โดย Average Joe

7 กุมภาพันธ์ 2015 

บางทีเราก็นึกเห็นใจคนเก่ง โดยเฉพาะคนเก่งระดับอัจฉริยะ เพราะความเก่งกาจของเขามักทำให้หลายคนนึกหมั่นไส้ และเข้าใจเจตนาของเขาผิดไปบ่อยครั้ง ดังนั้น คุณสมบัติหนึ่งที่อัจฉริยะพึงมีอีกอย่างก็คือความอดทน อดทนมากๆ อดทนเวลาที่ฝนพรำ อย่างน้อยก็ทำให้เราได้เห็นถึงความแตกต่าง… (เอิ่ม เข้าเพลงได้ไง) ในทางกลับกัน คนที่อยู่รอบข้างอัจฉริยะก็ต้องอดทนมากไม่แพ้กันด้วย พวกเขาต้องอดทนเก็บความในใจ แล้วรอแค่วันเวลา… (ยัง ยังไม่หยุด) เพราะความโดดเด่นไม่เหมือนใครของอัจฉริยะนั้น ในอีกมุมหนึ่งก็คือความแปลกแยก แตกต่างจากคนธรรมดาทั่วไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่อัจฉริยะจะถูกล้อเลียน กลั่นแกล้ง หรือกระทั่งเกลียดชัง

ที่มารูป: http://www.impawards.com

อลัน ทูริง (Benedict Cumberbatch) นักคณิตศาสตร์ผู้คิดค้นเครื่องมือถอดรหัสอีนิกมา (Enigma) ของเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองได้สำเร็จ ก็เป็นหนึ่งในคนอัจฉริยะเหล่านั้น ทูริงไม่เพียงแค่แปลกแยกเพราะความสามารถเกินคนธรรมดาเท่านั้น เขายังเป็นเกย์ ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายในสมัยนั้นอีกด้วย นี่อาจเป็นข้อพิสูจน์ว่า พระเจ้าไม่เคยสร้างใครมาให้สมบูรณ์แบบ แม้จะมีสติปัญญาล้ำเลิศ แต่ทูริงก็มีปัญหาในการเข้าสังคมและปฏิสัมพันธ์ร่วมกับคนอื่น โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงานในภารกิจลับครั้งนี้ จนเมื่อเขาได้พบกับโจน คลาร์ก (Keira Knightley) หญิงสาวที่ไม่เพียงมีสติปัญญาที่ใกล้เคียงกัน แต่ยังเข้าใจและชื่นชมทูริงมากประหนึ่งเป็นคู่สร้างกันมา นอกจากโจนจะช่วยทูริงวางแผนการถอดรหัสลับแล้ว เธอยังช่วยสานความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานให้เขาอีกด้วย

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่พวกเขาจะไขรหัสลับนั้นสำเร็จหรือไม่ (เพราะเรารู้กันอยู่แล้วว่าสำเร็จ) แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า พวกเขาจัดการกับผลลัพธ์การถอดรหัสนั้นอย่างไรต่างหาก ทูริงและทีมงานต้องตัดสินใจบนความก้ำกึ่งหมิ่นเหม่ระหว่างความถูกต้องตามหลักการและคุณธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ และแม้การตัดสินใจอันยากลำบากในตอนนั้นจะนำไปสู่การย่นระยะเวลาสงครามและรักษาชีวิตประชาชนได้มากก็จริง แต่ทูริงก็หาได้กลายเป็นวีรบุรุษของชาติอย่างที่ควรจะเป็นไม่ ในทางตรงกันข้าม ในช่วงต้นทศวรรษที่ 50 ทางการกลับจับกุมเขาในข้อหามีพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน และถูกจับ “รักษา” ด้วยการฉีดยา จนทำให้เขาเกิดอาการหดหู่และฆ่าตัวตายในไม่กี่ปีถัดมา ชีวประวัติอันน่าเศร้าของเขาชวนให้เกิดคำถามว่า หากทูริงไม่ได้เป็นชายรักชาย วีรกรรมของเขาในช่วงสงครามน่าจะได้รับการยกย่อง และชื่อของเขาก็น่าจะเป็นที่รู้จัก (นอกเหนือจากวงการคณิตศาสตร์) มากกว่านี้หรือเปล่า

อลัน ทูริง เป็นมนุษย์ที่ซับซ้อน เขาฉลาดล้ำ ทะนงตน ทะเยอทะยาน แต่ก็ไม่มั่นใจตัวเองและอ่อนไหวเปราะบางมากด้วย การที่ต้องมีชีวิตอยู่กับความลับมาโดยตลอด ทำให้เขาเป็นคนเก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร (โดยไม่จำเป็น) พูดจาเถรตรงขวานผ่าซาก เข้าสังคมไม่เป็น ซึ่งเบเนดิกต์ คัมเบอร์แบทช์ ในบททูริง (รวมถึงน้อง Alex Lawther ในบททูริงวัยเด็ก) ก็ช่างแสดงเก่งเหลือเกิน ส่วนน้องเคียร่า แม้จะแสดงได้ดีมากตามมาตรฐาน แต่ส่วนตัวก็ยังชอบเธอจากบทสาวนักดนตรีในเรื่อง Begin Again (2013) มากกว่าอยู่ดี

The Imitation Game เป็นการเล่าเรื่องคนสำคัญของอังกฤษผ่านสายตาคนนอก (ผู้กำกับ Morten Tyldum เป็นชาวนอร์เวย์) หลังจากที่ Shekhar Kapur ผู้กำกับชาวอินเดียเล่าเรื่องของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่หนึ่งมาแล้วในเรื่อง Elizabeth (1998) และ Elizabeth: The Golden Age (2007) ซึ่งนอกจากคาปูร์แล้ว ทิลดัมก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีของการเลือก “คนนอก” มาเล่าเรื่องของ “คนในที่แปลกแยก” เขารักษาความตื่นเต้นลุ้นระทึกให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดได้อย่างพอดี และในขณะเดียวกันยังพาคนดูเข้าไปสำรวจจิตใจของตัวละครทีละชั้นๆ ภาพของทูริงที่เป็นอัจฉริยะผู้หยิ่งทะนงในตอนต้นเรื่องก็ค่อยๆ ถูกลอกเปลือกออกให้พวกเราเห็นว่า ภายใต้สติปัญญาอันล้ำเลิศ เขาก็เป็นเหมือนคนธรรมดาทั่วไปที่ต้องการความรักความห่วงใย และหวั่นวิตกเมื่อเขาไม่แน่ใจและสงสัยในคุณค่าตัวตนของเขาเอง

สำหรับชื่อเรื่องนั้น มาจากบทความหนึ่งที่ทูริงเขียนไว้ เขาตั้งคำถามไว้ว่า “เครื่องจักรสามารถ ‘คิด’ ได้ไหม” หากมนุษย์เราสร้างเครื่องจักรขึ้นมาเลียนแบบการทำงานของสมองคน (ในยุคแรกเราจึงเรียกคอมพิวเตอร์ว่า “สมองกล” หรือ “สมองไฟฟ้า”) และสมองคนเราบางคนก็มีศักยภาพเทียบเท่าเครื่องจักรได้ แล้วอะไรที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากเครื่องจักร คำถามนี้ยังคงเป็นหัวข้ออภิปรายที่น่าขบคิดมาจนถึงปัจจุบัน แต่ละคนก็คงให้คำตอบและความเห็นที่แตกต่างกันออกไป ส่วนตัวเห็นว่า เครื่องจักรนั้นอาจจะ ‘คิด’ ได้ แต่ในกระบวนการคิดของมันนั้น คงไม่ซับซ้อนเหมือนสมองมนุษย์ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก และอคติต่างๆ แน่นอน และนี่คงเป็นปริศนาลึกลับของมนุษยชาติที่ไม่ว่าทูริงหรืออัจฉริยะคนไหน ก็คงไม่สามารถหาวิธีเข้าใจหรือไขปัญหาได้เสียที

9/10 ครับ

ป.ล. ไม่น่าเชื่อว่าหนังชีวประวัติอิงสงครามเรื่องนี้จะแอบยิงมุกฮาๆ อยู่ประปราย คริคริ
ป.ล. 2 เมื่อปี ค.ศ. 2013 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้พระราชทานอภัยโทษย้อนหลังให้ทูริง ทว่าชายรักชาย (และหญิงรักหญิง) คนอื่นๆ อีกหลายคนที่โดนทางการลงโทษด้วยข้อหาเดียวกัน ยังคงไม่ได้รับการอภัยโทษ
ป.ล. 3 มีคนกระซิบบอกมาว่าชื่อ Turing อ่านว่า ทัว-ริง ตามนี้ /ˈtjʊərɪŋ/ แต่ที่ได้ยินในหนัง เหมือนจะหนักเสียง อุ มากกว่า และซับไตเติลก็ถอดว่า ทูริง ด้วย แต่ตามหนังสือทั่วๆ ไปจะเห็นสะกดว่า ทัวริง เอาเป็นว่าถ้าไปเห็น “ทัวริง/ทูริง” ที่ไหน ก็โปรดเข้าใจว่าเป็นคนเดียวกันละกันนะ