ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 145; ดู Buena Vista Social Club: Adios หนังสารคดีเกี่ยวกับกลุ่มศิลปินดนตรีท้องถิ่นคิวบา ซึ่งเป็น ‘ตำนานแห่งชีวิต’ เป็น ‘ตำนานแห่งดนตรี’ และเป็น ‘ตำนานแห่งโลก’

‘ตำนาน’ ต่างๆ นานาที่ว่านั้น ดิฉันสถาปนาให้เองแหละ 555 แต่เชื่อว่าผู้ที่รู้จักศิลปินกลุ่มนี้ และถึงจะยังไม่รู้จักแต่ได้ดูหนังสารคดีเรื่องนี้ จะต้องเห็นด้วยกับดิฉันแน่ๆ เพราะเส้นทางดนตรีของท่านเหล่านั้น ผูกพันและคลี่คลายไปพร้อมๆ กับวิถีชีวิต สังคม และการเมือง ทั้งของคิวบาและของโลก โดยที่นักร้องและนักดนตรีในกลุ่มเพิ่งมารวมตัวกันสร้างสรรค์ผลงานในวัยหลังเกษียณ คือ 60 อัพกันทุกคน ความสามารถทางดนตรีอันยอดเยี่ยมของทุกท่าน ทำให้ดนตรีท้องถิ่นคิวบาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แทรกซึมเข้าไปในวัฒนธรรมของชาวยุโรปและอเมริกาเหนืออย่างมีชีวิตชีวา ทั้งยังเป็นเครื่องประสานความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างคิวบากับสหรัฐอเมริกาคู่รักคู่แค้นได้อย่างจับใจยิ่ง

กลุ่มดนตรีดังกล่าว มีชื่อว่า “บัวนาวิสตาโซเชียลคลับ” ถือกำเนิดขึ้นจากการสร้างสรรค์ของค่ายเพลงเวิลด์เซอร์กิต ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นค่ายที่ผลิตเพลงประเภทเวิลด์มิวสิกโดยเฉพาะ อันว่าเวิลด์มิวสิกหรือ “ดนตรีโลก” นั้น เป็นศัพท์ที่ใช้หมายถึงเพลงและดนตรีพื้นบ้านพื้นเมืองในวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลก (ยกเว้นอังกฤษและสหรัฐอเมริกา) ที่สร้างสรรค์และถ่ายทอดโดยนักร้องนักดนตรีของท้องถิ่น ดังนั้น โปรดิวเซอร์ของค่ายเวิลด์เซอร์กิตจึงต้องเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศกันเนืองๆ

ในปี 1996 (พ.ศ. 2539) โปรดิวเซอร์ นิก โกลด์ ชวนนักกีตาร์ชาวอเมริกัน ไร คูเดอร์ ซึ่งเคยร่วมงานกับเวิลด์เซอร์กิตมาแล้ว เดินทางไปกรุงฮาวานา เมืองหลวงของคิวบา เพื่อบันทึกเสียงอัลบั้มเพลงที่มีนักดนตรีจากประเทศมาลีแจมกับนักดนตรีคิวบา แต่ปรากฏว่างานล่มเสียก่อนเพราะมีเหตุขัดข้อง โกลด์กับคูเดอร์จึงเปลี่ยนแผน โดยประสานกับ ฆวน เด มาร์คอส กอนซาเลส นักดนตรีและโปรดิวเซอร์ชาวคิวบาซึ่งร่วมงานกันอยู่ ให้ตามหานักร้องนักดนตรีเก่าฝีมือดี มารวมตัวกันทำอัลบั้ม กอนซาเลสก็เจ๋งมาก หามาได้ครบวง ล้วนแต่ระดับเทพทั้งนั้น อาทิ โกมไปย์ เซกุนโด วัย 89 มือกีตาร์อันดับหนึ่ง อดีตศิลปินดูโอ “สองเกลอ” รูเบน กอนซาเลส วัย 77 อดีตนักเปียโนมือหนึ่งในวงของอาร์เซเนียว โรดริเกซ ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งคิวบา มานวยล์ “กวาฮิโร” มิราบัล วัย 63 อดีตนักทรัมเปตเลื่องชื่อ และอิบราฮิม เฟร์เรร์ วัย 69 อดีตนักร้องแบ็กอัพในวงของปาโช อลองโซ ศิลปินชื่อดัง มารับหน้าที่ร้องนำ ต่อมาจึงมีนักร้องหญิง โอมารา ปอร์ตูวนโด วัย 66 มาร่วมด้วยภายหลัง

ชื่อ “บัวนาวิสตาโซเชียลคลับ” เดิมทีเป็นชื่อของสโมสรอันเป็นที่พบปะสังสันทน์กินดื่มเล่นดนตรีและเต้นรำ ของชาวคิวบาเชื้อสายแอฟริกัน อันประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกนั้น ร้อยทั้งร้อยจะต้องมีคนดำอยู่ด้วย เพราะอิพวกเจ้าอาณานิคมพอเข้าไปยึดบ้านเมืองเขาแล้ว ก็จะขนทาสผิวดำจากทวีปแอฟริกาเข้าไปเป็นแรงงาน ดังเช่นประเทศคิวบาซึ่งตกเป็นอาณานิคมของสเปน ก็มีมูลนายผิวขาวกับทาสผิวดำอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนคนพื้นเมืองก็กลายเป็นพลเมืองชั้นต่ำสุด จำเนียรกาลผ่านไป ชาวคิวบาก็เลยมีเลือดผสมปนเป ระหว่างคนพื้นเมืองกับคนดำ ระหว่างคนดำกับคนขาว หรือไม่ก็ผสมสามเชื้อชาติเลย ในขณะที่พวกเพียวๆ ไม่ผสมก็มีอยู่ เช่นคนขาวที่ไม่ประสงค์จะเกลือกกลั้วกับชนชั้นต่ำกว่า พวกนี้แหละที่ทำให้เกิดการเหยียดผิว จนแม้แต่โบสถ์หรือที่พบปะสังสันทน์ก็ต้องแยกจากกันโดยเด็ดขาด

สโมสรบัวนาวิสตา ตั้งขึ้นในปี 1932 (พ.ศ. 2475) ณ เขตบัวนาวิสตา กรุงฮาวานา เป็นสถานที่ที่ทำให้ดนตรีท้องถิ่นของคิวบา อันเป็นส่วนผสมของดนตรีคนพื้นเมือง ดนตรีแอฟริกัน และดนตรีสเปน พัฒนาขึ้นอย่างสูง แต่แล้วก็มาหยุดชะงักเมื่อเกิดการปฏิวัติคิวบา การปฏิวัตินี้มีสาเหตุสืบเนื่องจากการที่สหรัฐอเมริกามาหนุนหลังคิวบาให้ประกาศเอกราชจากสเปน จากนั้นนางก็ไม่ยอมจากไปไหน ยังคงทำตัวเป็น ‘พ่อ’ คิวบาอยู่เช่นนั้น ประธานาธิบดีก็หงออเมริกา ชาวคิวบาก็ไม่ไหวจะทน ในที่สุด ฟีเดล กัสโตร ก็เป็นผู้นำประชาชนลุกฮือขึ้นปฏิวัติ และทำได้สำเร็จในปี 1959 (พ.ศ. 2502) เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ อเมริกาจึงคว่ำบาตรคิวบาทันที

รัฐบาลคอมมิวนิสต์คิวบาพยายามล้มล้างการแบ่งแยกสีผิว ดังนั้นสโมสรซึ่งเป็นที่สังสันทน์สำหรับคนเชื้อสายแอฟริกันโดยเฉพาะ จึงต้องถูกปิดไป เหลือเพียงชื่อที่ยังคงเป็นตำนาน เวลาผ่านไปเกือบ 40 ปี เมื่อค่ายเวิลด์เซอร์กิตทำโปรเจ็กต์รวมศิลปินอาวุโสของคิวบา จึงตัดสินใจตั้งชื่อกลุ่มศิลปินตามชื่อนี้ และใช้เป็นชื่ออัลบั้มด้วย

พอเสร็จจากการบันทึกเสียงอัลบั้มบัวนาวิสตาโซเชียลคลับ ไร คูเดอร์ ก็มาทำอัลบั้มซาวด์แทร็กหนังให้ วิม เวนเดอร์ส ผู้กำกับชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นเพื่อนของแก ระหว่างทำงานร่วมกัน เวนเดอร์สสังเกตเห็นว่าทำไมเพื่อนกลับจากคิวบาแล้วดูมีความสุขพิก๊ล เผลอปุ๊บเป็นนั่งยิ้มกับลมฟ้าอากาศ แกก็เลยถามคูเดอร์ว่ามีอะไรดีๆ ที่คิวบาหรือ และแล้ววันนั้น เวนเดอร์สซึ่งไม่เคยรู้จักดนตรีคิวบามาก่อน ก็กลายเป็นติ่งบัวนาวิสตาโซเชียลคลับทันที ต่อมาในปี 1997 หลังจากอัลบั้มบัวนาวิสตาโซเชียลคลับวางจำหน่าย แล้วประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย ขายได้มากกว่า 5 ล้านก็อปปี้ และชนะรางวัลแกรมมีในปี 1998 เวนเดอร์สก็ได้ทำหนังสารคดีเกี่ยวกับศิลปินกลุ่มนี้ และการแสดงสดที่อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์ ในเดือนเมษายน 1998 กับที่คาร์เนกีฮอลล์ กรุงนิวยอร์ก ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน หนังสารคดีเรื่องนี้ชื่อ Buena Vista Social Club #ไม่มีชื่ออื่นดีกว่านี้แล้ว 555 เป็นหนังที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งในแง่รายได้และรางวัลต่างๆ ที่ได้รับ

บัดนี้ ศิลปินกลุ่มบัวนาวิสตาโซเชียลคลับ ได้กลายเป็นศิลปินระดับโลกไปแล้ว และกลุ่มดนตรีนี้ก็อยู่ยั้งยืนยงมาจนปี 2016 โดยที่สมาชิกก็ทยอยล้มหายตายจากไป จึงเป็นที่มาของอาดิโยสทัวร์ (Adios Tour) หรือทัวร์คอนเสิร์ตอำลา และหนังสารคดี Buena Vista Social Club: Adios เรื่องนี้นี่เอง

ที่มาภาพ: imdb.com

หนังเป็นผลงานของผู้กำกับหญิงมือรางวัลชาวอังกฤษ ลูซี วอล์กเกอร์ ซึ่งพาเราตามรอยเส้นทางของบัวนาวิสตาโซเชียลคลับโดยที่ตัวเธอเองไม่ปรากฏอยู่ในหนังเลย เหมือนเธอพยายามทำตัวให้เล็กที่สุดเพื่อให้ความยิ่งใหญ่ของบัวนาวิสตาโซเชียลคลับฉายชัดด้วยตัวมันเอง หนังมีทุกอย่างที่ควรจะมีในเวลาแค่ชั่วโมงกว่าๆ โดยที่เราไม่รู้สึกเบื่อหน่ายหรือหนักหนาแต่อย่างใด กลับรู้สึกว่าการตามติดชีวิตคนแก่กลุ่มหนึ่งซึ่งโอบล้อมไปด้วยดนตรีที่ไพเราะจับจิต และประวัติศาสตร์อันมีสีสันของคิวบา เป็นเรื่องที่สนุกมากๆ

ดิฉันไม่แปลกใจเลยที่ ไร คูเดอร์ ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่อยู่คนเดียวแบบนั้นหลังกลับจากคิวบา เพราะศิลปินอาวุโสกลุ่มบัวนาวิสตาโซเชียลคลับ ช่างเป็นคนแก่ที่มีพลังชีวิตล้นเหลือ และแผ่พลังไปสู่คนรอบข้างได้ราวกับแหล่งกำเนิดไฟฟ้า ทุกท่านนอกจากจะเป็นนักร้องนักดนตรีที่เก่งที่สุดในประเทศแล้ว ยังผ่านโลกมายาวนานจนประสบการณ์ตกผลึกเป็นปรัชญาชีวิตอันเฉียบคม เวลาฟังศิลปินแต่ละท่านพูด ดิฉันอยากจะควักมือถือขึ้นมาจดมาก เพราะมีวรรคทองเต็มไปหมด จำไม่หวาดไม่ไหว แม้ Buena Vista Social Club: Adios จะไม่ได้ประกาศตนว่าเป็นหนังสร้างแรงบันดาลใจ แต่สำหรับดิฉัน มันให้แรงบันดาลใจชั้นเยี่ยม

เพราะหนังเรื่องนี้พูดถึงคุณค่าของการมีชีวิต คุณค่าของการมีดนตรี และคุณค่าของการมีโลก ซึ่งแม้จะเป็นโลกที่โหดร้ายอยู่บ้างในบางครั้ง แต่มันก็หล่อหลอมเราให้เป็น “ดอกไม้” ที่ทั้งแข็งแกร่งและงดงาม

สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 320

หมายเหตุ: ฉายที่เฮ้าส์อาร์ซีเอที่เดียว นั่งรถใต้ดินมาสถานีเพชรบุรี ต่อมอเตอร์ไซค์ 30 บาทค่ะ #บ้านเดี๊ยนเอ๊ง

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

10 พฤศจิกายน 2560

(ขอบคุณภาพปกจาก scmp.com)