ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 136; วันพุธสุดหรรษา ชวนกันมา ดู Baby Driver ที่โรงภาพยนตร์ใกล้บ้านท่าน

เมื่อตอนที่หนังเรื่องนี้ไปฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลภาพยนตร์และดนตรีเซาธ์บายเซาธ์เวสต์ (South by Southwest: SXSW) ที่เมืองออสติน รัฐเท็กซัส ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา หนังได้รับคำชมว่าเหมือน Gone in 60 Seconds ผสม La La Land ซึ่งในความรู้สึกของดิฉัน เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะดี 555 เคราะห์ดีที่คำชมนี้เป็นการเปรียบเทียบที่ค่อนข้างจะผิวเผิน ไม่ได้ลงลึกถึงแก่นแท้ของหนังจริงๆ

Baby Driver เป็นผลงานการสร้างสรรค์ของเอ็ดการ์ ไรต์ ผู้กำกับ-เขียนบทและโปรดิวเซอร์หนุ่มชาวอังกฤษวัย 43 แกเริ่มมีไอเดียเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ตั้งแต่ปี 1994 เมื่อแกอายุได้ 20 เท่านั้น แล้วพอ 9 ปีถัดมาแกก็นำไอเดียนี้ไปทำเป็นมิวสิควิดีโอเพลง Blue Song ให้วง Mint Royale มีเนื้อหาเกี่ยวกับชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งรักในเสียงเพลง แต่กลับประกอบมิจฉาอาชีวะเป็นคนขับรถให้โจรปล้นธนาคาร หลังจากนั้น แกก็ไม่ได้ทำหนังเรื่องนี้สักที ไปทำเรื่องอื่นๆ อยู่เป็นสิบเรื่อง รวมทั้งได้เป็นผู้ร่วมเขียนบทหนัง Ant-Man ของมาร์เวลสตูดิโอ และถูกวางตัวให้เป็นผู้กำกับด้วย แต่ทำไปได้สักพักแกก็ขอบาย เพราะความคิดเห็นไม่ตรงกับผู้ใหญ่ทางค่ายนั้น แล้วพอถอนตัวจาก Ant-Man ในปี 2014 แกก็เดินหน้าโปรเจ็กต์ Baby Driver ทันที โดยเขียนบท กำกับ รวมทั้งบริหารการผลิตเอง และเลือกแอนเซล เอลกอร์ต ผู้ซึ่งโด่งดังจาก The Fault in Our Stars มารับบท “เบบี้” พระเอกของเรื่อง

เหตุที่มีการเปรียบหนังเรื่องนี้กับ Gone in 60 Seconds น่าจะเป็นเพราะมีเรื่องราวเกี่ยวกับการโจรกรรมและการขับรถหลบหนีตำรวจด้วยทักษะระดับเทพ แต่จริงๆ แล้วนอกเหนือจากนั้นไม่มีอะไรเหมือนกันเลย หนัง Baby Driver ไม่ได้เน้นการโจรกรรม เพราะพระเอกไม่ได้เป็นโจรขโมยรถแบบในเรื่อง Gone in 60 Seconds แต่เป็นพลขับให้โจรเนื่องด้วยความจำเป็นบังคับ ทีนี้พอพระเอกเป็นพลขับ หนังก็เลยเน้นการขับอย่างสุดตีน คือมันขับอย่าง ‘สุดตีน’ จริงๆ นะ ทั้งเร็วและพลิกแพลงผาดโผน ดริฟต์แม่มทุกโค้ง ไม่มีเลี้ยวแบบปกติเลย นอกจากนี้ มันยังเป็นคนมีปฏิภาณไหวพริบ แม่นยำในแผน และตัดสินใจได้เฉียบขาดด้วย ดังนั้น แก๊งโจรที่มันขับรถให้จึงสามารถปล้นได้กลางเมืองในตอนกลางวันแสกๆ เพราะไม่ว่าการจราจรจะคับคั่งแค่ไหน หรือโดนตำรวจขับรถไล่บี้พร้อมด้วยเฮลิคอปเตอร์ตามสกัดอย่างไร มันก็สามารถขับแหกออกมาได้ทุกครั้ง

แต่ที่พีคสุดก็คือ ความมีดนตรีในหัวใจของมันนี่แหละ ซึ่งก็ต้องกราบไอเดียบรรเจิดของเอ็ดการ์ ไรต์ ที่ผูกเรื่องให้พระเอกมีความจำเป็นบางอย่างที่จะต้องใส่หูฟังฟังเพลงตลอดเวลา แล้วก็ใช้เพลงที่ฟังนั้นเป็นตัวกำหนดจังหวะและความเร็วในการขับรถหนีตำรวจ รวมทั้งการเคลื่อนไหวในทุกๆ อิริยาบถด้วย หลายๆ ท่านที่ใส่หูฟังฟังเพลงขณะเดิน คงจะเคยเดินให้เข้ากับจังหวะเพลงมาแล้ว ในช่วงเวลานั้นการเดินของเราจะสะเดิดกว่าปกติใช่มั้ยคะ นั่นล่ะฮ่ะ อิเบบี้เป็นแบบนั้นทั้งเรื่อง หนังจึงแอบมีสไตล์แบบมิวสิคัลเล็กๆ และมีความโรแมนติกจากความรักของพระเอกนางเอกซึ่งเคมีเข้ากันมากๆ เลยทำให้ถูกนำไปเปรียบกับ La La Land แต่นอกเหนือจากนั้นก็ไม่มีอะไรเหมือนกันเลย #เน้นย้ำ

ปกติหนังทั่วไป จะถ่ายทำให้เสร็จก่อนแล้วค่อยตัดต่อ แต่สำหรับ Baby Driver ผู้กำกับให้ถ่ายไปตัดไป โดยให้คนตัดต่อคือ พอล มาชลิสส์ มาออกกองด้วย พอถ่ายเสร็จฉากนึงปั๊บ ก็ให้ตัดต่อกันสดๆ ตรงนั้นเลย เพราะการเคลื่อนไหวทุกอย่างของตัวละครจะต้องเข้ากับเพลงที่พระเอกฟังในฉากนั้นแบบเป๊ะๆ ถ้าตัดต่อแล้วมีอะไรไม่เข้า จะได้ถ่ายเพิ่มได้เลยทันที ดังนั้น นอกจากมาชลิสส์จะต้องขนอุปกรณ์มานอนกลางดินกินกลางทรายกับกองถ่ายแล้ว ยังต้องตัดต่ออย่างรวดเร็วมือเป็นระวิงด้วย หลังจากหนังปิดกล้อง คีย์บอร์ดของเขาก็เยินจนไม่ควรจะใช้การอีกต่อไป เขาจึงแขวนมันไว้ที่ฝาบ้านเป็นอนุสรณ์ #ถ้าได้ออสการ์สาขาตัดต่อจากหนังเรื่องนี้ก็ไปปิดทองคีย์บอร์ดได้ – ดิฉันกล่าว

ที่มาภาพ: slashfilm.com

แอนเซล เอลกอร์ต เหมาะกับบทเบบี้อย่างที่คิดไม่ออกเลยว่าจะมีใครเหมาะไปกว่านี้ คาแร็กเตอร์นี้ค่อนข้างจะซับซ้อน เพราะมันเป็นคนที่จิตใจใสสะอาดบริสุทธิ์มาก เหมือนเด็กๆ แต่ก็มีความเป็นอาชญากรอยู่ในตัวไม่ใช่น้อย เวลาทำงานมันจะอัจฉริยะมาก แต่นอกเวลาทำงานจะทึ่มๆ นิดหน่อย ดูเผินๆ ละม้ายเด็กออทิสติกผสมเด็กกวนตีน แต่นั่นเป็นแค่การแสดงออกเพื่อปิดบังและกลบเกลื่อนอะไรบางอย่าง ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ปิดไม่มิด เพราะมันอยู่ท่ามกลางอาชญากรที่รอบจัดกว่ามันทั้งสิ้น คนดูจึงต้องลุ้นอย่างสุดกำลังว่ามันจะรอดพ้นจากสถานการณ์วายป่วงในเรื่องได้ยังไง

ผู้รับบทนางเอกคือ ลิลี เจมส์ เป็นคนที่มี sex appeal สูงมาก เห็นมาตั้งแต่เรื่องซินเดอเรลลาแล้ว มาถึงเรื่องนี้ยิ่งดึงเสน่ห์ของนางออกมาได้เต็มๆ ส่วนบรรดาอาชญากรทั้งหลาย นำทีมโดยนักแสดงระดับพระกาฬ 3 ท่าน ได้แก่ เควิน สเปซีย์ รับบท “ด็อก” เจมี ฟ็อกซ์ รับบท “แบ็ตส์” และจอน แฮมม์ รับบท “บัดดี้” ผู้เป็นผัวของนาง “ดาร์ลิ่ง” #ชื่อแต่ละคน ทั้งสามมีความฉลาดและความน่าพรั่นพรึง แบบที่เราต้องกลัวแทนพระเอกนางเอกเลยแหละ แต่ในขณะเดียวกันก็ตลกด้วย ตลกอย่างฉลาด ตลกอย่างน่ากลัว #ระดับออสการ์เลย – แบ็ตส์กล่าว (ประโยคนี้มีในหนังตัวอย่าง ไม่ได้สปอยล์จ้า)

สรุป: จ่าย 100 ได้กลับมา 185

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

22 กันยายน 2560

(ขอบคุณภาพปกจาก irishfilmcritic.com)