ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 048; ฝ่าสายฝนไปดู The Lobster ที่ลิโด 3 คนดูเต็มโรงอย่างมีนัยสำคัญ ควรย้ายไปฉายโรงใหญ่ที่สกาลามั้ยคะท่านเจ้าของโรงหนังเครือเอเพ็กซ์

หนังเรื่องนี้เป็นผลงานของยอร์กอส ลานธิมอส ผู้กำกับชาวกรีก ซึ่งเมื่อปี 2011 หนังเรื่อง Dogtooth ของแกเคยได้เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมมาแล้ว แกไปอยู่อังกฤษเกือบ 4 ปีเพื่อทำ The Lobster โดยได้ไอเดียมาจากเพื่อนๆ ซึ่ง “กลัวการขึ้นคาน กลัวการต้องแก่ตายไปคนเดียว มองคนที่อยู่เป็นโสดว่าเป็นคนประหลาด จึงยอมทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ตัวเองโสด” คุณพระ!

ในหนังเรื่องนี้ คนโสดกลายเป็นพลเมืองชั้นสองของสังคม ต้องเข้าไปอยู่ในสถานกักกันกึ่งสถานบำบัด ชื่อ The Hotel กำหนดเส้นตายให้หาคู่จากอิพวกคนโสดที่อยู่ด้วยกันนั่นแหละ ภายใน 45 วัน ถ้าหาไม่ได้จะต้องกลายร่างเป็นสัตว์ที่ตัวเองเลือกเอาไว้ คนโสดที่ไม่ต้องการมีคู่ก็ต้องหนีเข้าไปอยู่ในป่า ไปตั้งกลุ่มของตัวเอง พวกที่อยู่ใน The Hotel จะต้องออกไปล่าคนโสดที่อยู่ในป่าพวกนั้น ถ้าจับได้ 1 คนก็จะได้เวลาหาคู่เพิ่ม 1 วัน เท่ากับยืดอายุการเป็นมนุษย์ออกไปอีกหน่อย แต่ถึงจะยังไม่ได้กลายเป็นสัตว์ไปจริงๆ กฎเกณฑ์และบทลงโทษอันชวนปวดตับของ The Hotel ก็ลดทอนศักดิ์ศรีและอิสรภาพของพวกเขาจนแทบไม่ต่างอะไรจากสัตว์อยู่แล้ว

ทั้งหมดนี้เป็นแค่ช่วงต้น ชีวิตใน The Hotel ของพระเอกผู้เลือกที่จะเป็นล็อบสเตอร์หากหาคู่ไม่ได้ เป็นแค่ครึ่งแรกของหนังเท่านั้น ส่วนครึ่งหลังกลับตาลปัตร คนที่ดูครึ่งแรกแล้วกลัวขึ้นคาน ดูครึ่งหลังแล้วอาจจะกลัวชีวิตคู่ไปเลย ที่เขาแซ่ซ้องกันว่าพล็อตหนังเรื่องนี้เจ๋งสุดๆ ไม่สามารถคาดเดาได้เลยนั้น มันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

ที่มารูป: vanityfair.com

อ่านมาถึงตรงนี้ อาจดูเหมือนว่า The Lobster เป็นหนังเชิดชูคนโสดหรือต่อต้านชีวิตคู่ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลยฮ่ะ หนังไม่ได้ถือหางใคร แต่ตั้งคำถามกับคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นคนโสด คนที่พยายามหาคู่ หรือคนมีคู่แล้ว ทั้งยังสะท้อนความเป็นจริงที่ว่า สังคมที่เหยียดหยามคนโสดก็น่าสมเพชพอๆ กับสังคมที่กีดกันไม่ให้คนรักกันได้อยู่ร่วมกัน และเมื่อสังคมใดไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย คนที่แตกต่างก็จะถูกผลักออกไปเป็นอีกพวกหนึ่ง กลายเป็นมีพวกสุดโต่งอยู่สองขั้ว แล้วคนที่แตกต่างจากทั้งสองขั้วนี้จะมีที่ยืนอยู่ตรงไหนในสังคม ถ้าไม่พยายามฝืนใจทำตัวให้กลมกลืนกับพวกใดพวกหนึ่ง เขาก็ต้องกลายเป็น “ตัวประหลาด” ที่ได้รับการปฏิบัติแตกต่างออกไปใช่หรือไม่ ดังนั้น สังคมที่ไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย จึงเป็นสังคมที่ “ลดทอนความเป็นมนุษย์” ไม่ว่าจะมองในแง่มุมใดก็ตาม

สิ่งที่น่าชื่นชมอีกอย่างหนึ่ง คือการที่หนังนำเสนอในแบบ “ตลกร้าย” หรือตลกแบบเสียดสีนั้น ได้ผลทั้งในแง่การสร้างอารมณ์ขันและการกระตุ้นให้คิด ตัวอย่างเช่น บ้านเมืองในหนังเรื่องนี้มีกฎว่า คนที่เป็นคู่กันจะต้องมีอะไรบางอย่างเหมือนกัน วันแรกที่พระเอกเข้าไปอยู่ใน The Hotel นังโฮเต็ลแมเนเจอร์ก็มาแนะนำว่าคุณควรหาคู่ที่เหมือนกับคุณนะ เพราะ “หมาป่ากับเพนกวินไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ อูฐกับฮิปโปโปเตมัสก็เช่นกัน” ดังนั้น สมาชิก The Hotel จึงมองหาแต่คนที่เหมือนตัวเอง และ “พยายามเป็น” แบบคนที่ตัวเองหมายตาไว้ แม้ว่าจะต้องเสแสร้งแกล้งทำก็ตาม แต่ในการแสวงหา “ความเหมือน” นั้น แทนที่จะพิจารณากันที่คุณสมบัติดีๆ ทุกคนกลับมองที่ความบกพร่อง เช่น สายตาสั้น ขากะเผลก เลือดกำเดาไหลบ่อย หรือใจบาปหยาบช้า แล้วก็พยายามหาคนที่บกพร่องเหมือนตัวเอง รวมทั้งพยายามทำตัวให้บกพร่องแบบนั้นด้วยทั้งๆ ที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของตน โอ๊ย! บาดดดด ตบเข่าฉาด จุกแอ้ก ฮาแตกฮาแตน

สรุป: จ่าย 120 ได้กลับมา 175

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

21 พฤศจิกายน 2558

(ขอบคุณภาพปกจาก uica.org)