โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

9 กรกฎาคม 2015

ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 042; ดู The Wolfpack หรือชื่อไทยว่า “หมาป่าคอนกรีต” หนังสารคดีที่ฉายแค่ 2 โรงเท่านั้นในประเทศไทย คือ SF World Cinema @ Central World ที่กรุงเทพฯ กับ SFX Maya ที่เชียงใหม่ ในราคาแสนแพง กัดฟันซื้อตั๋วราคาถูกสุด ขนหน้าแข้งร่วงกราว

ถ้าดิฉันเห็นผู้ชาย 6 คน หน้าตาแบบในรูป ใส่สูท ใส่แว่นดำ เดินกันเป็นหมู่ผ่านไป ดิฉันคงจะคิดว่าพวกนี้เป็นแก๊งมาเฟียกำลังจะไปล่าหัวใครสักคน แล้วดิฉันก็จะรีบเดินหนี แต่คริสตัล มอเซลล์ (หญิงสาวในรูป) ไม่คิดเช่นนั้น เธอวิ่งตามพวกเขาไป และเมื่อได้พูดคุยกัน ได้รับรู้ชีวิตอันน่าอัศจรรย์ของพวกเขา เธอก็ขอถ่ายทอดออกมาเป็นภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Wolfpack โดยใช้เวลาถ่ายทำและตัดต่อรวม 5 ปี

เด็กหนุ่มทั้งหกเป็นพี่น้องท้องเดียวกัน พ่อเป็นชาวเปรู แม่เป็นชาวอเมริกัน ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในอพาร์ตเมนต์สำหรับคนรายได้น้อยที่โลเวอร์อีสต์ไซด์ ย่านเสื่อมโทรมในนิวยอร์ก พ่อให้พวกเขาไว้ผมยาวตั้งแต่เด็ก ตั้งชื่อ
พวกเขาเป็นภาษาสันสกฤตว่า ภควัน โควินทะ นารายณะ มุกุนทะ กฤษณะ จักดิศ และน้องสาวสุดท้องชื่อวิษณุ พ่ออยู่บ้านเฉยๆ ไม่ได้ทำงาน ส่วนแม่สอนหนังสือให้ลูกเองที่บ้าน จึงได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลเพราะมีใบอนุญาตการทำโฮมสกูล พ่อเป็นคนเดียวที่ถือกุญแจบ้าน และแทบไม่ให้ลูกๆ ออกจากบ้านเลยตั้งแต่พวกเขาเกิดจนโตเป็นหนุ่ม เด็กๆ เหล่านี้จึงได้รับรู้โลกภายนอกผ่านหน้าต่างอพาร์ตเมนต์ซึ่งอยู่บนชั้น 16 และผ่านการดูหนังเกือบ 5,000 เรื่องจากวิดีโอและดีวีดีที่พ่อสะสมไว้เท่านั้น

กิจกรรมที่พวกเขาทำร่วมกันคือ การดูหนังอย่างจริงจัง ลอกบทหนังจากซับไตเติ้ลแล้วพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดีด ทำ costume และ prop จากเศษวัสดุที่มีในบ้าน แล้วแสดงบทบาทต่างๆ ตามแบบในหนัง ทั้งหมดนี้พวกเขา

ตั้งใจและจริงจังมาก แถมยังทำได้ดีมากด้วย คอสตูมกับพร็อพนั้นมองเผินๆ นึกว่าของจริง แอ็กติ้งก็คม พูดบทคล่องปรื๋อเข้าปากยังกะนักแสดงมืออาชีพ แต่แน่นอนว่า กิจกรรมเหล่านี้ไม่อาจเติมเต็มความปรารถนาที่จะก้าวออกไปสู่โลกภายนอกได้ นานๆ ทีพวกเขาจึงออกไปเดินที่โน่นที่นี่ โดยออกไปแบบเนียนๆ ไปกันทั้งแพ็ค แล้วค่อยๆ บ่อยขึ้น พ่อเจอลูกตีเนียนแบบนี้ พอรู้ตัวอีกทีก็ห้ามอะไรไม่ทันแล้ว ต้องปล่อยเลยตามเลย

พ่อของเด็กทั้งหกให้สัมภาษณ์ถึงเหตุผลมากมายที่ทำให้เขาต้องกักขังลูกเมียไว้ในบ้าน เช่น สังคมภายนอกมันอันตราย บลาๆๆ แต่คนดูอย่างเราก็ทำความเข้าใจได้ไม่ยากว่า แท้จริงพ่อก็คือคนคนหนึ่งที่พ่ายแพ้แก่ชีวิต หรือเรียกง่ายๆ ว่า loser พ่อมีความฝันแต่ไม่มีความกล้าพอที่จะทำให้ฝันเป็นจริง และไม่เข้มแข็งพอที่จะฉุดตัวเองขึ้นมาจากความผิดหวังแล้วก้าวไปข้างหน้า พ่อจึงเลือกทางที่ง่ายกว่า คือโทษสังคม แล้วใช้มันเป็นข้ออ้างที่จะไม่ทำอะไรเลย ในขณะเดียวกัน การไม่ทำอะไรเลยนั้น ก็ทำให้เขาสูญเสียความนับถือตัวเองลงไปเรื่อยๆ ความรู้สึกนี้สั่นคลอนเขา ส่งผลให้เขาไม่มีความมั่นคงในจิตใจ จึงต้องเยียวยาตัวเองด้วยการทำอะไรก็ตามที่จะทำให้รู้สึกว่าตนมีอำนาจเหนือคนอื่น เพื่อเรียกความนับถือตัวเองกลับคืนมา โดยไม่แคร์ว่าการกระทำนั้นเป็นการทำร้ายคนอื่นอย่างไรบ้าง ผลก็คือ ลูกชายทั้งหกเติบโตขึ้นด้วยความรู้สึกที่ว่าพ่อทำลายชีวิตของพวกเขา ซึ่งเป็นบาดแผลที่คงไม่มีวันลบเลือนไปจากใจได้ และเมื่อตระหนักแน่แก่ใจแล้วว่าชีวิตเป็นของพวกเขาเอง ไม่ใช่ของพ่อ พวกเขาจึงก้าวออกไปมีชีวิตของตัวเอง และไม่คิดที่จะหวนกลับไปยังจุดเดิมอีก

อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ควรจะขอบคุณพ่ออย่างยิ่ง ก็คือการที่พ่อเลี้ยงลูกด้วยหนังมาตั้งแต่เกิด เด็กเหล่านี้ได้ดูหนังมากมายทั้งหนังดีหนังห่วย และดูมาทุกประเภท ความเชี่ยวชาญจึงบังเกิดขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือ พวกเขา ‘ดูหนังเป็น’ เมื่อดูหนังเป็น ความคิดวิจารณญาณก็เกิด ดังนั้น แม้จะไม่เคยได้สัมผัสโลกภายนอกเลย แต่ก็แยกแยะได้ว่าอะไรคือหนัง อะไรคือความเป็นจริง และเมื่อออกไปใช้ชีวิตข้างนอก ก็ไม่ได้ไปยิงกราดหรือไล่ฆ่าคนแบบโจ๊กเกอร์ แต่เลือกที่จะสำรวจลึกลงไปในจิตใจของแบทแมน แล้ววิเคราะห์เปรียบเทียบเพื่อหาความเป็นฮีโร่ในจิตใจของตัวเอง จึงกล่าวได้ว่า การดูหนังและกิจกรรมเกี่ยวกับหนังที่พวกเขาทำ ได้กลายเป็นกระบวนการที่เจียระไนสติปัญญาและกล่อมเกลาจิตใจของพวกเขาไปพร้อมๆ กัน ทำให้เติบโตขึ้นเป็น ‘คนปรกติ’ ได้ ไม่กลายเป็นมนุษย์จิตเสื่อมที่ออกมาทำร้ายสังคม นี่ยังไม่นับประเด็นเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่มากสำหรับดิฉัน คือ เด็กพวกนี้พูดภาษาอังกฤษได้เคลียร์คัตชัดเจนมีจังหวะจะโคนไพเราะเพราะพริ้งและเลือกสรรถ้อยคำได้อย่างดียิ่ง นี่เป็นผลจากการดูหนังอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะหนังฝรั่งนั้นให้ความสำคัญกับ diction มาก คุณสมบัติอย่างหนึ่งของนักแสดงคือต้องเป็นคนพูดชัด สังเกตได้จากเวลาดูหนังเราจะฟังภาษาปะกิดรู้เรื่องกว่าฟังคนพูดในชีวิตประจำวัน และบทหนังก็ช่วยให้เรามี ‘คลังคำ’ ที่หยิบมาใช้ได้ไม่สิ้นสุด ความสามารถในการสื่อสารที่พัฒนาขึ้นจากการดูหนังนี้ น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พวกเขาทั้งหกสามารถเปิดรับและปรับตัวให้เข้ากับโลกภายนอกได้อย่างรวดเร็ว แม้จะแทบไม่ได้สื่อสารกับคนอื่นๆ เลยตลอดช่วง 15 ปีแรกของชีวิต

ความน่าอัศจรรย์อย่างหนึ่งของการเกิดมาเป็นมนุษย์ก็คือ ชีวิตอาจจะพรากบางอย่างไปจากเรา แต่ก็จะหยิบยื่นบางอย่างให้เราเสมอ มันจะทดแทนกันได้หรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่า คือเราเลือกที่จะทำอย่างไรกับสิ่งที่เสียไปและได้มานั้น เราจะหยุดนิ่งแล้วจมอยู่กับความสูญเสีย หรือเดินหน้าต่อไปด้วยทุกสิ่งที่เรามีและที่ได้รับมา นี่อาจเป็น ‘สิทธิเสรีภาพ’ ที่มีคุณค่าและมีความหมายที่สุดในชีวิตของคนเราก็เป็นได้

ที่มารูป: http://assets.nydailynews.com



สรุป: จ่าย 180 ได้กลับมา 180