โดย Average Joe

9 ตุลาคม 2013 

“I do things differently, because I don’t go by a rule book, because I lead from the heart, not the head.”
Diana, Princess of Wales

ตรงข้ามกับชีวิตที่วุ่นวายและซับซ้อนของไดอาน่า เจ้าหญิงแห่งเวลส์ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนกว่าค่อนโลก หนังเรื่อง Diana กลับดำเนินไปอย่างเรียบๆ นำเสนอภาพชีวิตช่วงสองปีสุดท้ายของไดอาน่าอย่างไม่ตัดสินความถูก-ผิด และทำให้ตัวละครไดอาน่า (Naomi Watts) กลายเป็นผู้หญิงธรรมดาที่โดดเดี่ยวและอ้างว้างมากคนหนึ่ง เธอเพียงต้องการความรักความเข้าใจจากใครสักคน ซึ่งเธอก็หวังว่าใครคนนั้นจะสามารถเป็นหลักให้เธอยึดเหนี่ยวไว้ได้ ในคราวที่พายุชะตากรรมซัดเข้าใส่เธออย่างไม่หยุดยั้ง

ดูจบแล้วก็เข้าใจเลยว่าทำไมหนังเรื่องนี้ถึงได้เสียงตอบรับที่เป็นด้านลบเสียมาก อาจจะเป็นเพราะว่าไดอาน่าในความรู้สึกของคนส่วนใหญ่นั้น เป็น Perfect Lady ที่งดงามทั้งร่างกายและจิตใจ เธอเป็นเจ้าหญิงที่ถูกทำร้ายด้วยโชคชะตา และเป็น “เหยื่อ” ของสังคมอย่างแท้จริง ส่วนในหนัง ตัวละครไดอาน่าเป็นผู้หญิงที่มีความมั่นใจทว่าช่างอ่อนไหว ดูไว้ตัวแต่ก็แอบ “ให้ท่า” ผู้ชายก่อน บางครั้งแสดงความเป็นขบถอยู่ในที แต่บางครั้งก็ดูหัวช้าจนน่าอ่อนใจ ซึ่งทำให้เธอตัดสินใจทำอะไรที่ผิดพลาดไปไม่น้อย แต่ที่สำคัญคือ เธอไม่ใช่ผู้หญิงที่อ่อนแอและบอบบางเช่นเจ้าหญิงในนิยาย แต่เป็นหญิงแกร่งที่รู้จักเล่นเกม สามารถ “โต้กลับ” ได้อย่างสวยงามและมีสไตล์ การนำเสนอภาพไดอาน่าที่ “ไม่เพียบพร้อม” และ “ไม่เป็นกุลสตรี” เช่นนี้ อาจทำให้คนที่เทิดทูนเธอรู้สึกขัดหูขัดตา และเกิดความต่อต้านภาพลักษณ์ที่หนังนำเสนอมาก็เป็นได้

แม้กระแสคำวิจารณ์จะเทไปทางลบมากกว่าทางบวก (คะแนนในเว็บไซต์ IMDb.com ได้เพียง 4.6/10 เท่านั้น) Diana ก็ไม่ใช่หนังที่เลวร้าย อย่างน้อยหนังก็ทำให้เราเข้าใจชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่พยายามทวงคืนสิทธิและเสรีภาพในการใช้ชีวิตของตัวเองอย่างสุดความสามารถ และหากดูเรื่องนี้จบแล้วเอาเรื่อง The Queen (2006) มาดูต่อกัน เราก็จะได้เห็นและเข้าใจความรู้สึกของทั้งสองฝ่าย (ราชวงศ์อังกฤษและไดอาน่า) ได้โดยไม่ตัดสินเช่นกันว่าใครถูกใครผิดกันแน่

เป็นที่น่าสังเกตว่า นักแสดงคนไหนมาแสดงเป็นบุคคลจริงทีไร มักมีโอกาสได้เข้าชิงรางวัล (และได้รางวัล) กันหลายคนทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น Cate Blanchett (Elizabeth, 1998**; The Aviator, 2005*), Marion Cotillard (La Vie en Rose, 2008*), Daniel Day Lewis (Lincoln, 2012*), Judi Dench (Shakespeare in Love, 1998*; Iris, 2001**), Colin Firth (The King’s Speech, 2012*), Jamie Foxx (Ray, 2005*), Nicole Kidman (The Hours, 2002*), Ben Kingsley (Gandhi, 1983*), Helen Mirren (The Queen, 2006*), Meryl Streep (Out of Africa, 1985**; Julie and Julia, 2009**; The Iron Lady, 2011*), Sigourney Weaver (Gorillas in the Mist, 1988**), Michelle Williams (My Week with Marilyn, 2011**) และ Reese Witherspoon (Walk the Line, 2005*) เป็นต้น
(หมายเหตุ: *won, **nominated)

โจทย์ที่ยากยิ่งสำหรับนักแสดงที่ต้องแสดงเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง ก็คือ ทำอย่างไรให้การแสดง (acting) ของตนเองไม่เป็นเพียงแค่การเลียนแบบ (impersonating) บุคคลนั้นๆ ซึ่งหากเป็นตัวละครที่สมมุติขึ้นมา นักแสดงก็สามารถใช้จินตนาการ “สร้าง” ตัวละครขึ้นมาได้เองอย่างอิสระ มากกว่าที่จะต้องมากังวลว่าจะแสดงอย่างไรให้ “เหมือน” บุคคลคนนั้น อย่างไรก็ดี นักแสดงที่เก่งๆ หลายคนก็ได้พิสูจน์แล้วว่า การแสดงเป็นบุคคลจริงนั้น ไม่จำเป็นต้อง “เหมือน” ไปเสียทุกกระเบียดนิ้วก็ได้ ในกรณี Naomi Watts ที่แสดงเป็นไดอาน่านั้น นอกเหนือจากอากัปกิริยา อิริยาบถเล็กๆ น้อยๆ ที่เหมือนไดอาน่าตัวจริงจนน่าตกใจ เธอยังเสริมเอาความมีเลือดเนื้อ มีตัวตน มีความรู้สึก มีความต้องการเช่นมนุษย์ทั่วไปให้ “เจ้าหญิง” คนนี้อีกด้วย นับว่าเป็นการแสดงที่น่าจดจำครั้งหนึ่งของเธอ ถัดจาก The Impossible เมื่อปีที่ผ่านมา

ถึงแม้ว่า Naomi Watts จะแสดงเป็นไดอาน่าได้ดีมากๆ และมีหลายคนเก็งมาแต่หัวโค้งแล้วว่า บทนี้จะทำให้เธอได้ชิงรางวัลอีกครั้งแน่นอน แต่หลังจากที่หนังออกฉายจริง ก็น่าห่วงเหลือเกินว่ากระแสตอบรับทางลบที่มีต่อหนัง จะทำให้เธอถูกมองข้ามจากสถาบันที่ให้รางวัลต่างๆ ก็เป็นได้ งานนี้ก็คงต้องรอดูกันต่อไป

7/10 ครับ ^_^

ปล. ที่เลือกใช้โปสเตอร์เวอร์ชันนี้ เพราะรู้สึกว่าแสดงให้เห็น “เบื้องหลัง” ที่โดดเดี่ยวและอ้างว้างของไดอาน่าในเรื่องได้ดีกว่าแบบที่เห็นหน้าสวยๆ ที่เราคุ้นเคยกันดีอยู่
ปล. 2 ดูชีวิตเลดี้ไดเรื่องนี้แล้วทำให้คิดถึงมาริลีน มอนโร ในหนัง My Week with Marilyn (2011) มากๆ (Michelle Williams ก็แสดงดีมากๆ เช่นกัน) อาจจะเป็นเพราะชีวิตผู้หญิงสองคนนี้มีส่วนคล้ายกันอยู่ อาทิ เป็นผู้หญิงที่มีพร้อมทั้งรูปสมบัติและทรัพย์สมบัติ รวมถึงชื่อเสียงที่โด่งดัง แต่กลับล้มเหลวในด้านความรักและการสมรส เธอทั้งคู่เสียชีวิตเมื่ออายุ 36 ปี และเมื่อหลังจากที่เสียชีวิตแล้ว Elton John ก็แต่งเพลง Candle in the Wind อุทิศให้ด้วย (กรณีเลดี้ได เซอร์เอลตันนำเพลงเดิมมาเปลี่ยนคำร้องจาก Goodbye, Norma Jean เป็น Goodbye England’s Rose)
ปล. 3 รอลุ้น Nicole Kidman เพื่อนซี้ Naomi Watts ที่แสดงเป็น Grace Kelly ในหนัง Grace of Monaco ด้วยว่าผลลัพธ์ออกมาจะหมู่หรือจ่า