ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 074; ดู After the Storm หนังเรื่องแรกในโครงการ The Little Big Films Project ครั้งที่ 11 ซึ่งจัดโดยสหมงคลฟิล์ม ค่ายหนังของเสี่ยเจียง โครงการนี้จัดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2542 เพื่อฉายหนังต่างประเทศที่อาจจะไม่ได้สร้างหรือจัดจำหน่ายโดยสตูดิโอใหญ่ๆ แต่ก็เป็นหนังดีที่ได้รับความชื่นชมในระดับนานาชาติ ดิฉันได้รู้จักหนังอย่าง Ma vie en Rose (เบลเยียม) Hedwig and the Angry Inch (อเมริกา) Japanese Story (ออสเตรเลีย) และ City of God (บราซิล) ก็จากโครงการนี้แหละ แต่ว่าเขาจัดต่อเนื่องมาจนถึงปี 2549 ก็หยุดไป เพราะตอนนั้นคนไทยมีโอกาสและช่องทางมากขึ้นแล้วที่จะได้ดูหนังเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่แบบนี้ ผ่านมา 10 ปี โอกาสและช่องทางลดลงหรือเปล่าก็ไม่ทราบ 555 สหมงคลฟิล์มจึงรื้อฟื้นโครงการขึ้นมาอีกครั้งในปีนี้ โดยจัดต่อเป็นครั้งที่ 11 ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน – 27 ตุลาคม 2559 ใช้ชื่อโครงการว่า “heart” ฉายหนัง 4 เรื่องจาก 4 ประเทศ ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความเข้มแข็งของจิตใจคน

ที่มารูป: s-media-cache-ak0.pinimg.com

หนังเปิดโครงการครั้งนี้ ก็คือ After the Storm จากประเทศญี่ปุ่น กำกับ เขียนบท และตัดต่อโดย โคเรเอดะ ฮิโรคะสุ ผู้ที่เขียนบท กำกับ และโปรดิวซ์หนังอันดับหนึ่งในดวงใจของดิฉัน ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังไม่มีเรื่องใดเทียบเทียมได้ หนังที่ว่าก็คือ Nobody Knows (ปี 2004) ซึ่งโคเรเอดะได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริงของเด็กญี่ปุ่น 5 คนที่ถูกแม่ทิ้งไว้ในอพาร์ตเมนต์และต้องใช้ชีวิตด้วยตัวเอง หนังเรื่องนี้ส่งให้น้องยะกิระ ยูยะ (ตอนนั้นอายุ 14 ปี) ผู้รับบทพี่ชายคนโตในเรื่อง ได้รับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากเทศกาลภาพยนตร์เมืองกานส์ ปี 2004 โดยเป็นนักแสดงญี่ปุ่นคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ หลังจากความสำเร็จของ Nobody Knows หนังของโคเรเอดะก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีมาโดยตลอดทั้งในประเทศญี่ปุ่นและต่างประเทศ อย่างในประเทศไทยหนังแกก็ได้เข้าฉายเกือบทุกเรื่อง ตั้งแต่ Still Walking (ปี 2008) Air Doll (ปี 2009) I Wish (ปี 2011) Like Father, Like Son (ปี 2013) และ Our Little Sister (ปี 2015) ดังนั้นดิฉันว่าจริงๆ แล้ว After the Storm นี้ไม่ต้องเอามาฉายในโครงการก็ได้มั้ง เพราะซื้อมาฉายตามปกติคนก็ดูอยู่แล้วล่ะ 555

ความเชี่ยวชาญอันเป็นเอกลักษณ์ของโคเรเอดะ คือการทำหนังเกี่ยวกับครอบครัวซึ่งอาจจะไม่ได้มีพ่อแม่ลูก (ที่แท้จริง) อยู่กันพร้อมหน้า แต่สมาชิกในครอบครัวก็ยังพยายามดำเนินชีวิตกันต่อไปด้วยสายใยผูกพันที่ยึดโยงกันไว้อย่างเหนียวแน่น เรื่อง After the Storm ก็เช่นกัน หนังบอกเล่าเรื่องราวของเรียวตะ นักเขียนตกอับที่ถูกเมียฟ้องหย่า จะได้เจอลูกชายก็แค่ในวันที่นัดกันมาจ่ายค่าเลี้ยงดูเท่านั้น แต่เขาก็ยังพยายามดิ้นรนสุดชีวิตที่จะให้ครอบครัวกลับมาอยู่ด้วยกันเหมือนเดิม โดยมีตัวช่วยคือพายุไต้ฝุ่นซึ่งกำลังจะเข้าญี่ปุ่น กับแม่ของเขาซึ่งใช้ชีวิตอยู่ตามลำพังอย่างสตรองในแฟลตของโครงการอาคารสงเคราะห์ โคเรเอดะใช้บริการนักแสดงเจ้าประจำ ได้แก่ อะเบะ ฮิโรชิ แสดงเป็นเรียวตะ (ท่านใดได้ดูละครเรื่อง Change นายกมือใหม่หัวใจประชาชน น่าจะจำแกได้ แกเล่นเป็นหัวหน้าทีมวางแผนการเลือกตั้งของพระเอก) และอีกท่านหนึ่งคือคุณคิขิ คิริน เสด็จย่าของวงการ แสดงเป็นแม่ของเรียวตะ (เมื่อตอนที่ท่านรับบทแม่ในหนังเรื่อง Tokyo Tower: Mom and Me, and Sometimes Dad ทำเอาดิฉันตายสนิทไปหลายวันหลังจากดูจบ) ผู้รับบทเมียเก่าของเรียวตะคือ มากิ โยโกะ ก็เคยร่วมงานกับโคเรเอดะใน Like Father, Like Son แสดงเป็นคุณแม่ของเด็กที่ถูกสลับตัวกับลูกอีกบ้านหนึ่งแล้วเพิ่งมารู้เมื่อลูกอายุได้ 7 ขวบ ส่วนผู้รับบทลูกชายเรียวตะ คือน้องโยชิซะวะ ไทโย ซึ่งหน้าตาน่ารักสุดๆ และแสดงได้เป็นธรรมชาติมาก ความสามารถในการคัดเลือกและกำกับนักแสดงเด็กของคุณพี่โคเรเอดะนี่ก็เป็นที่ยอมรับมาตั้งแต่ปั้นน้องยูยะแล้วอ่ะนะ งานนี้ก็ต้องยกให้แกจริงๆ #ปลื้มมากในจุดนี้

นอกจากนี้ After the Storm ยังมี ‘ความโคเรเอดะ’ ที่ดิฉันชื่นชอบอีก 3 ประการ

ประการแรก แม้หนังจะกล่าวถึงเพียงครอบครัวเดียว แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนปัญหาครอบครัวและปัญหาสังคมของคนญี่ปุ่นด้วย อย่างการที่คนแก่ต้องใช้ชีวิตอยู่คนเดียวเมื่อลูกแยกย้ายไปมีชีวิตของตัวเองนี่ก็ปัญหาหนึ่ง แต่เมื่อเรื่องดำเนินไป หนังก็เผยให้เราเห็นว่า ปัญหาที่ดูจะหนักหนาไม่แพ้เรื่องคนแก่ ก็คือเรื่องของคนวัยทำงานที่ต้องเผชิญกับภาวะ ‘แหลกสลาย’ เมื่อพบว่าตัวเองไม่สามารถเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่ปรารถนาจะเป็นได้

ประการที่สอง แม้หนังจะกล่าวถึงปัญหาหนักๆ ดังที่ว่ามาเมื่อกี้ แต่น้ำเสียงในการเล่าเรื่องกลับผ่อนคลายและเต็มไปด้วยความหวัง สรุปเป็นปฏิพากย์พจน์ได้ว่า “นำเสนอความอ้างว้างได้อย่างอบอุ่น” #คมมากกก

ประการที่สาม แม้หนังจะมีท่าทีในการนำเสนอที่ชัดเจนดังที่ว่ามาเมื่อกี้ แต่ก็เปิดพื้นที่ไว้ให้คนดูคิดต่ออย่างกว้างขวาง ประเด็นนี้เห็นได้ตั้งแต่ชื่อเรื่อง หนังมีชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า Umi yori mo Mada Fukaku แปลว่า “แม้เทียบกับทะเลก็ยังคงลึกกว่า” จากชื่อนี้ พอดูจบคิดได้เยอะแยะเลยว่าอะไรบ้างที่ ‘ยังคงลึกกว่าทะเล’ ส่วนชื่อภาษาอังกฤษก็ชวนให้คิดเหมือนกันว่า หลังจากพายุไต้ฝุ่นลูกนั้นพัดผ่านไปแล้ว ชีวิตของแต่ละคนจะดำเนินต่อไปอย่างไร

พอมาดูชื่อไทย อาจจะไม่เข้าพวกเพราะไม่เน้นการตีความ แต่ก็น่ารักดีไม่ใช่น้อย แถมเข้ากับชื่อไทยของ Like Father, Like Son ด้วย เพราะเรื่องนั้นชื่อ “พ่อครับ, รักผมได้ไหม?” เรื่องนี้ชื่อ “รักได้มั้ย พ่อคนนี้” โดยคุณพ่อของทั้งสองเรื่องชื่อเรียวตะเหมือนกัน 555 #มีความโคเรเอดะ

สรุป: จ่าย 120 ได้กลับมา 140

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

25 กันยายน 2560