ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 066; ดู Where to Invade Next หนังสารคดีที่เข้าฉายในโรงหนัง SF เพียง 5 โรงในประเทศไทย ผู้ที่จัดฉายก็คือกลุ่มคนรักหนังสารคดีนามว่า Documentary Club สารคดีที่เขาเลือกมาล้วนแต่เด็ดๆ ทั้งนั้น แต่ดิฉันไม่ค่อยได้ดูหรอกเพราะค่าตั๋วมันแพง ที่ผ่านมาดูไปเรื่องเดียว คือ The Wolfpack (เรื่องของชายหนุ่มหกคนพี่น้องซึ่งเติบโตมาด้วยการดูหนังเป็นพันๆ เรื่องโดยแทบไม่ได้ออกไปเห็นโลกภายนอกเลย) หนังดี๊ดีจนเรื่องต่อๆ มาที่เขาเอามาฉาย ดิฉันต้องพยายามทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น เพราะขืนดูทุกเรื่องจะต้องเบี้ยกระจุยหอยกระจายแน่ แต่พอมาถึง Where to Invade Next นี่ ดิฉันยอมแพ้จริงๆ ยังไงก็ต้องไปดูเพราะมีประเด็นที่เอามาใช้เขียนงานได้เยอะ และดิฉันก็ชอบสไตล์ของผู้กำกับมากอยู่ เชื่อว่าหลายๆ ท่านคงรู้จักเขาบ้างไม่มากก็น้อย เขาผู้นี้ก็คือ ไมเคิล มัวร์ นักทำหนังสารคดีและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวอเมริกัน

ที่มารูป: michaelmoore.s3.amazonaws.com

ลุงไมเคิล มัวร์ แกทำหนังสารคดีวิพากษ์วิจารณ์ (หรืออีกนัยหนึ่ง ด่า) สหรัฐอเมริกาประเทศของแกมาตั้งนานแล้ว โดยลุงทั้งเขียนบท กำกับ โปรดิวซ์ และเป็น narrator (คนเล่าเรื่อง) เองทุกเรื่อง Where to Invade Next เป็นผลงานเรื่องล่าสุดของลุง ฉายในอเมริกาเมื่อปีที่แล้ว หนังเรื่องนี้ก็เป็นสไตล์ลุงมาก คือนำเสนอในลักษณะเสียดสีประชดประชันแดกดันกระทบกระเทียบ จนก่อให้เกิดความขบขันแบบหัวเราะก๊ากๆ ทั้งเรื่องยังกะเพิ่งพี้กัญชามา แล้วระหว่างที่ขำนั้น ในใจจะแอบขมขื่น แต่ในขณะเดียวกันก็มีความหวัง มีพลังใจอยู่ลึกๆ และในสมองก็จะบังเกิดความคิดอะไรต่างๆ มากมาย ความอลังการในการจิกกัดเสียดสีของลุงปรากฏตั้งแต่ชื่อเรื่องแล้ว คือแกเห็นว่าประเทศอเมริกาของแกนั้น ชอบไปบุกรุก (invade) ประเทศโน้นประเทศนี้แล้วก็ยึดทรัพยากรมาเป็นของตัว วันๆ อิพวก ครม. คงไม่ได้ทำอะไรนอกจากประชุมหารือกันว่า “เราจะไปบุกที่ไหนต่อดี” ดังนั้น แกก็เลยสานต่อนโยบายนี้ โดยเดินทางบุกประเทศต่างๆ เพื่อไปดูไอเดียดีๆ ที่ประเทศของแกไม่มี (ฮา) แล้วยึดเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์เหล่านี้กลับมา น่าจะทำให้ประเทศแกพัฒนาขึ้นได้มากกว่าไปยึดน้ำมันหรือทำสงครามกับชาวบ้าน (ฮายาวไปค่ะ)

“ของดี” ของนานาประเทศที่ลุงพาเราไปบุกยึดนั้น มันเริ่ดม้ากกกก ขอยกตัวอย่างเด็ดๆ 3 ประเทศดังนี้

เริ่มจากอิตาลี ประเทศที่หลายๆ คนอยากไปเที่ยว และหลังจากดูหนังเรื่องนี้ก็คงอยากไปทำงานด้วย เพราะลูกจ้างที่นั่นสามารถลาพักผ่อนได้ปีละ 80 วัน โดยได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน (ลองเทียบกับตัวเองแล้ว ตลอดทั้งปีดิฉันลาพักผ่อนได้ 10 วัน ส่วนที่อเมริกา ถ้าจะลาก็ไม่ต้องเอาค่าจ้างอ่ะนะ ก็เลือกเอาละกันเมิงจะเอาอะไร) นอกจากนี้ อิตาลียังมีสิ่งที่เรียกว่า “เงินเดือนเดือนที่ 13” คือในเดือนธันวาคมของทุกปี ลูกจ้างจะได้รับเงินเดือนเพิ่มอีก 1 เดือนไปฟรีๆ ด้วย แค่ให้หยุดเยอะๆ ก็เลิศมากแล้ว นี่ยังให้เงินอีก ก็เพราะว่าเขาสนับสนุนให้ทุกคนไปท่องเที่ยว ซึ่งการที่จะเที่ยวได้ก็ต้องมีทั้งเวลาและเงินนั่นเอง

เหตุที่นายจ้างอิตาลีอยากให้ลูกจ้างไปเที่ยวซะขนาดนั้น ก็เนื่องจากเขาเห็นว่าการไปเที่ยวคือการชาร์จแบตที่ดีที่สุดของร่างกายและจิตใจ หลังจากไปเที่ยวกลับมา ทุกคนจะมีความสุข มีพลังในการทำงานมากขึ้น สุขภาพก็แข็งแรง ทำให้งานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล จนอิตาลีได้รับการประเมินว่าเป็นประเทศที่มีผลิตภาพ (productivity) สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก สรุปแล้ว ยิ่งให้ลูกจ้างหยุดงานไปเที่ยวเยอะๆ ยิ่งได้งานดี

ไปต่อกันที่ฟินแลนด์ ดินแดนแห่งความฟิน เพราะได้รับการประเมินว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก เป้าหมายในการจัดการศึกษาของเขาก็คือ ให้เด็กเรียนหนังสืออย่างมีความสุขและได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน เขาบอกว่าการศึกษาควรเป็นไปเพื่อการนี้ ไม่ใช่เพื่อสิ่งอื่น #น้ำตาจะไหล

ความสุขของเด็กๆ นั้น ที่จริงแล้วก็ไม่มากมายอะไรเลย หลักๆ มีอยู่แค่ 2 อย่าง คือการได้ใช้ชีวิตสนุกสนานแบบเด็กๆ กับการได้เรียนในสิ่งที่เขาสนใจ โรงเรียนในฟินแลนด์จึงจัดให้มีชั่วโมงเรียนน้อยๆ แทบไม่มีการบ้าน และไม่มีการสอบ เพื่อให้เด็กๆ ได้มีเวลาเล่นสนุกและทำอะไรก็ได้ที่เขาอยากทำ โดยถือว่าทุกๆ กิจกรรมเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่สำคัญ โรงเรียนจัดหลักสูตรที่ทำให้เด็กได้ค้นพบศักยภาพและความสนใจของตัวเอง โดยโรงเรียนจะช่วยเสริมสร้างพื้นฐานเพื่อให้เด็กสามารถพัฒนาต่อยอดไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ เมื่อเด็กมีความสุขในการเรียนและรู้ว่าเรียนไปเพื่ออะไร เขาก็จะรักการเรียนรู้ และสามารถเรียนรู้ได้เร็วมาก ดังที่ปรากฏว่า นักเรียนในฟินแลนด์มีความรู้กว้างขวาง แต่ละคนมีทักษะความสามารถมากกว่า 1 อย่าง และรู้ภาษาต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 3 ภาษา ทั้งๆ ที่ใช้เวลาในการเรียนน้อยมาก สรุปแล้ว ยิ่งเรียนน้อย ยิ่งมีประสิทธิภาพในการเรียน ส่วนเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ โรงเรียนจะจัดโปรแกรมพิเศษให้ แล้วสอนเด็กด้วยวิธีการที่เหมาะกับแต่ละคน จนกระทั่งนักเรียนทุกคนสามารถเรียนทันกันหมด และไม่มีใครจบประถมมัธยมออกไปอย่างบอดใบ้ทางความรู้ความคิดเลย

ส่วนประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางการศึกษา ฟินแลนด์ก็ทำได้จริง ด้วยการพัฒนาโรงเรียนทุกโรงให้มีคุณภาพเท่าเทียมกัน ซึ่งการจะทำให้ได้เช่นนั้น หัวใจสำคัญอยู่ที่การพัฒนาครู ครูที่ฟินแลนด์นี่ใช่ว่าจะเป็นกันได้ง่ายๆ ต้องเรียนจบ ป.โท ต้องผ่านการอบรมเกี่ยวกับเทคนิคการสอนและจิตวิญญาณความเป็นครูเยอะแยะไปหมด แต่คนรุ่นใหม่ก็นิยมเป็นครูกัน เพราะเป็นอาชีพที่ได้อยู่ในระบบที่ดีที่สุดในโลกอ่ะนะ ทีนี้เมื่อทุกโรงเรียนมีครูที่ดีมีคุณภาพ และยึดเป้าหมายเดียวกันในการจัดการเรียนการสอน ก็เท่ากับว่าทุกโรงเรียนดีเท่ากันหมด ผู้ปกครองไม่ต้องเอาตีนก่ายหน้าผากเวลาจะหาโรงเรียนให้ลูกหรือจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะ แป๊ะเจี๊ยะคืออะไรฟินแลนด์ไม่รู้จัก เพราะแม้แต่ค่าเล่าเรียนยังฟรีเลย เป็นเงินภาษีทั้งสิ้น และในเมื่อทุกโรงเรียนดีเท่าเทียมกัน จึงไม่มีการแยกโรงเรียนคนรวยคนจน เด็กไม่ว่าบ้านรวยบ้านจนก็ต้องมาเรียนรวมกัน เป็นเพื่อนกัน พอโตขึ้น มันก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถยอมรับความแตกต่างและไม่เอาเปรียบคนที่อ่อนแอกว่า #ป้าน้ำตาไหลพราก

คราวนี้มาดูที่เยอรมนีบ้าง โรงเรียนเยอรมันก็เลิศนะ เพราะเขาสอนเด็กๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างไม่มีหมกเม็ดบิดเบือนเลย ให้เด็กได้รู้กันไปเลยว่าประเทศของตนภายใต้การนำของฮิตเลอร์และนาซี เคยไปกระทำชำเราชนชาติอื่นและประเทศอื่นอย่างไรบ้าง นอกจากสอนเด็กในห้องเรียนแล้ว นอกห้องเรียนตามถนนหนทางก็มีป้ายเขียนข้อความย้ำเตือนเรื่องนี้โดยตลอด บนพื้นถนนและหน้าบ้านแทบทุกหลังก็สลักตัวอักษรไว้ว่า ที่ตรงนี้เคยเป็นบ้านของคนยิวชื่อนั้นชื่อนี้ ถูกนาซียึดแล้วกวาดต้อนคนในบ้านไปค่ายกักกันเมื่อวันที่เท่านั้นเท่านี้ อะไรแบบนี้เป็นต้น เพื่อให้ทุกคนจดจารไว้ในใจ อย่าได้ลืมเลือนความเลวร้ายที่บรรพบุรุษของตนเคยทำมา ผลก็คือ เด็กเยอรมันสามารถเผชิญหน้ากับความเป็นจริง ยอมรับความผิดพลาดในอดีตได้อย่างกล้าหาญ และรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของตนที่จะต้องทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก สรุปแล้ว ยิ่งตอกย้ำความเลวร้าย ยิ่งเป็นพลังผลักดันในการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม

นี่แค่น้ำจิ้ม ในหนังยังมีสิ่งดีๆ ให้ดูอีกเยอะ ซึ่งยิ่งดีมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความโง่เขลาเบาปัญญาของอเมริกา (รวมทั้งประเทศอื่นๆ ที่คิดไม่ได้แบบนี้) มากเท่านั้น แต่ท้ายที่สุด ลุงไมเคิล มัวร์ ก็ได้ค้นพบความจริงอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้ลุงสะท้อนใจมาก ดิฉันไม่บอกละกันนะว่าอะไร เผื่อใครจะไปดูจะได้ไม่เสียอรรถรส ขอบอกแต่เพียงว่า ดิฉันสะท้อนใจมากกว่าลุงอีก เพราะจากการที่ได้ดูไอเดียดีๆ ของประเทศต่างๆ จะเห็นได้เลยว่า จริงๆ แล้วทุกไอเดียมาจากหลักการพื้นฐานเดียวกัน คือการมองให้เห็นความเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลของสรรพสิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อมโยงระหว่าง “ส่วนตน” กับ “ส่วนรวม” ซึ่งหลักการนี้พระพุทธเจ้าทรงสอนมาตั้งสองพันกว่าปีแล้ว เรื่องของ “เหตุ” กับ “ผล” ในลักษณะ cause กับ effect (ไม่ใช่ reason) นั้น คือหลักใหญ่ใจความของธรรมะในพุทธศาสนาเลยแหละ และผู้ที่ใช้หลักการนี้เป็นพื้นฐานในการทำงานตลอด 70 ปีที่ผ่านมา ก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวของเรานี่เอง ดิฉันก็เลยเศร้าใจพอควร ที่เรามีหลักการที่ถูกต้องอยู่ใกล้ตัวตั้งนานแล้ว แต่ไม่ค่อยจะมีใครนำหลักการนั้นมาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติเลย ที่ใครๆ เขาชอบบอกว่า คนไทยอยู่ในกะลาแลนด์ ควรออกไปดูโลกกว้างบ้างน่ะ จริงๆ แล้ว การไม่รู้จักคนอื่น อาจจะน่ากลัวน้อยกว่าการไม่รู้จักตัวเองก็เป็นได้

สรุป: จ่าย 220 ได้กลับมา 250

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

25 มิถุนายน 2016

(ขอบคุณภาพปกจาก imdb.com)