โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

3 มีนาคม 2017

ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 099; ดูหนังสารคดี Life, Animated ที่ SFX เซ็นทรัลพระราม 9 ห้างสรรพสินค้าใกล้บ้าน ดูวันพุธราคาร้อยเดียว ต่อไปนี้โรงหนังแห่งนี้จะเป็นโรงประจำของเบี้ยน้อยฯ (เฉพาะวันพุธ) ตลอดไป

ที่มาภาพ: www.awn.com

หนังเรื่องนี้มีชื่อภาษาไทยว่า “ขอบคุณนะที่โลกนี้มีการ์ตูน” เป็นเรื่องจริงของเด็กออทิสติกคนหนึ่งซึ่งสามารถพัฒนาทักษะการสื่อสารและการทำความเข้าใจโลกได้อย่างน่าอัศจรรย์ ผ่านการดูหนังการ์ตูนดิสนีย์ที่เขาหลงใหล กำกับโดย โรเจอร์ รอสส์ วิลเลียมส์ ผู้สร้างประวัติศาสตร์ในฐานะผู้กำกับผิวสีคนแรกที่ได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้นยอดเยี่ยม ประจำปี 2009

วิลเลียมส์ทำหนังเรื่องนี้โดยต่อยอดจากหนังสือของ รอน ซัสไกนด์ นักเขียน-นักหนังสือพิมพ์รางวัลพูลิตเซอร์ (รางวัลสูงสุดสำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ในอเมริกา) ผู้ถ่ายทอดประสบการณ์การเลี้ยงดูลูกชายคนเล็กซึ่งเป็นเด็กออทิสติก โดยใช้หนังการ์ตูนดิสนีย์เป็นเครื่องมือสำคัญ หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า Life, Animated: A Story of Sidekicks, Heroes, and Autism ซึ่งเป็นชื่อที่สื่อถึงโอเวน ลูกชายของเขา รวมทั้งอิทธิพลของหนังการ์ตูนที่มีต่อโอเวน ได้อย่างคมคาย

คำว่าแอนิเมชัน (animation) ซึ่งเป็นคำที่เราใช้เรียกหนังการ์ตูนนั้น มาจากคำกริยา animate แปลว่า ทำให้มีชีวิต ถ้าเป็นคุณศัพท์ก็ animated แปลว่า มีชีวิตชีวา หรือ (สิ่ง) ที่เหมือนมีชีวิตขึ้นมาจริงๆ ดังนั้น เราจึงเรียกหนังการ์ตูนว่า animated film หรือ animation เพราะมันเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้ราวกับมีชีวิต

โอเวนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคออทิซึมเมื่ออายุได้ 3 ขวบ (Autism เป็นชื่อโรค ส่วน autistic เป็นคำคุณศัพท์ ทำหน้าที่ขยายคำอื่น เช่น ขยาย “เด็ก” เป็น “เด็กออทิสติก” แต่ถ้าใช้ว่า “โรคออทิสติก” ก็ผิดอ่ะนะ เพราะมันไม่ใช่ชื่อโรค) หลังจากโอเวนเริ่มมีอาการ เด็กชายที่เคยร่าเริงฉลาดปราดเปรียว ก็กลับกลายเป็นเซื่องซึม ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และสูญเสียความสามารถทางการพูดไปโดยสิ้นเชิง ราวกับถูกพรากชีวิตไปทั้งที่ยังมีลมหายใจอยู่ สิ่งเดียวที่ทำให้เขา “มีชีวิตชีวา” ขึ้นมาได้ ก็คือแอนิเมชันของดิสนีย์ จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณพ่อของเขาคิดค้นปฏิบัติการ “การ์ตูนบำบัด” ขึ้นมา แล้วทั้งครอบครัว อันได้แก่คุณแม่และวอลเตอร์ พี่ชายของโอเวน ก็เข้าร่วมในปฏิบัติการนี้อย่างเข้มแข็ง

โดยทั่วไป คนที่ดูหนังการ์ตูนก็มักจะอยากเป็นพระเอก (hero) แต่โอเวนมีความผูกพันกับตัวรองที่เรียกว่า sidekick มากเป็นพิเศษ คำว่า “ไซด์คิก” นี้ เป็นศัพท์สแลง ในทางวรรณกรรมหมายถึงตัวละครที่เป็นคนสนิทของตัวเอกไม่ว่าฝ่ายดีหรือฝ่ายร้าย ลักษณะเป็นทั้งเพื่อนและลูกน้องซึ่งมีบทบาทสนับสนุนตัวเอก คำคำนี้ถ้าพูดเป็นภาษาไทย ดิฉันนึกถึงคำว่า “คู่หู” แต่มันก็ดูเป็นเพื่อนเกินไป ไม่ค่อยดูเป็นลูกน้อง ในหนังเขาแปลว่า “ลูกคู่” หมายถึง “ผู้สนับสนุน” ก็ดูแยบคายดี

การที่โอเวนโปรดปรานตัวละครลูกคู่อย่างมากนี้ สัมพันธ์เกี่ยวข้องโดยตรงกับมุมมองที่เขามีต่อโลกและชีวิต เมื่อเขาผ่านพ้นวัยเด็กมาจนเป็นหนุ่มอายุ 23 กำลังจะเรียนจบและออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเอง หนังเรื่องนี้จึงไม่ได้เล่าแค่โอเวนเรียนรู้โลกผ่านหนังการ์ตูนได้อย่างไร แต่ยังตามติดไปดูว่า เขาจะสามารถเรียนรู้ชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริงได้หรือไม่ด้วย เลยกลายเป็นว่า ผู้ชมก็ได้เรียนรู้ชีวิตผ่านการเรียนรู้ชีวิตของโอเวนอีกทีหนึ่ง #อลัง

เนื่องจากโอเวนทำความเข้าใจโลกและชีวิตด้วยการเทียบเคียงกับแอนิเมชันที่เขาเคยดู ผู้กำกับโรเจอร์ รอสส์ วิลเลียมส์ จึงนำแอนิเมชันมาช่วยเล่าเรื่องใน 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นคลิปที่ตัดมาจากแอนิเมชันต้นฉบับหลายๆ เรื่องของดิสนีย์ ใช้ถ่ายทอดความรู้สึกของโอเวนในสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งเทียบเคียงได้กับแอนิเมชันฉากนั้นๆ ในส่วนนี้วิลเลียมส์ไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์เลย เพราะพอประธานฝ่ายโปรดักชันของดิสนีย์ได้ทราบเรื่องโอเวน ก็ไฟเขียวให้นำไปใช้ได้โดยสะดวก ซึ่งเมื่อตัดต่อให้สอดประสานเข้ากับเรื่องของโอเวนในแต่ละบทตอนแล้ว คนรักการ์ตูนอย่างดิฉันก็อดซาบซึ้งจนน้ำตาคลอไม่ได้

แอนิเมชันอีกส่วนหนึ่งที่ใช้ในการเล่าเรื่อง เป็นแอนิเมชันที่ทำขึ้นใหม่ ถ่ายทอดเรื่องราวตอนเด็กๆ ของโอเวนในโลกแห่งออทิซึม และที่เจ๋งสุดคือ ทำให้นิทานที่โอเวนแต่งกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวขึ้นมาจริงๆ พูดแล้วจะหาว่าคุย โอเวนแต่งนิทานนะค้าาา เขาทำได้ทุกอย่าง อ่านหนังสือ เขียนหนังสือ ขี่จักรยาน แม้กระทั่งก่อตั้งชมรมให้เพื่อนๆ ในโรงเรียนมาพูดคุยวิเคราะห์วิจารณ์เกี่ยวกับแอนิเมชันดิสนีย์ แล้วเมื่อเขามีความกลัดกลุ้มกังวลที่ยากจะอธิบายอย่างตรงไปตรงมา เขาก็เลือกที่จะแสดงออกด้วยการแต่งเป็นนิทาน และวาดรูปตัวการ์ตูน ซึ่งวาดสวยมากราวกับแอนิเมเตอร์มาเอง

ผลก็คือ Life, Animated ได้รับรางวัลพิเศษ (Special Achievement Award) ในการประกาศผลรางวัลแอนนี อวอร์ดส ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับภาพยนตร์แอนิเมชันโดยเฉพาะ ทั้งๆ ที่ไม่อาจถือได้ว่าเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันเต็มตัว เพราะใช้แอนิเมชันช่วยในการดำเนินเรื่องเพียงบางส่วน แต่เรื่องราวของหนังได้แสดงให้เห็นถึงคุณูปการของแอนิเมชันที่มีต่อชีวิตมนุษย์ ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ว่าหยาดเหงื่อแรงงานและความทุ่มเทของผู้ผลิตแอนิเมชันก่อให้เกิดผลที่ยิ่งใหญ่เพียงใด

ดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่ได้การ์ตูนช่วยชีวิตมาตั้งแต่เด็กจนโต เข้าใจดีอยู่แล้วถึงพลังของการ์ตูนที่อาจเปลี่ยนชีวิตคนคนหนึ่งได้ แต่เมื่อมาเห็นว่า การ์ตูนทำได้ถึงขั้น “มอบชีวิต” ให้แก่คนซึ่งในทางการแพทย์ยังแทบไม่มีวิธีการที่จะบำบัดรักษา ก็รู้สึกตื้นตันท่วมท้นจนอยากกราบพ่อกราบแม่รัวๆ ที่พาพวกเราดูการ์ตูนตั้งแต่เด็กๆ แน่นอนว่าครอบครัวมีส่วนสำคัญมากในการหล่อหลอมชีวิตคน และ Life, Animated ก็แสดงให้เห็นอย่างแจ่มแจ้ง ถ้าพ่อแม่ของโอเวนไม่พยายามทำความเข้าใจเด็กออทิสติก และไม่สังเกตเห็นว่าการ์ตูนนี่แหละคือกุญแจที่จะเปิดประตูนำโอเวนออกมาสู่โลกภายนอก ก็คงไม่สามารถดึงศักยภาพของโอเวนออกมาได้ถึงเพียงนี้ ดังนั้น นอกจากหนังจะพูดถึงพลังของการ์ตูนแล้ว ยังพูดถึงพลังของครอบครัวด้วย ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะก่อร่างสร้างชีวิตมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งแม้จะมีอะไรบางอย่างแตกต่างจากคนทั่วไป แต่ก็สามารถเติบโตขึ้นได้อย่างมีคุณภาพ ด้วยความเข้าใจโลกและชีวิตตามเป็นจริง

สรุป: จ่าย 100 ได้กลับมา 160

หมายเหตุ: Life, Animated เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมประจำปีนี้ โอเวนและคุณพ่อคุณแม่ได้ไปร่วมพิธีประกาศรางวัลด้วย ในวันนั้น คุณพ่อได้ทวิตภาพคุณแม่และโอเวนในงาน พร้อมคำบรรยายว่า “หนังเราไม่ชนะ แต่การได้อยู่ในงานนี้คือความฝันของเด็กหนุ่มคนหนึ่งผู้ซึ่งเปลี่ยนสิ่งที่เขารัก-ภาพยนตร์-ให้กลายเป็นหนทางเชื่อมสัมพันธ์กับโลก” #น้ำตาไหล (ข้อมูลจากเพจ Documentary Club)

ภาพ: โอเวน ซัสไกนด์ กับคุณพ่อ คุณแม่ พี่ชาย และผู้กำกับ โรเจอร์ รอสส์ วิลเลียมส์
โดย Jay L. Clendenin / Los Angeles Times

(ขอบคุณภาพปกจาก www.awn.com)