โดย Average Joe

13 ตุลาคม 2013

มีคนบอกว่า พล็อตเรื่องของ Gravity เล่าให้จบเป็นประโยคสั้นๆ ไม่เกินหนึ่งบรรทัดก็ได้ แต่พล็อตสั้นๆ ไม่เกินหนึ่งบรรทัดนี้ เมื่อเป็นหนังยาวชั่วโมงครึ่ง กลับมีแต่ความตื่นเต้น ระทึกใจ น่าติดตาม และสุดท้ายก็พาคนดูไปสู่จุดสูงสุดได้อย่างยอดเยี่ยม ยิ่งใหญ่ และเกรียงไกร

Tagline บนโปสเตอร์หนังเขียนไว้ว่า ‘Don’t Let Go’ สั้น กระชับ และครอบคลุมสารหลักของหนังได้ดีเยี่ยม ‘Let go’ ในที่นี้อาจจะหมายถึง อย่าปล่อยมือ” ในฉากที่ตัวละครทั้งสองพยายามยึดอีกฝ่ายไว้กลางอวกาศอันเวิ้งว้างกว้างไกล แต่ในอีกความหมายหนึ่ง สิ่งที่ Matt Kowalski (George Clooney) บอก Ryan Stone (Sandra Bullock) อาจจะแปลได้ว่า “อย่ายอมแพ้” ก็ได้ (ตายล่ะ นี่มันประโยคเดียวกับที่ Jack บอก Rose ใน Titanic เลยนี่นา โอ้ววว)

ที่มารูป: https://flaviomartins.me

คนที่ผ่านชีวิตมาพอสมควร คงจะรู้ซึ้งว่า ชีวิตที่แท้ย่อมเต็มไปด้วยอุปสรรคและความทุกข์ต่างๆ นานา ซึ่งความทุกข์นั้น อาจจะฉุดดึงเราให้จมจ่อมลงสู่ความมืดมน หรืออาจจะช่วยผลักดันให้เราถีบตัวขึ้นไปหาความสว่างก็ได้ ไม่มีมนุษย์คนใดที่เกิดมาแล้วจะสมบูรณ์แบบไปเสียทุกด้าน ความผิดพลาดในชีวิตจึงเป็นสิ่งที่อยู่คู่ ความเป็นมนุษย์” มาโดยตลอด ดังคำกล่าวของ Alexander Pope ที่ว่า ‘To err is human’ แต่ไม่ว่าเราจะทำผิดพลาดมากี่ครั้ง สิ่งที่คนเราสมควรได้รับคือโอกาสให้แก้ตัว หรือ second chance และในการแก้ตัวนั้น เราจำเป็นต้อง let go หรือปล่อยวางเรื่องร้ายๆ ทั้งหลายที่คอยถ่วงรั้งเราออกไปเสียก่อน และต้องจำไว้เสมอว่า สิ่งที่ไม่ควร let go มากที่สุด ก็คือชีวิตของเราเอง

(ข้อความในย่อหน้าต่อไปนี้กล่าวถึงฉากในหนัง ซึ่งอาจจะเป็น spoiler สำหรับคนที่ยังไม่ได้ดู กรุณาข้ามไปอ่านย่อหน้าถัดไปเลยครับ)

การได้รับ second chance นี้ ถูกนำมาเปรียบเทียบกับการเกิดใหม่ (rebirth) ซึ่งประเด็นนี้ถูกนำเสนอผ่านฉากสำคัญในหนังสองฉาก ได้แก่ตอนที่ Dr. Stone เข้ามาในยานอวกาศและทำท่าขดตัวเหมือนกับทารกในครรภ์ (สายระโยงระยางในยานก็ดูคล้ายกับสายสะดือเหลือเกิน) กับฉากตอนท้ายที่เธอโผล่ขึ้นมาจากน้ำ (น้ำเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดอยู่แล้ว) และพยายามจะลุกขึ้นยืนเมื่อขึ้นฝั่งได้ แต่ด้วยความที่เธออยู่ในอวกาศมานาน ขาเลยยังไม่แข็งแรง ทำให้เธอเดินเป๋ไปเป๋มาในช่วงแรกๆ ซึ่งดูคล้ายกับการหัดตั้งไข่ของเด็กอยู่ไม่น้อย

นอกจากสารอันเปี่ยมด้วยปรัชญาอันล้ำลึกของหนังแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์ เทคนิคการถ่ายทำ การกำกับเสียงและดนตรีประกอบ การแสดง ก็ถือได้ว่าเข้าขั้น “เมพ” และด้วยคุณสมบัติเมพๆ หลายประการของ Gravity น่าจะทำให้หนังเรื่องนี้ขึ้นทำเนียบ “หนังที่ควรดูก่อนตาย” ได้ไม่ยากนัก สิ่งหนึ่งใน “ความเมพ” หลายประการนั้น ที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ “ลองเทค”

ลองเทค (long take) หมายถึง ฉากที่ถ่ายต่อเนื่องกันโดยไม่ตัดเลย โดยปกติลองเทคในหนังใช้จับภาพฉากมุมกว้าง ตัวละครมักหยุดอยู่กับที่หรือกำลังเดินไปตามทาง (โดยจะแช่หรือไม่แช่กล้องก็ตาม) หรือไม่ก็ทำให้คนดูได้หยุดดื่มด่ำหรือซึมซับบรรยากาศของฉากที่อยู่ตรงหน้า ผู้กำกับหลายคนใช้ลองเทคในฉากเปิดของหนังเพื่อสร้างความอลังการ ตรึงคนดูให้ติดตามเรื่องที่ต้องการจะเล่าต่อไป ความเสี่ยงของลองเทคคือ ทุกอย่างในฉากต้องจัดเตรียมให้พร้อม ห้ามเกิดความผิดพลาดใดๆ ระหว่างการถ่ายทำแม้แต่น้อย มิฉะนั้นก็จะต้องเริ่มถ่ายใหม่ตั้งแต่ต้น ถ้าผู้กำกับไม่เก๋าจริง หรือวางแผนได้ไม่เป๊ะ ลองเทคอาจจะกลายเป็นความพยายามที่ไร้ประโยชน์ สิ้นเปลืองทั้งเวลาและงบประมาณ

ที่มารูป: http://www.universetoday.com

ลองเทคในหนังร่วมสมัยที่โด่งดังก็คงจะไม่พ้นฉากรถถูกโจมตีจากรอบด้านในหนัง Children of Men (2006) ของผู้กำกับ Alfonso Cuarón เอง อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือ ฉากเหล่าทหารบนหาดทรายในเรื่อง Atonement (2007) ของผู้กำกับ Joe Wright ที่น่าตื่นตะลึง โดยปกติลองเทคความยาว 3-5 นาทีก็ถือว่าเจ๋งแล้ว (ยิ่งมีรายละเอียดในฉากมาก ลองเทคนั้นก็จะยิ่งเจ๋งมาก) เมื่อพิจารณาว่าหนังฮอลลีวู้ดสมัยนี้มีความยาวต่อช็อตเพียง 5 วินาทีโดยเฉลี่ย แต่ Gravity กลับเปิดฉากด้วยลองเทคที่ยาวเกือบ 20 นาที ซึ่งนับว่าเป็นฉากลองเทคที่ประสบความสำเร็จทั้งผลลัพธ์ด้านภาพและอารมณ์ของหนังอย่างงดงาม

แม้หนังจะโดดเด่นเรื่องเทคนิคการสร้างที่อลังการและล้ำสมัย แต่การแสดงของ Sandra Bullock ก็สมควรได้รับการยกย่องเช่นกัน บางคนอาจจะคิดว่านักแสดงเรื่องนี้คงไม่ต้องพยายามอะไรมาก ได้แต่ส่งเสียงตกใจในฉากหายนะวายป่วง (ดังที่หลายคนค่อนขอดเมื่อได้ดูแค่ trailer) หน้าก็มองไม่เห็นเพราะส่วนใหญ่อยู่แต่ในชุดอวกาศที่ใหญ่เทอะทะ แถมอยู่ในหนังที่มีซีจีเป็นจุดขายด้วยซ้ำ แต่ด้วยข้อจำกัดมากมายนี้เอง ทำให้การแสดงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าไม่ใช่นักแสดงที่มีฝีมือจริงๆ หลายฉากในหนังอาจจะดูตลกและไม่น่าเชื่อ และคงไม่สามารถพาอารมณ์ของหนังให้ไปสู่ climax ในตอนท้ายของเรื่องได้เลย

ไม่รู้ว่ามีใครเอาเรื่อง Life of Pi มาเทียบกับ Gravity แล้วหรือยัง แต่ส่วนตัวคิดว่าหนังสองเรื่องนี้มีส่วนคล้ายคลึงกันพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวละครน้อย (เรื่องแรก คนหนึ่ง เสือหนึ่ง เรื่องที่สอง นักบินอวกาศสองคน) สถานที่ที่เกิดเรื่องหลักๆ มีที่เดียว และเป็นที่ที่เวิ้งว้างหาจุดสิ้นสุดมิได้ (เรื่องแรก กลางมหาสมุทร เรื่องที่สอง ในอวกาศ) ใช้เทคนิคพิเศษด้านภาพเยอะ และที่สำคัญคือ หนังเล่าเรื่องของคนคนเดียว แต่ทว่าสารของเรื่องกลับส่งผลเป็นวงกว้างเกินกว่าชีวิตของคนคนเดียวไปไกลนัก

ชมมากันเสียขนาดนี้ 10/10 ไปเลยครับ ^_^

ปล. อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับลองเทคได้ในนิตยสาร Bioscope ฉบับที่ 140 กันยายน 2013 หน้าปก Naomi Watts (เอ๊ะ หรือ Diana กันนะ)

ปล. 2 กลายเป็นแฟนผลงานของผู้กำกับ Alfonso Cuarón ไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อมาลองไล่ดูก็ปรากฏว่า ติดตามดูหนังของเขามาเกือบทุกเรื่อง ตั้งแต่ Sólo con tu pareja (Love in the Time of Hysteria, 1991), A Little Princess (1995), Great Expectations (1998), Y tu mamá también (And Your Mother Too, 2001), Harry Potter and the Prisoner of Azkaban (2004), Children of Men (2006) จนถึงเรื่องล่าสุดคือ Gravity