ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 160; ดู The Greatest Showman หนังที่สร้างขึ้นโดยได้รับแรงบันดาลใจจากชีวประวัติของ พี. ที. บาร์นัม นักธุรกิจบันเทิงคนสำคัญของอเมริกา

เอ่ยชื่อ พี. ที. บาร์นัม หรือชื่อเต็ม ฟิเนียส เทย์เลอร์ บาร์นัม เราคนไทยอาจจะไม่คุ้นเท่าไหร่ แต่ถ้าบอกว่าแกเคยเป็น “โปรโมเตอร์” หรือผู้จัดการแสดงของแฝดสยามอิน-จัน คาดว่าหลายๆ ท่านน่าจะเริ่มนึกออกว่าเคยได้ยินชื่อแกมาจากที่ไหนสักแห่ง 555 ที่จริงบาร์นัมเป็นคนที่ดังมากๆ ในอเมริกา เพราะแกมีบทบาทในการสร้างสรรค์ธุรกิจบันเทิงแทบทุกประเภทในยุคที่ยังไม่มีหนังไม่มีทีวี และสร้างชื่อขึ้นมาจากการจัดโชว์ของแปลกและคนแปลก ซึ่งเป็นที่ฮือฮาอย่างมากทั้งในแง่บวกและแง่ลบ

ตอนเด็กๆ บาร์นัมเคยทำงานในคณะละครสัตว์คณะแรกของอเมริกา เป็นเด็กขายตั๋ว พออายุได้ 20 ต้นๆ แกก็มีธุรกิจเป็นของตัวเองตั้ง 4-5 อย่างแล้ว ที่รัฐคอนเนตทิคัตบ้านเกิด ครั้นกิจการเริ่มซบเซาเพราะสถานการณ์บ้านเมืองผันผวน แกก็ขายทุกอย่างทิ้ง ย้ายไปอยู่นิวยอร์กซิตี้ เริ่มต้นชีวิตโชว์แมนด้วยการซื้อทาสหญิงผิวดำพิการมาคนหนึ่ง ชื่อจอยซ์ เฮธ แล้วโฆษณาว่าเธอมีอายุ 161 ปี (คือบวกเพิ่มเข้าไปเกือบ 100 ปี) และเคยเป็นพยาบาลประจำตัวของจอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของอเมริกา คนก็มาจ่ายตังค์ดูเฮธกันใหญ่

พอเฮธตาย บาร์นัมก็ตัดสินใจจับธุรกิจโชว์อย่างเต็มตัว แต่ก็ต้องล้มลุกคลุกคลานไปกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำถึง 3 ปี จนกระทั่งในปี 1841 (พ.ศ. 2384) แกได้ซื้อพิพิธภัณฑ์เก่าแถวบรอดเวย์ แล้วเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ของตัวเอง ชื่อ Barnum’s American Museum จัดแสดงทุกสิ่งอย่างที่คิดว่าจะดึงดูดคนได้ พิพิธภัณฑ์ของแกก็เลยมีทั้งสวนสัตว์ โรงละคร ห้องจัดแสดงหุ่นขี้ผึ้ง ห้องจัดแสดงของแปลกจากทั่วโลก (ส่วนใหญ่เป็นของแหกตา) และโชว์รวมพลคนแปลก เช่น มนุษย์ยักษ์ มนุษย์จิ๋ว มนุษย์อ้วน มนุษย์ขน ผู้หญิงมีเครา มีดาราชูโรงเป็นคนตัวจิ๋วชื่อ ชาร์ลส์ สแตรตตัน ผู้เป็นญาติห่างๆ ของบาร์นัม บาร์นัมขอตัวสแตรตตันมาเลี้ยงตั้งแต่อายุ 3-4 ขวบ สอนให้แสดงบทบาทสมมุติต่างๆ แล้วให้ขึ้นโชว์โดยโฆษณาว่าเขาเป็นเด็กอายุ 11 ปี สแตรตตันต้องดื่มไวน์ตั้งแต่อายุ 5 ขวบ และสูบซิการ์ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการแสดง #เป็นลมแพร็บ ต่อมา บาร์นัมวางคาแรกเตอร์สแตรตตันให้เป็นนายทหารใหญ่ ตั้งชื่อในการแสดงให้ว่า General Tom Thumb หรือ “นายพลทอม นิ้วหัวแม่มือ” เพื่อบ่งบอกว่าเป็นคนตัวเล็ก นายพลทอม ธัมบ์ โด่งดังถึงขีดสุด จนบาร์นัมสามารถพาเขาไปเปิดการแสดงที่ยุโรป และได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรียด้วย

ระหว่างที่อยู่อังกฤษ บาร์นัมก็เริ่มเห็นช่องทางทำกินอย่างใหม่ เมื่อได้รับรู้ถึงชื่อเสียงของเจนนี ลินด์ นักร้องโอเปร่าสาวชาวสวีเดน ผู้กำลังเป็นที่นิยมสูงสุดในยุโรป แกจึงติดต่อให้เธอไปทัวร์คอนเสิร์ตที่อเมริกา บาร์นัมทุ่มสุดตัวถึงกับเอาบ้านไปจำนองเพื่อนำเงินมาจ่ายค่าตัวล่วงหน้าให้เธอและทีมงาน เธอจึงยอมเซ็นสัญญาแสดงคอนเสิร์ตในอเมริกา 150 รอบ ในระยะเวลาปีครึ่ง แล้วการณ์ก็เป็นไปดังที่บาร์นัมคาดไว้ คือโชว์ของเจนนี ลินด์ ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลาย แต่ยิ่งประสบความสำเร็จมาก บาร์นัมก็ยิ่งทำการตลาดหนักมาก โดยโฆษณาเว่อร์ๆ ใส่ดราม่าเข้าไปตามถนัด แถมยังขายของพะยี่ห้อเจนนี ลินด์ โดยที่เธอไม่ได้รับส่วนแบ่งใดๆ ลินด์ไม่แฮปปี้ ณ จุดนี้ หลังจากจบคอนเสิร์ตรอบที่ 93 เธอจึงขอจัดการแสดงต่อเอง แต่บาร์นัมก็ฟันเงินไปเยอะแยะแล้ว ถ้าคิดเทียบกับค่าเงินปัจจุบันก็ประมาณ 14 ล้านดอลลาร์กว่าๆ คิดเป็นเงินไทยก็ราว 460 ล้านบาทเศษ

กำไรจากการจัดทัวร์คอนเสิร์ตเจนนี ลินด์ ทำให้บาร์นัมสามารถต่อยอดกิจการได้อีกเยอะ ทั้งทำละครเวที จัดโชว์ดอกไม้ โชว์หมา ประกวดนางงาม ประกวดสัตว์ต่างๆ ประกวดเด็กอ้วน ประกวดเด็กแฝด ฯลฯ และเขียนหนังสือชีวประวัติตัวเอง ซึ่งนักวิจารณ์ส่วนหนึ่งก่นด่าว่าเป็นหนังสือที่กากมาก และแล้วความพลาดก็มาเยือน เมื่อแกไปลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่บ้านเกิด แล้วดันล้มละลาย คนก็สมน้ำหน้าแกใหญ่ว่ากรรมตามสนอง แต่แกก็สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นได้ใหม่จากการจัดโชว์ของนายพลทอม ธัมบ์ และทอล์กโชว์ของแกเอง ซึ่งแกเรียกว่าเป็นการบรรยายหรือเล็กเชอร์ จนแกสามารถสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาได้อีกครั้ง รวมทั้งสร้างพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำหรืออะควาเรียมแห่งแรกของอเมริกา ด้านโชว์คนแปลกก็บูมมาก แฝดสยามอิน-จันซึ่งตอนนั้นอายุประมาณ 50 แล้ว ก็ยังมาโชว์กับแก จนกระทั่งในปี 1865 Barnum’s American Museum ก็ถูกไฟไหม้ด้วยสาเหตุใดไม่ปรากฏ แกก็เลยไปสร้างแห่งใหม่อีกที่หนึ่ง แต่ก็ถูกไฟไหม้อีกรอบในปี 1868 คราวนี้ถึงขั้นฉิบหายวายวอด บาร์นัมจึงล้างมือจากธุรกิจพิพิธภัณฑ์นับแต่นั้น

ดูทรงแล้วในนิวยอร์กซิตี้น่าจะมีคนเกลียดบาร์นัมมากอยู่ แต่ที่คอนเนตทิคัตบ้านเกิด แกน่าจะเทียบได้กับอดีตนายกบรรหารที่สุพรรณบุรี เพราะแกเป็นนักการเมืองท้องถิ่นของที่นั่นตั้งแต่ปี 1865 และในปี 1875 ยังได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีด้วย ตลอดระยะเวลาแห่งการทำงานการเมือง บาร์นัมได้สร้างความเจริญให้แก่บ้านเกิดมากมาย และดำเนินนโยบายแน่วแน่ที่จะคุ้มครองสิทธิของพลเมืองชั้นสองของอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนผิวดำ เรียกได้ว่าแกเป็นนักสิทธิมนุษยชนตัวยงคนหนึ่ง ทั้งยังทำงานสาธารณกุศลอย่างจริงจังด้วย

ส่วนงานโชว์แมนแกก็ยังไม่ทิ้ง เพราะในปี 1871 เมื่อบาร์นัมอายุได้ 61 ปี แกก็เริ่มกิจการใหม่ คือตั้งคณะละครสัตว์ร่วมกับเพื่อนอีก 2 คน ออกเดินทางไปเปิดการแสดงตามที่ต่างๆ เพราะไม่อยากสร้างโรงละครถาวรแล้ว ละครสัตว์ของแกประกอบด้วยโชว์ต่างๆ นานาตามที่แกถนัด ภายใต้สโลแกนว่า “The Greatest Show on Earth” (โชว์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก) พอปี 1881 แกก็ควบรวมคณะของแกเข้ากับคณะละครสัตว์ของ เจมส์ แอนโธนี เบลีย์ และเจมส์ อี. คูเปอร์ ตั้งชื่อยาวเป็นหางว่าว แต่ไปๆ มาๆ ก็เหลือแค่ “Barnum and Bailey’s Circus” ดำเนินกิจการยาวนานมาจนถึงปี 2017 เพิ่งจะปิดตัวลงเมื่อ 8 เดือนที่ผ่านมา หลังจาก พี. ที. บาร์นัม เสียชีวิตไปแล้ว 126 ปี

ที่มาภาพ: thearthunters.com

หนัง The Greatest Showman หยิบเรื่องราวชีวิตของบาร์นัมมาเป็นส่วนๆ แล้วนำมาตัดต่อร้อยเรียงเข้าด้วยกันใหม่ เป็นการแต่งเรื่องใหม่กลายๆ พร้อมทั้งใส่สีตีไข่เข้าไปให้แซ่บเว่อร์และมีสตอรี่ ซึ่งก็เป็นกลวิธีเดียวกับที่บาร์นัมใช้ในการทำโชว์ของแปลกคนแปลกนั่นแหละ 555 ชีวประวัติอย่างย่อ (แล้ว) ของแกที่ดิฉันสาธยายไปข้างต้น มีอยู่ในหนังประมาณ 10% เอ๊ง นอกนั้นประกอบสร้างใหม่ทั้งสิ้น และที่เก๋สุดก็คือ หนังเรื่องนี้เป็นหนังเพลง นับว่าเป็นความสร้างสรรค์ที่เข้ากับความเป็นโชว์แมนของบาร์นัมได้ดีทีเดียว

ถ้าว่ากันที่เพลง ดนตรี และการออกแบบท่าเต้น หนังก็จัดเต็มมาอย่างไม่มีอะไรจะเต็มไปกว่านี้อีกแล้ว การที่ได้คู่หูนักแต่งเพลงเจ้าของรางวัลออสการ์จาก La La Land อย่างเบนจ์ พาเสค กับจัสติน พอล มาแต่งเพลงให้ ก็นับว่ามีชัยไปกว่าครึ่งแล้วล่ะ เพลงของทั้งสองมีเนื้อร้องที่เฉียบคมแบบคนรุ่นใหม่ ใช้คำง่ายๆ แต่หนักแน่นทุกคำ และมีเอกลักษณ์อย่างหาตัวจับยาก ก่อนที่คุกกี้เสี่ยงทายจะมาหลอนอยู่ในหัวดิฉันแบบตอนนี้ ก็มีแต่เพลง This is Me เพลงเอกใน The Greatest Showman นี่แหละ วนเวียนอยู่เป็นอาทิตย์ๆ เชียว นอกจากนี้ นักแสดงทุกคนก็ทำหน้าที่ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นการแสดง การร้อง การเต้น จัดว่าไม่มีที่ติ โดยเฉพาะนักแสดงนำทั้งสอง คือฮิว แจ็กแมน ผู้รับบทบาร์นัม กับแซ็ก เอฟรอน ผู้รับบทฟิลลิป คาร์ไลล์ ซึ่งเป็นตัวละครที่ได้แรงบันดาลใจจากเจมส์ แอนโธนี เบลีย์ หุ้นส่วนคนสำคัญของบาร์นัม ทั้งแจ็กแมนและเอฟรอนเป็นนักแสดงมิวสิคัลมืออาชีพอยู่แล้ว จึงไม่มีอะไรขัดเขินขัดหูขัดตาแบบมือบนของเอมม่า สโตนในโปสเตอร์ La La Land (ย้อนกลับไปอ่านได้ในเบี้ยน้อยหอยน้อย 087 ฮ่ะ)

อย่างไรก็ดี ถ้าจะลงรายละเอียดไปที่เนื้อเรื่องและประเด็นที่นำเสนอ ดิฉันว่า The Greatest Showman ยังตุปัดตุเป๋และสะเปะสะปะไปหน่อย เมื่อเทียบกับชีวิตจริงของบาร์นัมแล้ว น่าเสียดายวัตถุดิบมาก เพราะชีวิตแกมีสีสันน่าสนใจมากก็ตรงที่ว่า มันมีความถูกความผิดกลืนๆ กันอยู่ในทุกสิ่งที่แกทำ ตัวอย่างเช่น โชว์คนแปลก ในแง่หนึ่งก็เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของนักแสดง และตักตวงผลประโยชน์จากการย้อมแมวขายอยู่เหมือนกัน แต่ถ้ามองอีกแง่หนึ่ง ในยุคนั้น (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี) สังคมยังไม่ยอมรับคนที่เกิดมาแตกต่างจากคนอื่น ยังมองเป็นตัวประหลาดบ้าง ตัวกาลกิณีบ้าง ทำให้คนเหล่านั้นต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ไม่มีที่ยืนในสังคม ยิ่งถ้าเป็นคนพื้นเมืองและคนผิวดำด้วยแล้ว สถานะยิ่งย่ำแย่ เพราะตอนที่บาร์นัมเริ่มทำโชว์คนแปลก ซึ่งมีนักแสดงเป็นคนพื้นเมืองและคนผิวดำด้วยนั้น อเมริกายังไม่เลิกทาสเลย การที่บาร์นัมนำพวกเขามาขึ้นเวที ปั้นให้เป็นดารา มีอาชีพ มีรายได้เลี้ยงตัว และให้สังคมได้ประจักษ์ถึงการมีอยู่ของพวกเขา จึงอาจจะเป็นการประกาศสิทธิมนุษยชนของคนชายขอบอีกทางหนึ่ง เพราะบาร์นัมก็มีจุดยืนเกี่ยวกับเรื่องนี้มาโดยตลอดอยู่แล้ว แต่ก็นั่นแหละ ความพยายามของแกที่จะเรียกร้องสิทธิให้คนชายขอบ อาจจะเป็นไปเพื่อแก้ไขความรู้สึกผิดที่อยู่ในใจส่วนลึกก็ได้

การที่หนังเลือกนำเสนอ ‘สีสัน’ ในชีวิตของบาร์นัมในประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากนี้ ที่จริงก็ดีนะ ไม่ใช่ไม่ดี เพียงแต่ว่ามันมีหลายประเด็นเกินไป เรื่องราวชีวิตของบาร์นัมซึ่งหยิบมาเป็นส่วนๆ นั้น แต่ละส่วนก็นำเสนอแต่ละประเด็น เลยกลายเป็น ‘หัวมังกุ กลางมังกือ ท้ายมังกร’ #สำนวนวิบัติ #โปรดอย่าเอาเยี่ยงอย่าง คือขึ้นต้นดูเหมือนจะพูดถึงประเด็นนึง พอดูๆ ไป อืมมม ไม่ใช่ละ ดูต่อไปอีก เอิ่มมมม ตกลงยังไง พอดูจบ เอ๊า อัลไรของมึงนิ พี่ควรเลือกมาสักอย่างค่ะพี่ หนูมึน

สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 110

หมายเหตุ: The Greatest Showman เข้าชิงรางวัลออสการ์ 1 สาขา คือ เพลงประกอบยอดเยี่ยม ได้แก่เพลง This is Me ซึ่งชนะรางวัลลูกโลกทองคำไปแล้วเรียบร้อย

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

4 กุมภาพันธ์ 2561

(ขอบคุณภาพปกจาก imdb.com)