ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 124; ดู Let’s Go, Jets! หนังที่สร้างจากเรื่องจริงของทีม “เจ็ตส์” ทีมเชียร์แดนซ์จากโรงเรียนบ้านนอกในญี่ปุ่น ซึ่งสามารถคว้าแชมป์โลกในการแข่งขันที่อเมริกาเมื่อปี 2009

หนังเรื่องนี้มีชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า ChiaDan ~Joshi Kosei ga Chia Dansu de Zenbei Seiha Shichatta Honto no Hanashi~ #ชื่อเหรอนั่น แปลว่า “เชียร์แดนซ์ ~เรื่องจริงของนักเรียนหญิง ม.ปลาย ที่ไปชนะการแข่งขันในอเมริกา~” พวกเธอเป็นนักเรียนของโรงเรียนมัธยมพณิชยการฟุกุอิ (Fukui Commercial High School) เมืองฟุกุอิ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ไม่ใหญ่โต อยู่ในเมืองที่ไม่ใหญ่โต แต่สามารถประสบความสำเร็จในระดับโลกได้ แล้วก็ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว เพราะในปี 2013 ทีมเชียร์แดนซ์จากโรงเรียนนี้ก็ได้แชมป์โลกอีก จากนั้นก็ได้เป็นแชมป์ติดต่อกันมา 5 สมัยจวบจนปัจจุบัน

การที่ทีมจากโรงเรียนเล็กๆ ในเอเชียสามารถคว้าชัยชนะเหนือทีมประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศต้นกำเนิดของเชียร์แดนซ์ได้นั้น นับว่ามหัศจรรย์ไม่ใช่น้อย เส้นทางแห่งความสำเร็จของพวกเธอจึงเป็นสิ่งที่น่าศึกษา หนัง Let’s Go, Jets! พาเราไปดูเส้นทางนั้น ด้วยสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ของหนัง-ละครญี่ปุ่นแนว “สู้เพื่อฝัน” นั่นก็คือ เอาความตลกโปกฮามาโอบอุ้มเนื้อหาที่จริงจัง ยิ่งตลกมากก็ยิ่งจริงจังมาก ยิ่งเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกก็ยิ่งสร้างแรงบันดาลใจ

ที่มาภาพ: filmsmash.com

ตามท้องเรื่อง ทีมเจ็ตส์ถือกำเนิดขึ้นจากกิจกรรมชมรมของโรงเรียนฟุกุอิ ก่อตั้งและฝึกสอนโดย อ.ซาโอโตเมะ คาโอรุโกะ (แสดงโดย อามามิ ยุกิ) ผู้ขึ้นชื่อเรื่องความโหดจนนักเรียนพากันเรียกว่า “เจ๊นรก” เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อสาวน้อยโทโมนางะ ฮิคาริ (แสดงโดย ฮิโรเสะ ซึสึ ในภาพคือคนที่ 3 จากซ้าย) นักเรียนใหม่ที่มาเข้า ม.4 อยากจะเป็นเชียร์ลีดเดอร์เพื่อมัดใจหนุ่มนักกีฬาโรงเรียน ก็เลยไปสมัครเข้าชมรมเชียร์แดนซ์ แต่เข้าไปวันแรก เจอครูบอกว่า เป้าหมายของชมรมนี้คือไปคว้าแชมป์ที่อเมริกา!!! ในขณะที่สมาชิกชมรมมีคนเต้นเป็นอยู่ 3 คน นอกนั้นรวมทั้งฮิคาริ ไม่เป็นโล้เป็นพายใดๆ ทั้งสิ้น เป้าหมายที่ครูตั้งไว้จึงดูเป็นไปไม่ได้เลย

อันที่จริงโครงเรื่องหลักๆ ของหนังก็ไม่ต่างจากเรื่องอื่นๆ ในแนวเดียวกันเท่าไหร่ คือเริ่มต้นจากการที่ทีมเป็นศูนย์รวมของความง่อยเปลี้ย จากนั้นก็ได้ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ อันทำให้ตัวละครมีพัฒนาการทั้งในแง่ปัจเจกบุคคลและในแง่การเป็นส่วนหนึ่งของทีม จนกระทั่งสามารถนำพาทีมไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ แต่ถ้าพิจารณารายละเอียด หนังก็มีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่มีทางซ้ำรอยหนังเรื่องอื่นได้เลย ที่เป็นอย่างนั้นก็เนื่องมาจากเชียร์แดนซ์เป็นการเต้นที่มีลักษณะเฉพาะ คือหัวใจของมันอยู่ที่การเชียร์ หมายความว่าต่อให้เต้นเป๊ะยังไงก็ตาม ถ้าไม่สามารถทำให้คนรู้สึกฮึกเหิมคึกคักจนอยากจะเต้นตามไปด้วย มันก็เป็นแค่การเต้นสวยๆ ไม่ผ่านในฐานะการเป็นเชียร์แดนซ์ เงื่อนไขตรงนี้ก็เลยมีผลต่อคุณสมบัติของผู้เต้น การจัดการทีมเวิร์ก วิธีการฝึกซ้อม และการวางกลยุทธ์ในการแข่งขัน สิ่งเหล่านี้เป็น “บททดสอบ” หรืออุปสรรคในตัวมันเองอยู่แล้ว ซึ่งหนังก็นำเสนอออกมาได้ดี เพียงแต่เหมือนจะพยายามยั้งๆ มือไว้ ไม่ขยี้มาก เพื่อที่จะมาปล่อยสุดในฉากไคลแม็กซ์ ผลก็คือ เราอาจจะรู้สึกไม่ได้ดั่งใจบ้างระหว่างที่ดู แต่อารมณ์แบบนี้แหละจะทำให้ฉากไคลแม็กซ์เป็นฉากสุดพีคที่เราไม่อาจลืมเลือน

ถ้าหนังเรื่องนี้จะเป็นกรณีศึกษาของการที่คนธรรมดาๆ จะบรรลุถึงความสำเร็จ ดิฉันว่าเคล็ดลับสำคัญที่สุดก็คือ “การตั้งเป้าหมาย” หนังบอกเราว่าการตั้งเป้าหมายที่ดูเหมือนไกลเกินเอื้อม ไม่ได้แปลว่าเราไม่รู้จักประมาณตน แต่มันจะทำให้เราพยายามผลักดันตัวเองอย่างสุดกำลัง เพื่อให้มีศักยภาพมากพอที่จะไปถึงเป้าหมายนั้น หากเราตั้งเป้าหมายไว้ชัด วิธีการหรือเส้นทางที่จะบรรลุเป้าหมายก็จะปรากฏ และเราก็จะสามารถพุ่งตรงไปบนเส้นทางนั้นได้โดยไม่ต้องมะงุมมะงาหราหรือเสียเวลาหลงทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงานเป็นทีมหรือเป็นหมู่คณะ ถ้าทุกคนมีเป้าหมายร่วมกัน ก็ย่อมพร้อมที่จะเสียสละอุทิศตนเพื่อทีม มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้น และทำหน้าที่ในส่วนของตนให้ดีที่สุด อัตตาของเราจะสลายไป เพราะไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าเป้าหมาย แม้แต่ตัวเราเอง

สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 150

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

1 กรกฎาคม 2560

(ขอบคุณภาพปกจาก pbs.twimg.com)