โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

12 มีนาคม 2017

ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 101; ดู In This Corner of the World อะนิเมะที่ได้รับรางวัลแอนิเมชันยอดเยี่ยม ในการประกาศผลรางวัล Japan Academy Prize หรือรางวัลออสการ์ของญี่ปุ่น ประจำปีนี้ ข่าวว่าเฉือนชนะ Your Name แค่เส้นยาแดงผ่าแปด (อ่าน Your Name ได้ในเบี้ยน้อยหอยน้อย 080 ค่ะ #ขายของ)

ถ้าว่ากันเฉพาะเรื่องราวที่นำเสนอ อะนิเมะเรื่องนี้ก็น่าจะ ‘โดน’ คนญี่ปุ่นมากกว่า Your Name เพราะมันเป็นเรื่องอิงประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งเป็นบาดแผลที่ฝังลึกในชีวิตจิตใจของคนญี่ปุ่นมายาวนาน

อันเนื่องมาจากว่า ญี่ปุ่นเป็นผู้ก่อสงครามเองทางภาคพื้นเอเชียและมหาสมุทรแปซิฟิก เพราะต้องการขยายอาณาเขตด้วยกำลังทหาร ก็เลยไปรุกรานเกาหลีกับจีนตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะเริ่มต้นซะอีก แล้วพอสงครามโลกเปิดฉากขึ้น ญี่ปุ่นก็เข้าร่วมกับนาซีเยอรมันและอิตาลี เป็นฝ่ายอักษะ (Axis) โดยมีเป้าหมายที่จะควบรวมประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสุวรรณปฐพีเดียวกัน #เมืองไทยก็ไม่รอดค่ะงานนี้

ทางฝ่ายจีนโดนญี่ปุ่นข่มเหงมานาน ก็ไปขอให้อเมริกาช่วย อเมริกาซึ่งตอนนั้นวางตัวเป็นกลางอยู่ เลยงดขายน้ำมันให้ญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจึงโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ทำให้อเมริกาประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร เปิดฉากรบกับญี่ปุ่นอย่างเต็มตัว กลายเป็นสงครามแปซิฟิก หรือที่ญี่ปุ่นเรียกว่าสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งจบลงด้วยการทิ้งระเบิดปรมาณูที่เมืองฮิโรชิมาและนางาซากิ ทำให้ญี่ปุ่นต้องประกาศยอมแพ้ในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 และสงครามโลกครั้งที่สองก็ยุติอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายนปีนั้น (ท่านผู้อ่านสามารถอ่านเรื่องสงครามแปซิฟิกได้ในเบี้ยน้อยหอยน้อย 097; Hacksaw Ridge ฮ่ะ #ขายของหนักมาก)

หนัง In This Corner of the World เล่าเรื่องของหญิงสาวชาวฮิโรชิมาคนหนึ่ง ชื่ออุราโนะ ซึสึ เธอเป็นคนสนุกสนานร่าเริงโก๊ะกัง ชอบวาดรูปเป็นชีวิตจิตใจ และมีฝีมือทางนี้อย่างมาก ไม่ว่าเห็นอะไรเธอจะจินตนาการเป็นภาพวาดได้หมด ชีวิตวัยเด็กของเธออบอุ่นและมีความสุข ไม่มีภัยสงครามมาแผ้วพาน จนเมื่อเติบโตขึ้นอายุได้ 18 ปี ก็มีชายหนุ่มมาสู่ขอ ซึสึแต่งงานและย้ายไปอยู่บ้านสามีที่เมืองคุเระ ใกล้ๆ ฮิโรชิมา และนี่เองที่เป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของเธอ

คุเระเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง เพราะเป็นเมืองฐานทัพเรือ มีอู่ทหารเรือซึ่งเป็นที่ต่อเรือประจัญบานยามาโตะ เรือรบที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ปีที่ซึสึแต่งงานและย้ายไปอยู่คุเระ คือปี ค.ศ. 1944 ซึ่งเป็นช่วงที่สงครามพีคสุดแล้ว คุเระถูกฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทางอากาศหนักมาก ทรัพยากรทั้งหลายก็ต้องทุ่มไปบำรุงกองทัพ เรือขนส่งอาหารและเชื้อเพลิงจากประเทศอาณานิคมก็มาไม่ค่อยถึงเพราะถูกโจมตีระหว่างทาง ญี่ปุ่นจึงตกอยู่ในภาวะข้าวยากหมากแพง ประชาชนต้องไปเข้าแถวรับปันส่วนอาหาร หรือไม่ก็ต้องไปซื้อของแพงๆ ที่ตลาดมืด แถมยังต้องคอยวิ่งลงหลุมหลบภัยกันไม่เว้นแต่ละวัน โดยที่ผู้ชายในทุกๆ บ้าน ถ้าไม่ถูกเกณฑ์เป็นทหาร ก็ต้องทำงานให้กองทัพ เช่นสามีของซึสึ เป็นเสมียนทหาร ส่วนคุณพ่อของเขาทำงานที่อู่ต่อเรือ

ที่มาภาพ: pantip.com

การดำเนินเรื่องของอะนิเมะเรื่องนี้น่าสนใจมาก โดยภาพรวมมันเป็นแบบเนียนๆ ละเมียดๆ สดใสๆ เหมือนจะให้เราตายใจก่อน แต่มันจะมี ‘ลูกกระชาก’ ซึ่งทำเอาดิฉันร้อง “จ๊ากกกก ขนาดนี้เลยเหรอ” อยู่เป็นระยะๆ #ร้องในใจ ในการนี้ งานภาพมีส่วนอย่างสำคัญ ดูจากโปสเตอร์จะเห็นว่า เขาใช้ลายเส้นและสีที่หวานใสละมุนละไม สมกับโทนเรื่องที่มีความสดใสเป็นพื้น แต่ส่วนที่เป็นลูกกระชากนี่จะต่างออกไป ไม่ใช่แค่ใช้สีฉูดฉาดขึ้น แต่เป็นการใช้กลวิธีทางภาพได้อย่างมีชั้นเชิงและเข้ากับเหตุการณ์ในตอนนั้นอย่างมากๆ นอกจากนี้ ยังมีภาพอีกแบบหนึ่ง คือภาพในจินตนาการของซึสึ เวลาที่เธอจินตนาการเรื่องราวที่ได้พบเจอให้เป็นภาพวาด ลายเส้นและสีของภาพเหล่านั้นก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง ซึ่งในหลายๆ เหตุการณ์ มันได้ช่วยแสดงสภาวะภายในใจของซึสึที่ปนเปกัน ระหว่างการมองเห็นแง่งามของสิ่งที่ปรากฏตรงหน้า กับความปรารถนาที่จะให้สิ่งนั้นเป็นเพียงภาพวาด ไม่ใช่เรื่องจริง

ยามที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม ไม่ต้องสงสัยว่าคนที่ซวยสุดขั้วก็คือประชาชน ยิ่งเป็นประชาชนของประเทศที่ก่อสงครามเองด้วยแล้ว ไม่ว่าจะลำเค็ญขนาดไหนก็เหมือนน้ำท่วมปาก ถ้าต่อต้านก็จะกลายเป็นไม่รักชาติ หรือเป็นคนเห็นแก่ตัวไปโดยปริยาย คนญี่ปุ่นในสมัยนั้นจึงอยู่ยากมาก ถ้าไม่ถูกล้างสมองไปเลยก็ต้องทนรับสภาพไป ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็แย่ทั้งนั้น

แต่อะนิเมะเรื่องนี้ทำให้การ “ทนรับสภาพ” เป็นสิ่งที่ไม่แย่ ไม่ใช่เพราะว่าคนเรามีหน้าที่ทน แต่เพราะคนเรามีหน้าที่ต่อสู้ และการต่อสู้นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าไปรบกับคนอื่น แต่หมายถึงการใช้ชีวิตให้ดีที่สุด ด้วยสิ่งที่เรามี

In This Corner of the World สร้างจากมังงะของโคโนะ ฟุมิโยะ นักเขียนการ์ตูนหญิงวัย 48 เธอเป็นชาวฮิโรชิมา เกิดไม่ทันสงคราม แต่ก็ใช้ชีวิตท่ามกลางผลพวงของมันมาโดยตลอด เธอเขียนมังงะเรื่องนี้ลงนิตยสาร Weekly Manga Action ในปี 2007-2009 ในชื่อภาษาญี่ปุ่นว่าこの世界の片隅に (Kono Sekai no Katasumi ni) แปลว่า “ในมุมหนึ่งของโลกนี้” (In a Corner of This World) ต่อมาเว็บไซต์ JManga ได้แปลเป็นภาษาอังกฤษเผยแพร่ในเว็บ ใช้ชื่อว่า To All the Corners of the World หรือ “แด่ทุกมุมของโลก” มังงะเรื่องนี้ได้รับการสร้างเป็นละครตอนพิเศษฉายทางทีวีในปี 2011 หลังจากนั้นจึงได้พิมพ์รวมเล่มเป็น 3 เล่มจบ ครั้นเมื่อมาทำเป็นอะนิเมะ ก็เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น In This Corner of the World หรือ “ในมุมนี้ของโลก” โดยยังใช้ชื่อภาษาญี่ปุ่นตามชื่อมังงะเช่นเดิม

แต่ไม่ว่าจะใช้ชื่อไหน มันก็เป็นหนังที่ประกาศว่า ยังมี “มุมหนึ่ง” ของโลกใบนี้ ที่แม้จะเต็มไปด้วยความโหดร้ายและยากลำบาก แต่ทุกคนก็ยังใช้ชีวิตต่อไปอย่างมีความหวัง มีอารมณ์ขัน และมีความสุขตามอัตภาพ ด้วยการมองให้เห็นความงามของโลกและชีวิต รวมทั้งการรักษาสายสัมพันธ์อันเหนียวแน่นของครอบครัว และแผ่ขยายออกไปถึงคนอื่นๆ ในสังคม

ขออุทิศ “มุมนี้” ให้แก่ “ทุกมุม” ของโลก ที่ยังต้องเผชิญกับความสูญเสียและความเจ็บปวด แม้มันจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่เราก้าวผ่านไปได้ด้วยความเข้มแข็ง และความรักความเมตตาต่อกัน

สรุป: จ่าย 0 (ใช้บัตรสะสมแต้มของเครือเอเพ็กซ์) ได้กลับมา 180

หมายเหตุ:

  1. In This Corner of the World ไม่ใช่แค่ชนะรางวัลออสการ์ของญี่ปุ่น แต่ยังกวาดรางวัลอีกมากมาย เช่น รางวัลภาพยนตร์แห่งสันติภาพ ในเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติฮิโรชิมา รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม Blue Ribbon Awards (เป็นรางวัลที่นักวิจารณ์และนักเขียนมอบให้แก่ภาพยนตร์) ทั้งยังได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในสิบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี จากหลากหลายสถาบัน
  2. หนังมีรายละเอียดและ “เงื่อนปม” บางอย่างที่ไม่ได้เฉลยในตัวเรื่อง แต่จะบอกเล่าไว้ด้วยภาพใน end credit ดิฉันดูมาตลอดเรื่องไม่มีน้ำตาเลย เพราะหนังมันไม่ได้บีบคั้นหรือทำร้ายเราขนาดนั้น แต่พอดู end credit จบถึงภาพสุดท้าย น้ำตาทะลักออกมายังกะเขื่อนแตก หนังยังมีฉายที่ลิโดและ House RCA ท่านใดได้ไปชม ห้ามพลาด end credit นะคะ

 

(ขอบคุณภาพปกจาก www.animatsu.com)