ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 035; ใช้บัตรสะสมแต้มดู Avengers: Age of Ultron ที่ลิโด นั่งโซน 140 บาท ฟรี!!

ที่มารูป: dailyhdwallpaper.com

ในงานประเภทบันเทิงคดี (fiction) ฉากที่เกิดเหตุการณ์ของเรื่องอาจจะเป็นที่ที่ไม่มีอยู่จริง แต่เป็นดินแดนซึ่งจินตนาการขึ้นให้เป็น ‘โลกของตัวละคร’ หรือถ้าจะเปรียบให้ใหญ่กว่า ‘โลก’ ก็กล่าวได้ว่ามันคือ ‘จักรวาลของตัวละคร’ ที่ซึ่งตัวละครใช้ชีวิตและดำเนินบทบาทต่างๆ ตามท้องเรื่อง สิ่งนี้มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า fictional universe (ดิฉันแปลเองโง่ๆ ว่า จักรวาลของบันเทิงคดี) ซึ่งถ้าบันเทิงคดีหลายเรื่องเกิดขึ้นใน ‘จักรวาล’ เดียวกัน ก็จะเรียกว่า fictional shared universe (แปลขำๆ ว่า จักรวาลร่วมของบันเทิงคดี) เราคุ้นเคยกับ shared universe ในหนังมามากมาย เช่น Harry Potter ทั้ง 7 ภาค The Lord of the Rings + The Hobbit และ X-Men ทั้งหลาย แต่คงไม่มีจักรวาลใดแล้วที่ใหญ่โตกว้างขวางเท่า “จักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล” หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Marvel Cinematic Universe (MCU)

อันว่า “มาร์เวล” นั้นก็เป็นบริษัทที่ผลิตหนังสือการ์ตูนเกี่ยวกับซูเปอร์ฮีโร่ แล้วก็ขายลิขสิทธิ์การ์ตูนและตัวละครให้ค่ายต่างๆ เอาไปทำหนังมาเป็นเวลาช้านาน จนในที่สุดก็มีการดำริขึ้นมาว่า มาร์เวลควรผลิตหนังแฟรนไชส์ซูเปอร์ฮีโร่ของตัวเองให้อลังการบานตะเกียงได้แล้ว โปรเจ็กต์ MCU จึงเกิดขึ้น ประกอบด้วยหนัง ละครทีวี และหนังสั้น สำหรับหนังนั้นแบ่งออกเป็น 3 เฟส เฟสแรกจบไปแล้ว ได้แก่เรื่อง Iron Man, The Incredible Hulk, Iron Man 2, Thor, Captain America: The First Avenger และ Marvel’s The Avengers หนังรวมพลซูเปอร์ฮีโร่ภาคแรก เฟสสองซึ่งกำลังจะจบ ได้แก่เรื่อง Iron Man 3, Thor: The Dark  World, Captain America: The Winter Soldier, Guardians of the Galaxy, Avenger: Age of Ultron และ Ant-Man ซึ่งกำลังจะเข้าฉาย ส่วนเฟสสามซึ่งจะเริ่มปีหน้า มีอีก 10 เรื่อง (จ๊าก!) นี่ยังไม่รวมละครอีกสอง คือ Marvel’s Agents of S.H.I.E.L.D. (ชีลด์ คือหน่วยราชการลับที่ก่อตั้งทีมอเวนเจอร์) และ Marvel’s Agent Carter (เจ้าหน้าที่คาร์เตอร์คือนางเอกเรื่อง Captain America) ทุกเรื่องที่กล่าวมานี้ มีเนื้อหาและตัวละครเชื่อมโยงกันอย่างเป็นประวัติการณ์ เฉพาะจำนวนเรื่องที่โยงกันก็เยอะมาก แถมยังมีการโยงข้ามสื่อ คือหนังไปโยงกับละครทีวีด้วย วิธีการเชื่อมโยงก็ซับซ้อน เพราะมีตัวละครเอกหลายตัวที่มีหนังภาคแยกของตัวเอง แล้วหนังของแต่ละคนนั้นก็มีภาคต่อ พอเอาตัวละครเอกมารวมกันใน Avengers หนังภาครวมของทุกคนนี้ก็มีภาคต่ออีก แล้วชุดของหนังภาคต่อทั้งหมดนี้ก็มาเชื่อมโยงกัน แถมไปเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ ที่ไม่มีภาคต่อด้วย และด้วยความที่ผู้ผลิตวางแผนไว้หมดแล้วว่าจะทำอะไร เรียกได้ว่าเห็นภาพชัดไปจนจบโปรดักชันแล้ว บทหนังและละครของโปรเจ็กต์นี้จึงรัดกุมมาก หนังแต่ละเรื่องจบสมบูรณ์ในตัว แต่ในขณะเดียวกันก็จะเปิดประเด็นใหม่ แนะนำตัวละครใหม่ และโปรยรายละเอียดต่างๆ ไว้ตามรายทางตลอดเวลา เพื่อขยายไปสู่เรื่องอื่นๆ ในจักรวาลของหนัง ซึ่งอาจไม่ใช่ภาคต่อของตัวมันเอง เป็นต้นว่า เบาะแสที่ทิ้งไว้ใน Iron Man ของเฟส 1 อาจจะไปเฉลยใน Captain America ของเฟส 2 และจะไปมีบทบาทสำคัญต่อไปใน Avengers ของเฟส 3 ดังนั้น ถ้าอยากเข้าใจทุกอย่างในจักรวาลแห่งนี้อย่างแจ่มแจ้ง ก็ต้องดูหนังทุกเรื่องในจักรวาล แถมละครด้วยค่ะ! เอากะพ่อสิ!!

สำหรับดิฉันผู้ซึ่งดูไม่ครบ และไม่มีทางจะดูครบเลยในชาตินี้ พอมาดู Avengers: Age of Ultron ก็มีงงบ้าง เพราะแม้จะดู Iron Man และ Thor ทุกภาค และดู Avengers ภาคแรกมาแล้ว แต่ไม่ได้ดู Captain America บังเอิญ Avengers ภาคนี้มันดำเนินเรื่องต่อเนื่องกับ Captain America ภาค 2 (ห่านเอ๊ย!!) แต่ถึงจะงงบ้างเล็กๆ น้อยๆ ดิฉันก็ยังรู้สึกว่าหนังสนุกดี เพราะมันขับเคลื่อนไปด้วยกลุ่มตัวละครที่คาแรกเตอร์ชัด จนแค่ดูตัวละครก็สนุกแล้ว

ใน Avengers ภาคแรก เราได้เห็นการฟอร์มทีมของเหล่าซูเปอร์ฮีโร่ เพื่อต่อกรกับกองทัพจากต่างดาว นำโดยโลกิ น้องชายของธอร์ ครั้งนั้นโทนี่ สตาร์ค หรือ Iron Man รอดมาได้อย่างหืดขึ้นคอทีเดียว ทำให้แกหลอนไปเลย ดังที่ปรากฏใน Iron Man 3 และอยากเกษียณจากงานปกป้องโลกไปประดิษฐ์นู่นนี่เล่นอยู่บ้านสลับกับเอาใจเมียเต็มแก่ ใน Avengers ภาคนี้ แกเลยชวน ดร.บรูซ แบนเนอร์ หรือ The Hulk สร้างหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ขึ้นมา โดยใช้พลังจากคทาของโลกิ เพื่อให้มาช่วยดูแลโลกแทนทีมอเวนเจอร์บ้าง ตั้งชื่อหุ่นนี้ว่าอัลทรอน แต่ปรากฏว่าอัลทรอนดันฉลาดเกินไป มองเห็นถึงต้นตอของปัญหาเลยว่า สิ่งที่ทำให้โลกไม่ปลอดภัยก็คือมนุษย์นี่แหละ ดังนั้นการจะปกป้องโลกให้ได้ จึงต้องฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ (ฮาาาา) งานเลยเข้าทีมอเวนเจอร์ ต้องมาผนึกกำลังกันอีกครั้งเพื่อสยบอัลทรอน โดยมีตัวละครใหม่อีก 3 ตัวมาเสริมทีม ขยายจักรวาลของเรื่องให้กว้างไกลออกไปอีก

แม้หนังจะเต็มไปด้วยรายละเอียดที่ไม่ประนีประนอมกับคนดูที่ไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้เลย (แบบว่า ฉันไม่ง้อแกอ่ะ อีพวกคนดูขาจร ฉันมีกลุ่มเป้าหมายของฉันอยู่แล้ว เข้าใจตรงกันนะ) แต่ดิฉันว่าคนดูทั่วไปน่าจะสนุกกับฉากแอ็กชันของหนังได้ ฉากแอ็กชันทุกฉากได้รับการออกแบบมาอย่างดีทั้งในแง่บทบาทหน้าที่ของตัวละครแต่ละตัว วิธีการต่อสู้ ความต่อเนื่องของแต่ละช็อต องค์ประกอบภาพ และมุมกล้อง นอกจากนี้ ฉากแอ็กชันยังแสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมถึงการทำงานเป็นทีม ซึ่งเป็นประเด็นที่ดิฉันชื่นชอบมาตั้งแต่ Avengers ภาคแรกแล้ว ตัวละครแต่ละตัวมีลักษณะนิสัยแตกต่างกัน ความคิดความเห็นก็ขัดแย้งกัน แต่เวลาออกปฏิบัติการ ทุกคนก็ทำหน้าที่ของตนอย่างถวายหัว ไม่มีเกี่ยงงอน ไม่มีโบ้ยคนอื่น แต่ละคนยึดมั่นในแผนปฏิบัติการอย่างเหนียวแน่น ไม่มีใครแหกคอกออกมาทำเท่คนเดียว จึงประสานงานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดิฉันชื่นชมที่หนังนำเสนอสิ่งนี้ผ่านฉากแอ็กชันได้อย่างเหมาะเจาะ และดิฉันก็ตั้งใจไว้แล้วว่าจะไปดู Ant-Man อิๆๆ

สรุป: จ่าย 0 ได้กลับมา 115

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

13 พฤษภาคม 2015

(ขอบคุณภาพปกจาก wallpaperscrate.com)