ามาด้วยแรงใจและไฟฝันอันเต็มเปี่ยม หนังเป็นผลงานการกำกับและตัดต่อของ เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้เขียนบทและกำกับหนังเรื่อง “ฟรีแลนซ์…ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ” เมื่อปี 2558 (อ่านได้ในเบี้ยน้อยหอยน้อย 046) และก่อนหน้านั้น 1 ปี มีผลงานหนังสารคดีเรื่องแรก คือ “เดอะมาสเตอร์” ซึ่งดำเนินเรื่องด้วยการเอาคนมานั่งสัมภาษณ์ต่อหน้ากล้อง ไม่มีแอ็กชันอะไรอื่น แต่สนุกมากกกกก หนัง BNK48: Girls Don’t Cry นี้ก็ใช้วิธีเดียวกัน คือให้น้องๆ วงบีเอ็นเคมานั่งให้สัมภาษณ์ โดยผู้กำกับต้องใช้ความสามารถในการป้อนคำถามและสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจนน้องๆ กล้าที่จะเผยความรู้สึกที่แท้จริงออกมา จากนั้นก็ใช้ศิลปะในการตัดต่อร้อยเรียงให้เป็นเรื่องราวที่น่าติดตามและมีประเด็นชัด ซึ่งก็นับว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เต๋อทำได้ในระดับที่น่าชื่นชม

ที่มาภาพ: twitter.com/bnk48official

หนังนำเสนอความจริงที่คนส่วนหนึ่งอาจจะไม่เคยรู้มาก่อน นั่นก็คือ ระบบบริหารจัดการวงบีเอ็นเคฯ และวงในตระกูลโฟร์ตี้เอ้ตทั้งหมดนั้น เป็นระบบที่เรียกร้องความทุ่มเทหมดหน้าตัก ความพยายามอันไม่มีที่สิ้นสุด และกำลังกายกำลังใจกำลังสติปัญญาอย่างยิ่งยวด ของเมมเบอร์ซึ่งล้วนเป็นเพียงเด็กสาวอายุไม่เกิน 24 ปี ระบบดังกล่าวบีบให้เด็กแต่ละคนต้องแข่งขันกันเองอย่างเข้มข้น และกดดันให้แต่ละคนไม่มีความพอใจในตัวเอง จนกระทั่งต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนที่จะผลักดันตัวเองด้วยวิธีการต่างๆ อันนำมาซึ่งความเครียด ความเจ็บปวด และความทุกข์อย่างใหญ่หลวง ชื่อเรื่อง “Girls Don’t Cry” ซึ่งมีความหมายประมาณว่า เกิดเป็นผู้หญิงต้องสตรอง เกิดเป็นผู้หญิงต้องไม่ร้องไห้ จึงมีความหมายทั้งในเชิงให้กำลังใจและเสียดสีไปในตัว

ถ้าถามว่าใครฉลาดที่สุดในหนัง ดิฉันว่าคือบริษัทบีเอ็นเคโฟร์ตีเอตออฟฟิศ ซึ่งดำริให้สร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นในวาระที่วงบีเอ็นเคฯ เปิดตัวครบ 1 ปี เมื่อตอนที่วงโด่งดังจากเพลงคุกกี้เสี่ยงทาย น้องๆ เมมเบอร์ของวงต้องผจญกับอคติของคนจำนวนมาก หนักสุดก็ในข้อที่ว่า การขายความน่ารักมากกว่าความสามารถและเพลงที่มีคุณภาพ ก็ไม่ต่างอะไรกับการเป็น ‘วัตถุทางเพศ’ เพื่อตอบสนองแฟนตาซีของผู้ชาย ดังนั้น การที่หนังนำเสนอความจริงในแง่ที่ทำให้ผู้ชมได้รู้จักตัวตนของน้องๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้เห็นว่าน้องๆ ต้องผ่านความลำเค็ญอะไรมาบ้างตั้งแต่ได้รับคัดเลือกมาเข้าวง จึงเป็นการต่อสู้กับอคติได้อย่างน่าสนใจ ถึงแม้จะดูเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของวงไปบ้าง แต่จะมองว่าเป็นการสถาปนาภาพลักษณ์ใหม่ก็ได้เหมือนกัน เพราะแม้ว่าหนังจะตีแผ่แง่มุมที่โหดร้ายของระบบบริหารจัดการวง แต่ก็ไม่ได้มีท่าทีโจมตีระบบนั้น ที่จริงหนังออกจะมองโลกในแง่ดีมากทีเดียว และน่าจะก่อให้เกิดผลดีแก่บริษัทและวงอย่างมากในระยะยาว

เหตุที่ดิฉันคิดเช่นนั้นก็เพราะว่า ในฐานะที่ดิฉันไม่เคยรู้จักเมมเบอร์คนใดในวงนี้มาก่อน เมื่อได้ดูหนังเรื่องนี้ ดิฉันรู้สึกว่าทุกคนเป็นเด็กดีมาก เด็กดีที่ว่านี้ไม่ได้หมายถึงเด็กเรียนเก่งความประพฤติเรียบร้อย แต่หมายความว่า เป็นเด็กที่มีวุฒิภาวะสูง และพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดในทางความคิดจิตใจ ดังนั้น ระบบอันโหดร้ายจึงอาจก่อให้เกิดผลได้สองทาง ทางหนึ่งคือทำลายคน อีกทางหนึ่งคือสร้างคน หนังเรื่องนี้ดูเหมือนจะนำเสนอว่าทำลาย แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป มันบอกว่าสร้างอย่างเนียนๆ

สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 166

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

31 สิงหาคม 2561