ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 151; ดู Murder on the Orient Express หนังที่สร้างจากนวนิยายสืบสวนสอบสวนของ อกาธา คริสตี

เด็กรุ่นใหม่จะรู้จักคุณหญิงอกาธา คริสตี หรือเปล่าก็ไม่รู้สิ แต่สำหรับคนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่อย่างดิฉัน ชื่อนี้ขลังพอๆ กับ เจ. เค. โรว์ลิง ในปัจจุบัน หรืออาจจะมากกว่าด้วย ท่านเป็นนักเขียนชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงก้องโลกจากผลงานการประพันธ์นวนิยาย เรื่องสั้น และบทละครเวที ตั้งแต่ปี 1920-1975 (พ.ศ. 2463-2518) ถ้านับเป็นเรื่องก็ราวๆ 300 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นแนวสืบสวนสอบสวน จนได้รับยกย่องเป็น “ราชินีแห่งอาชญนิยาย” ผู้มีสไตล์โดดเด่นในการผูกเรื่องให้ลึกลับซ่อนเงื่อนเกินคาดเดา ท่านเป็นนักเขียนฝรั่งคนแรกที่ดิฉันรู้จัก เพราะแม่ดิฉันเป็นติ่งตัวยง นัยว่าตอนตั้งท้องก็ยังอ่านนิยายลึกลับสืบสวนฆาตกรรมอยู่ จนหมอสั่งให้เลิกอ่าน เพราะจะมีผลกับลูกในท้อง แต่พิจารณาจากความพิลึกพิลั่นของลูกทั้งสามคนแล้ว คาดว่าแม่อาจจะเลิกอ่านช้าไป

ตามธรรมดาในนิยายสืบสวนสอบสวน ตัวละครเอกก็ต้องเป็นนักสืบ หนึ่งในนักสืบเจ้าประจำของอกาธา คริสตี ซึ่งน่าจะเป็นหนึ่งในตัวละครนักสืบที่โด่งดังที่สุดของโลกด้วย ก็คือ แอร์กูล ปัวโรต์ นักสืบวัยเกษียณ (แต่ไม่ได้เกษียณ) ชาวเบลเยียม ปัวโรต์เป็นตัวละครเอกผู้ไขคดีฆาตกรรมปริศนาในนวนิยาย 33 เรื่อง บทละคร 1 เรื่อง และเรื่องสั้นมากกว่า 50 เรื่อง ของคุณหญิงอกาธา Murder on the Orient Express เป็นนวนิยายเรื่องที่ 16 ของคุณหญิง และเรื่องที่ 8 ในชุดการสืบสวนของปัวโรต์ แต่ถ้านับรวมเรื่องสั้นด้วยจะเป็นเรื่องที่ 19 ของปัวโรต์ จึงนับว่าปัวโรต์มีชื่อเสียงมากๆ แล้วในช่วงเวลาที่นวนิยายเรื่องนี้ออกสู่บรรณพิภพ

เท่าที่ทราบ หนังสือ Murder on the Orient Express มีฉบับแปลไทย 2 สำนวน ได้แก่ “รถด่วนอันตราย” แปลโดย ธนิต ธรรมสุคติ และ “ฆาตกรรมบนรถด่วนโอเรียนท์เอกซ์เพรส” แปลโดย โสภณา เชาวน์วิวัฒน์กุล นวนิยายเรื่องนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1934 (พ.ศ. 2477) ได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในนวนิยายที่มีพล็อตฉลาดล้ำโลกที่สุดตลอดกาล เคยสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วเมื่อปี 1974 เป็นภาพยนตร์ฉายทางทีวีเมื่อปี 2001 กับ 2010 และมีเวอร์ชันญี่ปุ่นด้วยเมื่อปี 2015 #อยากดูอย่างแรง

ที่มาภาพ: thelumina.com

หนัง Murder on the Orient Express เวอร์ชันนี้ จับเรื่องตอนที่ปัวโรต์เพิ่งเสร็จภารกิจไขคดีโจรกรรมที่กรุงเยรูซาเลม #อุ่ย! แล้วจึงไปพักผ่อนที่อิสตันบูล ตุรกี แต่ดันงานเข้า ต้องรีบไปลอนดอนโดยด่วน เคราะห์ดีเพื่อนแกเป็นผู้อำนวยการรถไฟสายโอเรียนท์เอกซ์เพรส ซึ่งเป็นรถด่วนขบวนหรู วิ่งระหว่างอิสตันบูลกับปารีส แกจึงได้ตั๋วในวินาทีสุดท้าย เป็นตั๋วชั้น 1 มีห้องพักส่วนตัว ใช้เวลาเดินทาง 3 วัน 2 คืน ปรากฏว่าระหว่างทาง ได้เกิดเหตุฆาตกรรมขึ้น ผู้โดยสารคนหนึ่งถูกกระหน่ำแทงเสียชีวิตในห้องพักซึ่งล็อกจากด้านใน ผู้โดยสารชั้น 1 คนอื่นๆ อีก 12 คน และพนักงานอีก 1 คน จึงเป็นทั้งผู้ต้องสงสัยและอาจจะเป็นเหยื่อรายต่อไปได้เท่าๆ กัน ทำให้ปัวโรต์ต้องรีบสืบหาตัวฆาตกรโดยด่วนก่อนที่จะเกิดเหตุร้ายยิ่งขึ้นไปกว่านี้

สมัยนี้เราชินกับหนังสืบสวนสอบสวนที่มีการตรวจที่เกิดเหตุด้วยอุปกรณ์ไฮเทค มีนักสืบหลายคนทำงานเป็นทีม มีการสืบค้นข้อมูลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ มีการตรวจดีเอ็นเอเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐาน จนแทบจะนึกภาพไม่ออกเอาเลยว่า ในยุคที่ยังไม่มีเทคโนโลยีใดๆ ช่วยในการสืบสวน แถมทีมงานก็ไม่มี นักสืบตัวคนเดียวจะสามารถคลี่คลายคดีได้อย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น สถานที่เกิดเหตุในหนังเรื่องนี้ก็แทบจะตัดขาดจากโลกภายนอก คืออยู่บนรถไฟซึ่งแล่นตัดผ่านหุบเขาอันเต็มไปด้วยหิมะ ไม่สามารถหาตัวช่วยใดๆ ได้เลย การไขคดีจึงต้องใช้วิธีเดียวเท่านั้น คือสอบพยานปากต่างๆ แล้วจับพิรุธ เชื่อมโยงเหตุการณ์ ร้อยเรียงเข้ากับหลักฐานในที่เกิดเหตุ และเทียบเคียงกับอาชญากรรมที่เคยเกิดขึ้นในอดีต โดยอาศัยการสังเกตจดจำและสติปัญญาของนักสืบล้วนๆ คนดูผู้ด้อยปัญญาอย่างดิฉันจึงได้สนุกกับการคิดตามไปด้วยว่าใครคือฆาตกรตัวจริง ถึงแม้การสอบสวนบางช่วงจะดูเนือยๆ อึนๆ อยู่บ้างก็ตาม

ส่วนคนที่เคยอ่านหนังสือ หรือรู้มาก่อนแล้วว่าใครคือฆาตกร ก็น่าจะสนุกกับงานภาพของหนัง ซึ่งได้รับการออกแบบมาอย่างดีมากๆ ก่อนหน้านี้ดิฉันคิดว่า ในเมื่อเหตุการณ์ส่วนใหญ่ของเรื่องเกิดบนรถไฟ อันเป็นที่แคบๆ ยาวๆ การเคลื่อนกล้องและมุมกล้องก็คงจำกัดจำเขี่ยไม่น้อย แต่ปรากฏว่า หนังเรื่องนี้มีเทคนิคเยอะมากที่จะถ่ายภาพในที่จำกัด แล้วเทคนิคที่ใช้ก็มีผลต่อการดำเนินเรื่องและการรับรู้ของผู้ชมด้วย อย่างฉากปัวโรต์ตรวจที่เกิดเหตุ ใช้วิธีถ่ายกดลงมาจากด้านบนแบบ 90 องศาเลย ทำให้ผู้ชมเหมือนกับว่าจะเห็นทั้งหมด แต่ก็ไม่เห็นทั้งหมด #เจ๋งค่อด

หนัง Murder on the Orient Express เวอร์ชันนี้ กำกับโดย เคนเนธ บรานาห์ ผู้มีผลงานเยอะแยะมากมายทั้งในฐานะนักแสดง ผู้กำกับ ผู้เขียนบท และโปรดิวเซอร์ หลายๆ เรื่องแกก็เล่นเองกำกับเอง อย่างเช่นเรื่องนี้ก็แสดงเป็นปัวโรต์เอง ซึ่งด้วยความเก๋าของแก ก็ทำให้ดิฉันเชื่อตั้งแต่ฉากแรกเลยแหละว่าแกคือปัวโรต์จริงๆ ส่วนนักแสดงคนอื่นๆ ทีแรกก็เหมือนจะมาเป็นตัวประกอบให้แกเฉยๆ ไม่ว่าจะเป็น จอห์นนี เด็ปป์ มิเชลล์ ไฟฟ์เฟอร์ เปเนโลเป กรุซ คุณหญิงจูดี เดนช์ วิลเลม ดาโฟ แต่พอถึงช่วงท้าย เมื่อความจริงเปิดเผยว่าใครคือฆาตกร และสาเหตุแห่งการฆ่าคืออะไร มันจะมีช่วงเวลาสั้นๆ ของแต่ละคนในฉากสำคัญฉากหนึ่ง ซึ่งทำเอาดิฉันน้ำตาร่วงอย่างไม่อาจยับยั้งได้ ความล้ำของฉากนั้นก็คือ มันทำให้เราตัดสินไม่ได้เลยว่าอะไรคือความถูกความผิด และทำให้เราตระหนักอย่างลึกซึ้งถึงผลอันรุนแรงกว้างขวางของอาชญากรรม อย่างที่ในชีวิตประจำวันเราอาจจะไม่เคยได้ใคร่ครวญให้เห็นภาพชัดขนาดนี้มาก่อน การนำนักแสดงระดับนี้มาประชันบทบาทกัน แม้จะดูเหมือนเป็นบทเล็กๆ จึงเป็นสิ่งที่คุ้มค่า และคู่ควรอย่างยิ่งกับบทประพันธ์ดีๆ ที่นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของโลกได้รังสรรค์ไว้ให้แก่เรา

สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 150

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

17 ธันวาคม 2560

(ขอบคุณภาพปกจาก foxmovies.com)