ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 087; ต่อไปนี้จะเป็นรีวิวพลีชีพสำหรับเรื่อง La La Land หนังที่ประสบความสำเร็จมากทั้งในแง่เสียงวิจารณ์และรางวัล ทำลายสถิติชนะรางวัลลูกโลกทองคำมากที่สุดถึง 7 สาขา ไม่นับรางวัลทั้งหลายทั้งปวงที่กวาดมาแทบจะทุกเวที กระแสแรงขนาดนี้ออสการ์ก็คงไม่หนีไปไหน

หนังเรื่องนี้เป็นผลงานเขียนบทและกำกับของเดเมียน เชเซลล์ หนุ่มวัย 31 ซึ่งเมื่อปี 2014 มีชื่อเสียงหอมฟุ้งขจรขจายจากการเขียนบทและกำกับหนังเรื่อง Whiplash แต่พูดก็พูดเถอะ ดิฉันว่า Whiplash นี่เป็นหนังที่ดูได้เฉพาะการแสดงของลุงเจ. เค. ซิมมอนส์ เท่านั้นแหละ อย่างอื่นมันไม่มีความคมคายเอาเลย ประเด็นที่นำเสนอก็แปลกๆ พอมาปีนี้ เห็นความสำเร็จของ La La Land แล้วดิฉันก็ออกจะดีใจ คิดว่าผู้กำกับหนุ่มคงจะ ‘ตกผลึก’ บ้างแล้วพอสมควร ถึงได้ทำหนังที่ดูเข้าท่าเข้าทางเช่นนี้ออกมาได้

เชื่อว่าหลายๆ ท่านที่ได้ดูหนังตัวอย่างก็น่าจะเดาออกว่า La La Land หมายถึงลอสแองเจลิส หรือแอลเอ (LA) อันเป็นดินแดนแห่งความฝันของคนที่อยากทำงานในวงการบันเทิง ทั้งยังสื่อถึงความเป็นมิวสิคัลของหนังเรื่องนี้ด้วย โดยภาพรวม มันเป็นหนังขายสไตล์จัดๆ เรื่องหนึ่ง คือเป็นหนังเพลงที่มีทั้งดรามาและแฟนตาซีในลักษณะกึ่งจริงกึ่งฝัน อบอวลไปด้วยกลิ่นอายของแจ๊สและบรรยากาศย้อนยุคแบบหนังคลาสสิกฮอลลีวูด การทำเพลงให้ตอบโจทย์ดังกล่าวจึงเป็นงานหินดีๆ นี่เอง

แต่มันก็ไม่เกินความสามารถของจัสติน เฮอร์วิตซ์ เพื่อนร่วมชั้นเรียนที่ฮาร์วาร์ดของเชเซลล์ และเป็นผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบให้หนังทุกเรื่องของเพื่อนด้วย เมื่อตอนที่ทำดนตรีให้ Whiplash ก็น่าตะลึงมากแล้ว พอมาเรื่องนี้ยิ่งพีกขึ้นไปอีก มีความเป็นแจ๊สและป๊อปและมิวสิคัลผสมผสานกัน มีความเก่าคลาสสิกแต่ในขณะเดียวกันก็แปลกใหม่ แล้วยังไพเราะทุกเพลง ติดหูทุกโน้ต เมื่อคืนดิฉันหลับพร้อมเพลงที่ยังดังอยู่ในหัวไม่หยุดเลย #ลั้ลลาแล้นนนน

สิ่งที่น่าชื่นชมเป็นลำดับต่อไป คือการแสดงของพระเอกนางเอก ไรอัน กอสลิง กับเอมม่า สโตน ดูแล้วแทบจะใจสลายไปกับนางทั้งคู่ ควรค่าแก่การสรรเสริญที่ได้รับจากทั่วสารทิศ แม้ในส่วนของการเต้นและการร้องอาจจะดร็อปไปบ้าง (ไรอันเต้นอย่างมืออาชีพ แต่ร้องเพลงอย่างมือสมัครเล่น ส่วนเอมม่าร้องเพลงดีกว่าหน่อย แต่เต้นไม่พลิ้วเท่าไรอัน ลองดูโปสเตอร์แล้วสังเกตมือบนของทั้งสองเทียบกันนะคะ 555)

ที่มาภาพ: www.awardsdaily.com

อย่างไรก็ดี ปัญหาอันใหญ่ยิ่งของหนังเรื่องนี้ก็คือบท (ซึ่งชนะลูกโลกทองคำมาแล้ว เหอๆๆ) ในความรู้สึกของดิฉัน ทั้ง Whiplash และ La La Land มันจะมีอะไรบางอย่างที่ทำให้ต้องร้องเอ็ดอึงในใจว่า เฮ้ย!! ตัวละครมันทำแบบนี้ได้ด้วยเหรอ อะไรของมึ้งงงง ซึ่งสิ่งนี้แหละที่ทำให้หนังกลายเป็นหนัง ‘เด็กๆ’ ไปอย่างน่าเสียดาย อย่างเรื่องนี้ ฉากเปิดเรื่องนี่ปังมากเลยนะ แต่หลังจากนั้นไม่กี่นาที…อ้าว! เห้ย!! นั่นไง เอาแล้วไง…แล้วพอดูไปเรื่อยๆ ก็แทบจะกุมขมับ เพราะพล็อตมันหลวม และเส้นเรื่องกระจุยมาก ดีที่เพลงเพราะๆ และการแสดงดีๆ นำพาเราไปจนถึงช่วงท้าย ซึ่งมันจะมีจุดเปลี่ยนอย่างหนึ่งทำให้เรื่องหนักแน่นขึ้นมาแบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ แล้วตั้งแต่นั้นหนังก็กอบกู้ความกระจุยกระจายขึ้นมาเป็นรูปเป็นร่างได้ แล้วจบลงอย่างสวยงามในที่สุด

แม้บทจะไม่ค่อยลงตัว แต่ความดีใจที่กล่าวไว้ข้างต้นของดิฉันก็ไม่สูญเปล่านะ เพราะมุมมองเกี่ยวกับ “ความฝัน-ความจริง” ของเขาใช้ได้ทีเดียว หนังทำให้เราเห็นว่า ความฝันจะเป็นจริงได้ขึ้นอยู่กับ 3 อย่าง คือตัวเราเอง คนข้างๆ และโชคชะตา สามอย่างนี้บางครั้งก็เกื้อหนุนกัน บางครั้งก็ขัดแย้งกัน ดังนั้น สิ่งที่เราจะทำได้ก็คือ ไม่ละทิ้งความฝันของตัวเอง ดูแลความฝันของคนข้างๆ แล้วที่เหลือก็ดูว่าโชคชะตาจะนำพาไปอย่างไร

เมื่อหาจุดที่ความฝันกับความจริงผสานกันได้ ชีวิตเราก็จะก้าวเดินไปข้างหน้า โดยไม่ล่องลอยอยู่แต่ในความฝัน ไม่ร้าวรานอยู่แต่กับความจริง

สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 120

หมายเหตุ: La La Land เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ 7 สาขา และชนะทั้งหมด ดังนี้

  1. ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประเภทมิวสิคัลหรือคอเมดี
  2. นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมประเภทมิวสิคัลหรือคอเมดี – ไรอัน กอสลิง
  3. นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมประเภทมิวสิคัลหรือคอเมดี – เอมม่า สโตน
  4. ผู้กำกับยอดเยี่ยม – เดเมียน เชเซลล์
  5. บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม – เดเมียน เชเซลล์
  6. ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม – จัสติน เฮอร์วิตซ์
  7. เพลงประกอบยอดเยี่ยม – City of Stars ทำนองโดยจัสติน เฮอร์วิตซ์ เนื้อร้องโดย เบนจ์ พาเสค กับจัสติน พอล คู่หูนักแต่งเพลงมิวสิคัล ในนาม Pasek and Paul ซึ่งแม้จะอายุแค่ 31-32 แต่ก็ได้รางวัลด้านการประพันธ์เพลงมาแล้วเป็นกระบุง

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

14 มกราคม 2017