ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 115; ดู “ฉลาดเกมส์โกง” หนังไทยว่าด้วยปฏิบัติการโกงข้อสอบระดับนานาชาติ ผลงานภาพยนตร์เรื่องที่ 3 ของค่าย GDH 559 ต่อจาก “แฟนเดย์… แฟนกันแค่วันเดียว” และ “พรจากฟ้า” เมื่อปีที่แล้ว (อ่านได้ในเบี้ยน้อยฯ 082 ฮ่ะ)

หนังเป็นผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ของ นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผู้กำกับเรื่อง “เคาท์ดาวน์” หนังระทึกขวัญจิตป่วง ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในพ.ศ. 2556 ปีนี้นัฐวุฒิกลับมาด้วยหนังที่ดูจะมีคอนเส็ปต์แข็งแรงกว่าเคาท์ดาวน์หลายเท่า ทั้งยังสร้างกระแสความฮือฮาและทำรายได้อย่างถล่มทลายหลังจากเข้าฉาย เพียงสัปดาห์แรกก็ปาเข้าไป 70 ล้านเหนาะๆ

ฉลาดเกมส์โกง” เป็นเรื่องของเด็ก ม.ปลาย 4 คนที่ร่วมกันทำธุรกิจเงินล้านด้วยการทุจริตในการสอบ หนังน่าจะได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงเมื่อปีพ.ศ. 2557 เกี่ยวกับการโกงข้อสอบวัดระดับความรู้เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา (Scholastic Assessment Test: SAT) การสอบนี้เขาจัดในหลายๆ ประเทศ สอบในวันและเวลาเดียวกันตามเวลาท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ ประเทศที่อยู่คนละโซนเวลา (time zone) จึงได้สอบไม่พร้อมกัน ว่ากันว่าพวกโรงเรียนกวดวิชาที่เกาหลีใต้และจีนได้อาศัยช่องโหว่ตรงนี้มาประกอบมิจฉาอาชีวะ โดยส่งคนไปนั่งสอบในประเทศที่ได้สอบก่อน แล้วจำข้อสอบหรือคำตอบออกมา ส่งอีเมลให้ลูกค้าในประเทศที่สอบทีหลัง พอถูกจับได้ คะแนนสอบของผู้เข้าสอบในทวีปเอเชียก็เลยถูกระงับหมด เดือดร้อนกันไปทั้งคนโกงและคนไม่ได้โกง

ที่มาภาพ: pantip.com

เหตุการณ์ในหนัง “ฉลาดเกมส์โกง” ก็เกิดขึ้นในปี 2557 เช่นเดียวกัน #แน่ะ และเป็นการโกงสอบวัดระดับความรู้เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยในอเมริกาเหมือนกันด้วย แต่เรียกย่อๆ ว่า STIC ทีมโกงไม่ใช่โรงเรียนกวดวิชาในเกาหลีใต้และจีน แต่เป็นเด็กไทยเรานี่แหละค่า ครีเอตวิธีการเองทั้งหมด #อ่ะนะ โดยมีข่าวการโกงในเกาหลีใต้และจีน (ซึ่งไม่ปรากฏว่าใช้วิธีไหน) เป็นอุปสรรคสำคัญของตัวละคร เพราะทำให้สนามสอบของพวกเขามีมาตรการคุมเข้มหนักขึ้น การทุจริตจึงแทบเป็นไปไม่ได้เลย

หนังวางคาแร็กเตอร์และความเป็นมาของตัวละครแต่ละตัว โดยเฉพาะเหตุผลที่ทำให้พวกเขากระโจนเข้ามาในธุรกิจนี้ได้อย่างน่าเชื่อถือ เพราะว่ามันมีพื้นฐานของสังคมไทยและสถานภาพทางสังคมของตัวละครรองรับอยู่อย่างหนักแน่น พื้นฐานของสังคมไทยดังกล่าวก็คือ เป็นสังคมที่หล่อเลี้ยงด้วยระบบอุปถัมภ์มาแต่โบราณ ซึ่งส่วนใหญ่คนที่จะอุปถัมภ์คนอื่นได้ก็ต้องมีเงิน ดังนั้นในที่สุด ระบบอุปถัมภ์ก็เลยพัฒนาไปเป็นค่านิยมของสังคม ที่ให้คุณค่ากับทรัพย์สินเงินทองมากกว่าคุณสมบัติด้านอื่น เช่นความรู้ความสามารถ สิ่งเหล่านี้แหละที่เป็นเมล็ดพันธุ์แห่งการทุจริต เพราะสังคมที่เคยชินกับระบบอุปถัมภ์และการใช้เงินเป็นเครื่องอุปถัมภ์ ย่อมเห็นเป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราจะมี “ผลประโยชน์ต่างตอบแทน” อย่างเช่นฝ่ายหนึ่งได้เงิน อีกฝ่ายหนึ่งได้อภิสิทธิ์ ด้วยความเต็มใจของทั้งสองฝ่าย

ในเมื่อสังคมไทยเป็นสังคมที่เอื้อต่อการทุจริตเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้พบเจอกับการทุจริตในทุกวงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการการศึกษา ซึ่งเงินสะพัดมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ค่าแป๊ะเจี๊ยะนี่เมื่อก่อนเราเคยคิดว่าต้องจ่ายเฉพาะเวลายัดเด็กที่สอบไม่ติดเข้าเรียน แต่เดี๋ยวนี้ถึงสอบติดก็ต้องจ่าย เพราะเป็น “ธรรมเนียม” เพียงแต่จ่ายน้อยหน่อย (“น้อย” ที่ว่านี่ก็หลักแสนนะจ๊ะ) นักเรียนที่เรียนเก่ง คือมีพื้นความรู้ความสามารถดีมาก่อนแล้ว โรงเรียนจะชอบมาก อยากได้ไว้ทำชื่อเสียงให้แก่โรงเรียน ทั้งในการสอบและการแข่งขันทางวิชาการต่างๆ เพราะถ้าโรงเรียนดังขึ้นมา ก็จะทำรายได้ได้มากขึ้น ทั้งจากค่าเทอมและค่าแป๊ะเจี๊ยะ ครูบางคนแทนที่จะสอนในห้องเรียนให้เต็มที่ กลับสอนกั๊กๆ เพื่อให้เด็กไปเรียนพิเศษนอกเวลากับตัวเอง แลกกับการได้ความรู้แบบเต็มๆ และได้รู้ข้อสอบล่วงหน้า ก็เท่ากับครูกินเงินสองต่อ เงินเดือนด้วย เงินค่าสอนพิเศษด้วย โดยที่ไม่รู้สึกว่านี่คือ “การทุจริต” หรือ “การโกง” แต่อย่างใด

นอกจากนี้ ค่านิยมของสังคมที่ให้คุณค่ากับทรัพย์สินเงินทองมากกว่าคุณสมบัติด้านอื่น ยังทำให้เราตัดสินคุณค่าของทุกอย่างโดยนำไปผนวกกับเรื่องเงินด้วย อย่างเช่น ถ้าเรียนเก่ง จะได้ทำงานดีๆ ถ้าได้ทำงานดีๆ ก็จะรวย #เห็นมะ แล้วทีนี้เราจะใช้อะไรวัดความเรียนเก่ง ก็ต้องผลการเรียน หรือ “เกรด” นี่แหละ วัดง่ายสุดแล้ว ดังนั้น เกรดจึงมีความสำคัญมากกกกก สำหรับการศึกษาในประเทศไทย เรียกได้ว่าเป็นเครื่องวัดความสำเร็จทางการศึกษาของคนเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตาม คนได้เกรดดีก็ใช่ว่าจะได้รับโอกาสดีๆ ตลอดเวลา เพราะ “โอกาส” มักจะมาถึงคนรวยก่อนเสมอ ตามค่านิยมของสังคมที่ให้ความสำคัญกับทรัพย์สินเงินทองมากกว่า ทีนี้เราจะทำยังไงให้เด็กเก่งของเรามีโอกาสดีๆ บ้าง ก็ต้องเอาเด็กไปเข้าโรงเรียนใหญ่ๆ ดังๆ ใช่มะ ทั้งหมดทั้งมวลนี้มันก็เอื้อให้เกิดการทุจริตในวงการการศึกษานั่นเอง เพราะเมื่อผู้ปกครองสามารถทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกได้เรียนโรงเรียนดีๆ เด็กสามารถทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เกรดดีๆ และถ้ามองให้ลึกลงไปอีก ก็จะเห็นว่าจริงๆ แล้วมันคือการที่ทุกคนสามารถทำทุกอย่างได้เพื่อเงิน และเพื่อสถานภาพทางสังคมที่มาพร้อมกับฐานะทางการเงิน ความทุจริตคดโกงก็ย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา และตามธรรมชาติ เพราะค่านิยมของสังคมมันเอื้อให้เป็นแบบนั้น

หนัง “ฉลาดเกมส์โกง” นำเสนอตัวละคร 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งคือเด็กเรียนเก่งแต่ขัดสนทางการเงิน ได้แก่ ลิน (แสดงโดย ออกแบบ – ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง) กับ แบงค์ (แสดงโดย นน – ชานน สันตินธรกุล) อีกกลุ่มหนึ่งคือเด็กเรียนไม่เอาไหนแต่ไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน ได้แก่ พัฒน์ (แสดงโดย เจมส์ – ธีรดนย์ ศุภพันธ์ภิญโญ) กับ เกรซ (แสดงโดย อุ้ม – อิษยา ฮอสุวรรณ) เมื่อถูกแวดล้อมด้วยการทุจริตใน “โรงเรียน” ซึ่งเป็นภาพแทนของ “สังคมไทย” ในหนังเรื่องนี้ เด็กสองกลุ่มนี้มีการตอบสนองที่แตกต่างกัน กลุ่มแรกเลือกที่จะโต้กลับด้วยการทุจริตที่เหนือชั้นกว่า กลุ่มที่ 2 เลือกที่จะหาผลประโยชน์ด้วยการชักชวนเด็กกลุ่มแรกมาสร้างรายได้จากการทุจริตด้วยกัน ซึ่งก็ตรงกับความต้องการของเด็กกลุ่มแรกพอดี เพราะ “เงิน” คือบ่อเกิดแห่ง “โอกาส” ในชีวิตของพวกเขา

ตลอดเวลา 130 นาทีที่เราได้ติดตามชีวิตของตัวละครทั้งสี่ และได้หัวหกก้นขวิดไปกับพวกเขา มันเป็นช่วงเวลาที่ระห่ำทางอารมณ์สำหรับดิฉันมาก ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

  1. หนังสนุกมาก ลุ้นระทึกจนถือได้ว่าเป็นหนังทริลเลอร์ชั้นดีเรื่องหนึ่ง แม้วิธีการโกงจะไม่ค่อยสมจริง แต่ความเว่อร์ก็เป็นความสนุกอย่างหนึ่ง 555
  2. การแสดงของนักแสดงทุกคนมีมิติ มีความลึก จนทำให้ระหว่างที่พวกเขากำลังปฏิบัติการโกงอยู่ คนดูอย่างดิฉันลุ้นจนตัวโก่งให้ทำสำเร็จ ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันไม่ดี การที่คนดูเอาใจช่วยตัวละครและอยู่ข้างเดียวกับตัวละคร โดยที่ในขณะเดียวกันก็รู้ว่าตัวละครกำลังทำความผิดนี้ ดิฉันถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งของหนัง เพราะแสดงให้เห็นว่า หนังสามารถสร้างความเข้าใจในตัวละครพร้อมๆ กับความตระหนักรู้ในความถูกต้อง แม้มันจะดูเป็นสิ่งที่สวนทางกัน
  3. จากแบบสำรวจความคิดเห็นที่ช็อกกันทั่วบ้านทั่วเมือง ว่าคนไทยจำนวนมากสามารถยอมรับรัฐบาลที่ทุจริตได้ ถ้าตนเองได้รับประโยชน์ด้วยนั้น หนังเรื่องนี้ชี้ให้เห็นเลยว่าทัศนะแบบนี้เกิดจากการนิยามคำว่า “โกง” ตามค่านิยมของสังคมไทย เช่น เห็นว่าการจ่ายค่าแป๊ะเจี๊ยะและการทำธุรกิจโกงข้อสอบไม่ใช่การโกง เพราะไม่มีใครเสียประโยชน์ วิน-วินทั้งสองฝ่าย แต่ไม่ได้มองเลยว่าคนที่เสียประโยชน์ก็คือคนที่ไม่ได้จ่ายและไม่ได้โกง ความคิดแบบนี้มีในสังคมไทยไม่ใช่น้อย เป็นความคิดของคนที่ไม่สามารถมองให้ไกลออกไปหรือพ้นไปจากตัวเองได้ ซึ่งทำให้การทุจริตคอร์รัปชันไม่เคยหมดไปจากสังคมไทยสักที ดังนั้น หนังเรื่องนี้จึงไม่ได้สะท้อนแค่ปัญหาของการศึกษาไทยเท่านั้น แต่เป็นการตีแผ่ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยจนถึงระดับรากเหง้า โดยนำเสนอผ่านเรื่องราวการคอร์รัปชันในวงการการศึกษา
  4. หนังแสดงให้เห็นว่า พ่อแม่ผู้ปกครองและครูที่มีมุมมองทางศีลธรรมบิดเบือนเลื่อนไหล มีผลต่อการเสริมสร้างทัศนะแบบข้อ 3 ให้แก่เด็กอย่างมาก การอบรมเลี้ยงดูเด็กให้มีความคิดความเห็นที่ถูกต้องจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคม แม้ว่าจะยากและเห็นผลช้า แต่ก็ยังดีกว่าการเรียกร้องให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงระบบ แต่ตัวเองไม่ทำอะไรเลย
  5. พัฒนาการของตัวละครในช่วงท้ายดูน่ากังขาเล็กน้อย ทั้งคนที่ก้าวเข้าสู่ด้านสว่างและก้าวเข้าสู่ด้านมืด แต่ถ้ามองว่ามันคือการ “โต้กลับ” อีกครั้งหนึ่งของตัวละคร ก็น่าสนใจดี

สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 195

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

16 พฤษภาคม 2560

(ขอบคุณภาพปกจาก youtube.com)