ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 107; ดู We Are X หนังสารคดีว่าด้วยเรื่องราวของวง X Japan วงร็อกญี่ปุ่นซึ่งโด่งดังไปทั้งโลก และถ้าดาวเคราะห์ดวงอื่นมีดาวเทียมรับสัญญาณ เสียงของพวกเขาก็คงจะดังไปถึง

ดิฉันไม่ใช่แฟนคลับเอ็กซ์เจแปน และยิ่งไม่ใช่สาวก ดิฉันรู้จักวงนี้อย่างคนธรรมดาๆ ที่รู้จักวงดนตรีชื่อดังของต่างประเทศอยู่ห่างๆ และฟังเพลงของพวกเขาอย่างเพลงที่ไพเราะโดยไม่มีความคลั่งไคล้ศิลปินเข้ามาเกี่ยวข้อง สิ่งที่จะเขียนต่อไปนี้จึงเป็นเพียงความรู้สึกของคนดูหนังคนหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายแล้วกลับได้ค้นพบตัวเองจากการดูหนังที่แทบไม่เกี่ยวอะไรกับตัวเองเลย

We Are X เป็นหนังจากการร่วมทุนของอังกฤษ อเมริกา และญี่ปุ่น สร้างโดยสตูดิโอหนังอิสระ Passion Pictures #ชื่อดี๊ดี กำกับโดยสตีเฟน ไคแอ็ก ผู้กำกับชาวอเมริกันวัย 48 ผู้มีชื่อเสียงในการทำหนังสารคดีเกี่ยวกับวงดนตรี เช่นหนังเกี่ยวกับวง The Rolling Stones เมื่อปี 2010 และวง Backstreet Boys เมื่อปี 2015

ก่อนไคแอ็กจะได้รับการติดต่อให้มากำกับ We Are X เขาไม่เคยรู้จักเอ็กซ์เจแปน ซึ่งดิฉันคิดว่านี่แหละคือจุดเริ่มต้นแห่งความสำเร็จของหนัง เพราะถ้าผู้กำกับรู้เรื่องราวของวงมาก่อน หรือเป็นสาวกอยู่แล้ว ก็อาจจะมีภาพในใจอะไรบางอย่างมากำหนดทิศทางของหนังเอาไว้ล่วงหน้า จนทำให้มองข้ามสิ่งสำคัญบางอย่างไป แต่การที่ไคแอ็กต้องมาทำความรู้จักและเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด ทำให้เขาค่อยๆ ซึมซับและกลืนเข้าไปในความเป็น X จนกระทั่งสามารถจับประเด็นได้อยู่มือ ว่าจะนำเสนอเรื่องของเอ็กซ์เจแปนโดยมีอะไรเป็นแกนกลาง แล้วเขาก็ถักทอเรื่องราวให้ผูกโยงอยู่กับแกนกลางนั้นอย่างประณีต ผลก็คือ We Are X กลายเป็นหนังสารคดีที่สามารถนำพาเราเข้าถึงความเป็นเอ็กซ์เจแปนได้อย่างลึกซึ้งถึงแก่น ด้วยคำสองคำที่หล่อเลี้ยงและอบอวลอยู่ในทุกอณูของวงดนตรีวงนี้ นั่นก็คือ “ชีวิต” และ “ความตาย”

หนังดำเนินเรื่องโดยให้บุคคลสำคัญที่สุดของวง คือ ฮายาชิ โยชิกิ เป็นผู้เล่าเรื่อง (narrator) และให้เรื่องราวของเขานำเราเข้าไปสู่เรื่องราวของเอ็กซ์เจแปน ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ว่าเพราะโยชิกิเป็นหัวหน้าวงเท่านั้น แต่เป็นเพราะวงเอ็กซ์เจแปนถือกำเนิดและมี “ชีวิต” ขึ้นมาได้ เนื่องจาก “ความตาย” ของคนคนหนึ่ง ซึ่งมีผลสั่นสะเทือนโยชิกิจนทำให้เขาต้องระเบิดอารมณ์อันเจ็บปวดคลั่งแค้นของตัวเองออกมาเป็นเพลงร็อกที่รุนแรงรวดร้าว ทั้งๆ ที่ตอนเด็กๆ เขาเรียนมาทางด้านเปียโนคลาสสิก

ตลอดทั้งเรื่อง หนังพาเราเข้าไปสัมผัสกับ “ชีวิต” และ “ความตาย” ของเอ็กซ์เจแปน ในทุกๆ ความหมายเท่าที่จะมีได้ โดยใช้การเตรียมคอนเสิร์ตที่แมดิสันสแควร์การ์เดนในนิวยอร์ก เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 อันเปรียบเสมือนการ “ฟื้นคืนชีพ” ครั้งยิ่งใหญ่ของวง เป็นเส้นเรื่องหลัก จากนั้นหนังก็ค่อยๆ พาเราย้อนไปดูความเป็นมาของวงซึ่งผูกพันกับเรื่องราวของสมาชิกแต่ละคน ตั้งแต่มิตรภาพวัยเยาว์ระหว่างโยชิกิกับเดยามะ โทชิมิทสึ (โทชิ) อันนำไปสู่การทำวงดนตรีร่วมกันใน พ.ศ. 2522 เมื่อพวกเขาอายุเพียง 12 ปี และได้พัฒนามาเป็นวง X (ออกเสียงตามแบบญี่ปุ่นว่า Ekkusu) ใน พ.ศ. 2525 การเกิดและเติบโตของวง X นับได้ว่าเป็นการปฏิวัติสังคมญี่ปุ่นเลยทีเดียว เพราะวงนี้ได้บุกเบิกวัฒนธรรมทางดนตรีแนวใหม่ที่เรียกว่า “วิชวลเค” (ออกเสียงตามแบบญี่ปุ่นว่า vijuaru kei) อันมีที่มาจากคำภาษาอังกฤษ visual (ภาพลักษณ์) กับคำภาษาญี่ปุ่น kei (แนวทาง) หมายถึงแนวดนตรีที่เน้นภาพลักษณ์มากกว่าสกุลทางดนตรี ดังนั้นนักดนตรีจึงจัดเต็มทั้งเสื้อผ้าหน้าผม ส่วนดนตรีก็จะเป็นการผสมผสานหลายๆ สกุล ซึ่งสำหรับวง X ก็คือร็อกผสมคลาสสิก เนื่องจากโยชิกิผู้แต่งเนื้อร้องและทำนองมีพื้นฐานมาทางด้านนี้

ในพ.ศ. 2530 วง X ก็ได้สมาชิกที่ลงตัว ประกอบด้วย โยชิกิ (กลองและเปียโน) โทชิ (ร้องนำ) ฮิเดะ (มะทสึโมโตะ ฮิเดโตะ – ลีดกีตาร์) พาตะ (อิชิซึกะ โทโมอากิ – ริทึ่มกีตาร์) และ ไทจิ (ซาวาดะ ไทจิ – เบส) ออกอัลบั้มแรกใน พ.ศ. 2531 ประสบความสำเร็จทั้งในญี่ปุ่นและประเทศใกล้เคียงอย่างที่ไม่มีวงร็อกวงใดเคยทำได้มาก่อน ทั้งหมดนี้คือจุดเริ่มต้นแห่ง “ตำนาน” บทหนึ่งของวงการดนตรีโลก ซึ่งสมาชิกวง X ทุกคนสร้างสรรค์ขึ้นด้วยชีวิต

ความสำเร็จและการยกย่องชื่นชมที่วง X ได้รับ ถูกเล่าคู่ขนานไปกับความเจ็บปวด แตกร้าว สูญเสีย พังทลาย ได้อย่างสัมผัสใจและน่าใคร่ครวญ เริ่มจากความขัดแย้งระหว่างโยชิกิกับไทจิ อันส่งผลให้ไทจิต้องออกจากวงไปใน พ.ศ. 2535 ตามด้วยความพยายามที่จะโกอินเตอร์ ซึ่งทำให้พวกเขาต้องเปลี่ยนชื่อวงเป็นเอ็กซ์เจแปนจวบจนปัจจุบัน เพื่อให้ไม่ซ้ำกับวงพังก์ร็อกของอเมริกา แต่ในที่สุดเมื่อวงเองก็ยังไม่พร้อม และอเมริกาก็ยังไม่พร้อมที่จะเปิดใจรับเพลงร็อกจากประเทศที่ใช้ภาษาอื่น ความพยายามของเอ็กซ์เจแปนจึงล้มเหลว ต่อมา โทชิก็เริ่มถูกล้างสมองโดยลัทธิอุบาทว์ เป็นเหตุให้เขาขอลาออกจากวงใน พ.ศ. 2540 และแล้วในปีนั้น สาวกทุกคนก็ต้องหัวใจสลาย เมื่อเอ็กซ์เจแปนประกาศยุบวง เพราะไม่สามารถหานักร้องมาแทนโทชิได้ แล้วในปีถัดมา เอ็กซ์เจแปนก็เป็นข่าวดังไปทั่วโลกอีกครั้ง เมื่อฮิเดะ สมาชิกคนสำคัญผู้เป็นเสมือนกาวประสานใจของทุกคนในวง เสียชีวิตอย่างไม่มีใครคาดคิดในวัย 33 ปี โดยตำรวจสันนิษฐานว่าฆ่าตัวตาย ทำให้ความฝันของโยชิกิซึ่งกำลังเตรียมการร่วมกับฮิเดะเพื่อรวมวงเอ็กซ์เจแปนขึ้นมาอีกครั้ง ต้องสูญสลายลง

หลังจาก “ความตาย” ครั้งแล้วครั้งเล่าที่เอ็กซ์เจแปนต้องเผชิญ หนังก็แสดงให้เห็นมูลเหตุแห่งการ “ฟื้นคืนชีพ” ซึ่งเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในพ.ศ. 2550 เมื่อโทชิประกาศว่าจะกลับมาร่วมวง และแล้วเอ็กซ์เจแปนก็ได้ฟอร์มวงขึ้นใหม่ มีสมาชิกใหม่ 2 คน คือ ฮีธ (โมริเอะ ฮิโรชิ) มือเบสที่มาร่วมวงตั้งแต่ไทจิออกจากวงไป กับสึกิโซะ (สึกิฮาระ ยะสึฮิโระ) ผู้มาเล่นลีดกีตาร์แทนฮิเดะ และเป็นมือไวโอลินของวงด้วย นับเป็นการกลับมาอย่างงดงามแบบที่โลกต้องจารึก และในที่สุดก็ได้ประกาศความยิ่งใหญ่ในซีกโลกตะวันตกอย่างแท้จริง หลังจากความพยายามที่จะโกอินเตอร์ล้มเหลวไปเมื่อ 22 ปีก่อน

แต่ก็อีกนั่นแหละ ในขณะที่หนังนำเสนอการเกิดใหม่ของเอ็กซ์เจแปน สิ่งที่ถูกบอกเล่าไปพร้อมๆ กันก็คือสภาพร่างกายที่เสื่อมสลายของโยชิกิ อันเนื่องมาจากการหักโหมเล่นดนตรีอย่างทุ่มสุดตัวมากว่า 30 ปี โดยมีมุมมองเกี่ยวกับ “ชีวิต” และ “ความตาย” ของเขา เป็นเหตุผลที่อธิบายทุกอย่าง รวมทั้งร้อยเรียงทุกเรื่องราวของเอ็กซ์เจแปนเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นหนังสารคดีที่พิเศษสุดเรื่องนี้

ท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้อาจจะคิดว่า ดิฉันเล่าให้ฟังหมดแล้ว ไม่ต้องไปดูก็ได้ แต่ที่จริง สิ่งที่เล่าไปทั้งหมด เป็นเพียงข้อเท็จจริงซึ่งใครๆ ที่ไม่ตกข่าวก็น่าจะรู้หรือหาอ่านได้ไม่ยาก และยิ่งกว่านั้น มันยังเป็นข้อเท็จจริงเพียงบางส่วนจากอีกหลายๆ ส่วน ซึ่งถือว่าผิวเผินมากสำหรับการที่เราจะทำความรู้จักคนคนหนึ่งหรือวงดนตรีวงหนึ่งได้อย่างแท้จริง เรื่องราวเหล่านั้นจึงเป็นเพียงข้อมูลพื้นฐานที่เราควรรู้ ไม่ใช่ทั้งหมดของเรื่อง

แล้วทั้งหมดของเรื่องคืออะไร

We Are X ก็คือหนังสารคดีที่บอกเล่า “ความจริง” อันแสนจะเหนือจริง ของคนคนหนึ่งและวงดนตรีวงหนึ่ง ในแง่มุมลึกซึ้งที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ด้วยวิธีการเล่าเรื่องที่สร้างสมดุลได้เป็นอย่างดีระหว่างคนดูเฉพาะกลุ่มกับคนดูทั่วไป ทำให้เป็นหนังที่ทุกคนดูได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสาวกหรือรู้จักวงนี้มาก่อน วิธีการเล่าเรื่องดังกล่าวยังได้นำคนดูไปสู่ “ความจริง” อีกระดับหนึ่ง คือความจริงของชีวิตที่เต็มไปด้วยความปวดร้าวและแสนจะใกล้ชิดกับความตาย ให้คนดูสามารถอยู่กับความจริงดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องพยายามมองมันในแง่บวกหรือให้สวยงามกว่าความเป็นจริง

นับตั้งแต่หนังได้ออกฉายเป็นครั้งแรกเมื่อต้นปี 2559 ในเทศกาลภาพยนตร์ซันแดนซ์ ที่รัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา มาจนกระทั่งบัดนี้ We Are X ได้รับยกย่องจากหลายสถาบันให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับดนตรีที่ดีที่สุดในปี 2559 ทั้งยังได้เข้าชิงรางวัลต่างๆ มากมาย และชนะรางวัลลำดับภาพยอดเยี่ยมในการประกวดภาพยนตร์สารคดีโลกของเทศกาลซันแดนซ์ อันเป็นข้อพิสูจน์อย่างสำคัญถึง “วิธีการเล่าเรื่อง” ที่ไม่ธรรมดา ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น นอกจากนี้ หนังยังเป็นที่กล่าวขวัญว่าสามารถเยียวยาความเจ็บปวดในชีวิตของแฟนคลับและสาวกทั่วโลก ไม่ต่างจากบทเพลงของเอ็กซ์เจแปน ซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวและปลอบประโลมใจให้แก่ทุกคนมาโดยตลอด

ส่วนดิฉันผู้ไม่ใช่แฟนคลับและสาวก นั่งดูหนังเรื่องนี้ด้วยความรู้สึกเหมือนได้กลับ “บ้าน”

เพราะได้เห็นชีวิตของคนคนหนึ่ง ซึ่งไม่เคยรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับโลกใบนี้ แต่ก็ยังพยายามที่จะอยู่กับมัน

คนที่มีชีวิตสะบักสะบอมด้วยความเจ็บปวดและเจ็บป่วย แต่ก็ยังพยายามที่จะอยู่กับมัน

คนที่รู้สึกว่าตัวเองสมควรจะตายได้แล้ว แต่ในเมื่อยังหายใจก็ต้องเดินหน้าต่อ

คนที่ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ขณะกำลังเดินทางไปสู่ความตายที่รออยู่เบื้องหน้า

ดิฉันรู้จักคนแบบนี้มาก่อน

คนคนนั้น คือดิฉันเอง

สรุป: จ่าย 100 (ดูวันพุธ ที่เซ็นทรัลพระราม 9) ได้กลับมา 400

หมายเหตุ: โปสเตอร์หนังเรื่องนี้ เป็นภาพจากการแสดงที่แมดิสันสแควร์การ์เดน เงาร่างนั้นคือโยชิกิ เสมือนกำลังยืนรับการสดุดีจากผู้ชมทุกคน ซึ่งพร้อมใจกันชูมือไขว้กันเป็นตัว X

ที่มาภาพ: eeworldnews.com

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

2 เมษายน 2017

(ขอบคุณภาพปกจาก animenewsnetwork.com)