โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

3 มกราคม 2017

ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 085; เมื่อต้นเดือนตุลาคม ได้ไปดู Psycho ภาพยนตร์เรื่องที่ 4 ในงาน “เมื่อครั้งเสด็จฯ ทอดพระเนตรภาพยนตร์” ซึ่งหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จัดขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระองค์เสด็จฯ ทอดพระเนตรหนังเรื่องนี้เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2504 ที่โรงภาพยนตร์พาราเมาท์ ถนนเพชรบุรี (ปัจจุบันกลายเป็นห้างขายส่งเสื้อผ้า ชื่อกรุงทองพลาซ่า 2 อยู่ตรงข้ามพันธุ์ทิพย์พลาซ่า)

หนังเรื่องนี้เป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของผู้กำกับเจ้าของฉายา “เจ้าพ่อหนังระทึกขวัญ” เซอร์อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก สร้างจากนวนิยายชื่อเดียวกันของโรเบิร์ต บลอค นักเขียนมือทองชาวอเมริกัน บลอคเขียนนวนิยายเรื่องนี้โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงของฆาตกรโรคจิตนามว่า เอ็ดเวิร์ด ไกน์ ซึ่งอาศัยอยู่ไม่ไกลจากบ้านของบลอคเท่าใดนัก หลังจาก Psycho ได้รับการตีพิมพ์ แอนโทนี บาวเชอร์ นักเขียน นักวิจารณ์ และบรรณาธิการชื่อดัง ก็เขียนรีวิวนวนิยายเรื่องนี้อย่างชื่นชมโสมนัส เลขาของฮิตช์ค็อกได้อ่านรีวิวดังกล่าว จึงซื้อนวนิยายมาให้ฮิตช์ค็อกอ่าน พออ่านจบแกก็ฟันธงทันทีว่านี่แหละคือหนังเรื่องต่อไปของแก

กระบวนการทำหนัง Psycho นั้นสนุกไม่แพ้ตัวหนังเลยแหละ ที่ดิฉันรู้ก็เพราะวันหนึ่งเปิดทีวีไปเจอหนังเรื่อง Hitchcock (ปี 2012) ซึ่งแอนโทนี ฮอปกินส์ แสดงเป็นฮิตช์ค็อก และเจ้าป้าเฮเลน มีร์เรนของดิฉัน แสดงเป็นอัลม่า เรวิลล์ ภรรยา ผู้เขียนบท และมือตัดต่อคู่บุญของฮิตช์ค็อก ดิฉันไม่เคยดูหนัง Psycho มาก่อน แต่พอได้ดูเรื่อง Hitchcock แล้ว รู้สึกเลยว่า Psycho เป็นหนังดีที่ควรได้ดูก่อนตาย ก็พอดีหอภาพยนตร์จัดงานนี้ขึ้น และหนังเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลก่อนเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรที่โรงหนัง ดิฉันก็เลยโชคดีได้ไปดู Psycho ในโรงใหญ่ด้วย ทำให้ได้สัมผัสความรู้สึกแบบผู้ชมเมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว ในยามที่ถูก “ไซโค” ด้วยฝีมือการกำกับที่ “เล่น” กับอารมณ์ความรู้สึกของคนดูอย่างช่ำชอง จน Psycho ได้รับยกย่องให้เป็นภาพยนตร์ระทึกขวัญที่ดีที่สุดตลอดกาล

ที่มาภาพ: en.wikipedia.org

เมื่อตอนที่อัลเฟรด ฮิตช์ค็อกตัดสินใจทำเรื่อง Psycho นั้น แกสั่งให้เลขาไปกว้านซื้อนิยายเรื่องนี้จนหมดเกลี้ยงจากท้องตลาด เพื่อไม่ให้ใครรู้เรื่องราวก่อนที่จะได้ดูหนัง จากนั้นแกก็เอาโปรเจกต์ไปเสนอพาราเมาท์พิกเจอร์สเพื่อขอทุน แต่กลับถูกปฏิเสธ เพราะหนังระทึกขวัญจิตวิทยา (Psychological Horror Film) เป็นหนังที่ขายยากและไม่ทำเงิน อย่างไรก็ดี ปัญหาแค่นี้หยุดฮิตช์ค็อกไม่ได้ แกทุ่มหมดหน้าตักด้วยการเอาบ้านไปจำนองเพื่อนำเงินมาสร้างหนัง โดยทำเป็นหนังขาวดำเพื่อลดต้นทุน แต่ปรากฏว่ากลายเป็นดี เพราะแสงเงามันดูลึกลับเข้ากับโทนหนังมาก และทำให้สามารถนำเสนอฉากฆาตกรรมโหดได้โดยไม่ถูกเซนเซอร์ด้วย เพราะภาพขาวดำช่วยลดทอนความโหดลงได้ระดับหนึ่ง

การเซนเซอร์นี่ก็เป็นอุปสรรคสำคัญอีกอย่างที่ทำให้ทีมผู้สร้างหืดขึ้นคอ เพราะ Psycho เต็มไปด้วยฉากต้องห้ามในสมัยนั้น เช่น ฉากที่ถ่ายให้เห็นโถส้วม ลุงฮิตช์ค็อกแกต้องไปนั่งอธิบายให้คณะกรรมการฟังเป็นวันๆ ว่าฉากโถส้วมสำคัญต่อเรื่องยังไง เคราะห์ดีที่แกเจรจาได้สำเร็จ จึงกลายเป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้แก่วงการภาพยนตร์อเมริกัน ที่สามารถยอมรับการนำเสนอภาพความรุนแรง พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และเรื่องเกี่ยวกับเพศได้มากขึ้น จนสุดท้ายระบบเซนเซอร์ก็ต้องลดความเข้มงวดลง แล้วเขาก็นำระบบจัดเรตมาใช้เป็นหลักแทนในที่สุด

ว่ากันที่เนื้อหา ต้องถือว่า Psycho มีความแปลกใหม่มากสำหรับยุคนั้น เพราะเป็นเรื่องของเลขานุการสาวที่เชิดเงินบริษัทหนีไป แล้วไปถูกฆ่าในโรงแรมเล็กๆ แห่งหนึ่ง และเมื่อเรื่องราวเปิดเผยออกมาว่าใครฆ่า เหตุผลที่ฆ่าคืออะไร ก็ทำเอาขนลุกขนพองสยองเกล้ากันทั้งบาง ฉากฆาตกรรมในห้องน้ำอันเป็นฉากสำคัญของเรื่อง ถ้านึกถึงว่าเราเป็นคนดูสมัยนั้นก็คงจะช็อกสุดๆ นางเอกออกมาไม่ทันไรก็ตายแล้ว แถมยังตายอย่างสยองต่อหน้าต่อตา ดนตรีประกอบก็บีบคั้นกุเหลือเกิ๊นนน เชื่อว่าหลายๆ ท่านน่าจะเคยฟังสกอร์ของหนังเรื่องนี้มาบ้าง อย่างน้อยก็ท่อนที่กรีดไวโอลินสะเทือนไปถึงขั้วหัวใจนั่นน่ะ นี่คือฝีมือของเบอร์นาร์ด เฮอร์มานน์ ผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบหนังเจ้าประจำของฮิตช์ค็อก ทั้งยังได้ประพันธ์ดนตรีประกอบเรื่อง Citizen Kane ของออร์สัน เวลส์ Anna and the King of Siam ของจอห์น ครอมเวลล์ Fahrenheit 451 ของฟรองซัวส์ ทรูว์โฟต์ และ Taxi Driver ของมาร์ติน สกอร์เซซีด้วย #กราบเบญจางคประดิษฐ์ ว่ากันเฉพาะ Psycho ดนตรีประกอบอันสุดระทึกได้ทำงานร่วมกับภาพที่ปรากฏอย่างเข้มข้น จนฉากฆาตกรรมในห้องน้ำ (The Shower Scene) กลายเป็นฉากคลาสสิกในโลกภาพยนตร์ และยังคงเป็นที่กล่าวขวัญถึงจวบจนปัจจุบัน

นักแสดงนำชายหญิงของ Psycho คือสุดยอดแคสติ้งแห่งยุคสมัย ผู้รับบทแมเรียน เครน เลขานุการสาว ได้แก่ เจเน็ต ลีห์ ส่วนนักแสดงนำชายคือ แอนโทนี เพอร์กินส์ รับบทนอร์แมน เบตส์ เจ้าของโรงแรมเบตส์โมเต็ล สถานที่เกิดเหตุฆาตกรรม ลุงฮิตช์ค็อกเลือกเฟ้นสองคนนี้มาด้วยตัวเอง และการแสดงของทั้งสองก็น่าเชื่อถือมากๆ เป็นองค์ประกอบที่ดิฉันชื่นชอบเป็นการส่วนตัว นอกเหนือจากเนื้อหาที่แสดงให้เห็นด้านมืดของมนุษย์ และปมทางจิตซึ่งสามารถอธิบายได้อย่างมีหลักการและสมเหตุสมผล

หลังจากความสำเร็จของ Psycho ก็มีการสร้างหนังภาคต่อออกมาอีก 3 ภาค แอนโทนี เพอร์กินส์เล่นเป็นนอร์แมน เบตส์เช่นเดิม ดิฉันเคยดูทางทีวีกับแม่แบบน็อนสต็อป แต่ก็ไม่เห็นภาคไหนจะระทึกเท่าของฮิตช์ค็อกเลย จนมาเมื่อปี 2013 ที่ละครทีวีเรื่อง Bates Motel เริ่มออกอากาศนี่แหละ ที่ความฮือฮาได้บังเกิดขึ้น นี่คือเรื่องราวของนอร์แมน เบตส์ ตอนเป็นวัยรุ่น และความสัมพันธ์กับแม่ของเขา ก่อนที่เบตส์โมเต็ลจะกลายเป็นที่เกิดเหตุฆาตกรรมสยองในเรื่อง Psycho ผู้รับบทนอร์แมนคือเฟรดดี้ ไฮห์มอร์ ลูกชายสุดเลิฟอีกคนของดิฉัน ส่วนผู้รับบทแม่คือเวร่า ฟาร์มิกา (ลอร์เรน วอร์เรน ใน The Conjuring น่ะฮ่ะ) ละครได้รับเสียงวิจารณ์ที่ดีจนได้ออกอากาศมาถึงปัจจุบันเป็นซีซันที่ 4 แล้ว ดิฉันมีดีวีดีตั้งแต่ซีซันแรก ต้องหาเวลาดูรัวๆ

สรุป: จ่าย 100 ได้กลับมา 135 

หมายเหตุ: Psycho ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ 4 สาขา

  1. ผู้กำกับยอดเยี่ยม
  2. นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม – เจเน็ต ลีห์
  3. ถ่ายภาพยอดเยี่ยม สำหรับหนังขาวดำ
  4. ออกแบบศิลป์และตกแต่งฉากยอดเยี่ยม สำหรับหนังขาวดำ (ปัจจุบันคือรางวัล Best Production Design)