ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 180; ดู “App War แอปชนแอป” หนัง ‘รักระหว่างรบ’ ยุคไทยแลนด์ 0.4 เอ๊ย! 4.0

มานั่งนึกๆ ดู จำไม่ได้เหมือนกันว่า “แอปพลิเคชัน” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “แอป” เริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตเราตั้งแต่เมื่อไหร่ รู้ตัวอีกทีเราก็ขาดมันไม่ได้แล้ว เพราะใครที่มีมือถือสมาร์ตโฟนก็ต้องโหลดแอปมาใช้กันทุกคน ถ้าเปรียบมือถือเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ (จริงๆ ก็ไม่ต้องเปรียบ เพราะสมาร์ตโฟนมันก็คือเครื่องคอมพิวเตอร์ย่อมๆ นั่นแหละ) แอปก็คือโปรแกรมที่เราติดตั้งไว้ในเครื่อง เป็นโปรแกรมเสริมที่ช่วยตอบสนองไลฟ์สไตล์และทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายขึ้นในด้านต่างๆ

ผู้คิดสร้างสรรค์แอปจำนวนมากเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียแต่ไม่ค่อยมีทุนทรัพย์ เมื่อคิดทำแอปอะไรขึ้นมา ก็เลยต้องลงทุนแบบเล็กๆ น้อยๆ กะล่อยกะหลิบกันไปก่อน แล้วพยายามหาโอกาสเข้าไปนำเสนอไอเดียแก่นักลงทุนเพื่อจูงใจให้มาร่วมทุน ศัพท์สมัยใหม่เรียกการประกอบการแบบนี้ว่า สตาร์ตอัป (Startup) หรือภาษาไทยว่า “วิสาหกิจเริ่มต้น” #ยากจัง ที่ใช้คำว่า “วิสาหกิจ” ก็เพราะมันเป็นการประกอบการที่ยาก สลับซับซ้อน เสี่ยงต่อการขาดทุนหรือล้มละลาย ส่วนใหญ่จึงหมายถึงงานสายเทคโนโลยี เช่น การทำแอป ทำเว็บไซต์ ซึ่งนอกจากจะต้องมีไอเดียตั้งต้นที่ดี แปลกใหม่ และตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายแล้ว ยังต้องเขียนโปรแกรมให้เนี้ยบ และออกแบบรูปลักษณ์ให้โดนใจด้วย โอกาสที่จะพังตั้งแต่เริ่มต้นจึงมีสูง แต่ถ้าผ่านจุดเริ่มต้นหรือจุดที่เป็น ‘สตาร์ตอัป’ ขึ้นมาได้ ประมาณว่างานดีจนสามารถหาทุนหนาๆ มาสนับสนุนได้แล้ว มันก็จะกลายเป็นธุรกิจที่ทำเงินให้อย่างมหาศาล

ที่มาภาพ: imdb.com

หนัง “App War แอปชนแอป” เป็นเรื่องของหนุ่มสาวสตาร์ตอัป 2 คน ซึ่งรู้จักกันโดยบังเอิญ แล้วก็รู้สึกชอบพอกันเมื่อได้ค้นพบว่ามีรสนิยมเหมือนกันทุกอย่าง แต่ด้วยความที่จิตใจตรงกันเกินไปนี่แหละ ต่างฝ่ายจึงต่างเกิดแรงบันดาลใจที่จะทำแอปของตัวเองขึ้นมา แล้วดันทำออกมามีคอนเส็ปต์เหมือนกันเป๊ะ ก็เลยกลายเป็นว่า แม้ทั้งสองจะรู้สึกดีต่อกัน แต่ก็ต้องห้ำหั่นกันอย่างเอาเป็นเอาตาย เพื่อพัฒนาแอปของตนให้เหนือกว่าอีกฝ่ายในการประกวดสตาร์ตอัปที่กำลังจะมาถึง

ดิฉันเป็นคนที่เชยมาก นอกจากหนังแล้วก็ไม่ค่อยได้ดูอะไร ก็เลยไม่เคยเห็นหน้าค่าตารู้จักมักจี่นักแสดงคนใดในเรื่องเลย ความรู้สึกตอนที่ดูก็คือ มันเป็นใครวะเนี่ย ทำไมเล่นดีขนาดนี้ 555 แม้แต่น้องอร บีเอ็นเคฯ ดิฉันก็เพิ่งมารู้จักจากเรื่องนี้แหละ แล้วพอไปดู BNK48: Girls Don’t Cry (อ่านได้ในเบี้ยน้อยหอยน้อย 179) ก็ยิ่งรู้สึกว่าน้องแสดงได้ไม่เลวเลย เพราะตัวจริงของน้องค่อนข้างแตกต่างจากตัวละครใน App War พอสมควร

หนัง App War นี้โดดเด่นมากในการวางคาแรกเตอร์และบทบาทของตัวละครแต่ละตัว ทั้งยังจัดได้ว่าเป็นหนังที่จังหวะดีมากเรื่องหนึ่ง ความ ‘จังหวะดี’ ที่ว่านี้เกิดจากการจัดวางทุกอย่างให้มันมาในช่วงเวลาที่เหมาะ เป็นต้นว่า ชงไว้แล้วจะตบตอนไหน ขมวดไว้แล้วจะคลี่คลายเมื่อไหร่ ซึ่งถ้าทุกอย่างมาในจังหวะที่ใช่จริงๆ คนดูก็จะมีอารมณ์ร่วมไปได้สุด อย่างในเรื่องนี้ บทจะตลกก็ทำเอาขำแทบบ้า บทจะเข้าพระเข้านางก็เล่นเอาฟินจิกเบาะ ทั้งที่พระเอกนางเอกแทบไม่ได้ถูกเนื้อต้องตัวกัน บทจะซีเรียสจริงจัง ลิงโลด โกรธเกรี้ยว เศร้าซึม รู้สึกผิด ก็มาถูกที่ถูกเวลาทั้งสิ้น จนเมื่อเหตุการณ์เขม็งเกลียวขึ้นเรื่อยๆ มาถึงจุดจุดหนึ่ง ดิฉันก็พลันเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า หนังมันทำได้ขนาดนี้เลย แล้วนี่คือหนังไทยด้วยนะ เมื่อคิดเช่นนั้นน้ำตาก็ไหลออกมา

มีประเด็นหนึ่งซึ่งดิฉันแอบคิด คือทำไมทีมพระเอกกับทีมนางเอกจึงต้องต่อสู้กันด้วยการโกง ดิฉันก็เข้าใจเหตุผลตามเนื้อเรื่องอยู่แหละ ว่าในทีมของทั้งสองฝ่ายต่างก็มีคนที่อยากชนะจนไม่สนใจความถูกความผิด จึงออกอุบายส่งคนไปเป็นสปายสอดแนมทีมคู่แข่ง ซึ่งที่จริงสปายจำเป็นจากทั้งสองทีมก็ไม่ได้อยากทำแบบนี้ แต่ขัดคนในทีมไม่ได้ ส่วนพระเอกนางเอก ทั้งๆ ที่รู้ว่านี่คือสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ด้วยความเข้าใจผิดคิดว่าถูกอีกฝ่ายทรยศต่อความรู้สึกดีๆ ก็เลยอยากเอาชนะกันขึ้นมา แล้วทุกอย่างก็เลวร้ายลงเรื่อยๆ จนถึงขีดสุด เนื่องจากการเล่นไม่ซื่อของทั้งสองฝ่ายนี่เอง ทั้งหมดนี้หนังก็ผูกเรื่องมาดี เพียงแต่ดิฉันก็อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าสองทีมแข่งขันกันด้วยความสามารถจริงๆ ‘สงครามแอป’ ครั้งนี้ก็คงจะดุเด็ดเผ็ดมันไปอีกแบบ และเราก็จะได้เห็นการทำงานทำการจริงๆ ในหนังไทยร่วมสมัยบ้าง ก็น่าจะสนุกดี

สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 169

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

3 กันยายน 2561

(ขอบคุณภาพปกจาก lifestyle.campus-star.com)