โรคกระดูกพรุนคืออะไร ทำไมถึงเป็นภัยเงียบ? ใครคือผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง?

หาคำตอบได้จากซีรีส์ “คุยกับหมอกระดูก” เรื่อง “โรคกระดูกพรุน ตอนที่ 1”

วิทยากร: รศ.นพ. ณัฐพล ธรรมโชติ
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โรคกระดูกพรุนคืออะไร

ร่างกายมีการสร้างและทำลายเซลล์กระดูกตลอดเวลา เมื่ออายุมากขึ้น ความสมดุลของการสร้างและทำลายเซลล์กระดูกเสียไป ทำให้เซลล์ที่ทำลายกระดูกทำงานมากขึ้น เซลล์ที่สร้างกระดูกสร้างตามไม่ทัน

โรคนี้มักพบมากในผู้หญิงที่เลยวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว เมื่ออายุ 70-80 ปี เซลล์ที่สร้างและทำลายกระดูกจะทำงานน้อยลงทั้งคู่ ทำให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลง

กลุ่มคนไข้ที่เสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน

  1. ผู้หญิงวัยหลังหมดประจำเดือน อายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป และเมื่ออายุถึง 70-80 ปี จะมีอาการของโรคกระดูกพรุนมากจนถึงขั้นกระดูกหักได้
  2. ผู้ที่ฮอร์โมนไทรอยด์สูง กระตุ้นให้เซลล์ที่ทำลายกระดูกทำงานมากขึ้น
  3. ผู้ป่วยที่ใช้ยาสเตียรอยด์ปริมาณมาก

ผู้ชายสามารถเป็นโรคกระดูกพรุนได้เช่นกัน แต่ความเสี่ยงน้อยกว่าผู้หญิง เนื่องจากผู้ชายมีมวลกระดูกมากกว่า