โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

3 พฤษภาคม 2015

ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 033; หลังจากดูเบลค ไลฟ์ลีย์ใน The Age of Adaline เมื่อวันก่อน ก็มาดูไรอัน เรย์โนลดส์ สามีของนางใน Woman in Gold บ้าง คนเกือบเต็มโรงลิโด 2 แห่กันมาดูเพราะเหลือรอบเดียวอ่ะดิ (เหมือนเดี๊ยนเลย 555)

ในช่วงที่อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคนาซีปกครองเยอรมนี นโยบายที่โดดเด่นเป็นที่รู้จักแพร่หลายคือ ขยายอาณาเขตโดยบุกยึดประเทศเพื่อนบ้าน กับกวาดล้างเผ่าพันธุ์ยิวให้สิ้นไป นโยบายดังกล่าวเป็นสาเหตุของสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังที่เราทราบกัน แต่ก่อนที่ประเทศต่างๆ จะประกาศสงครามกับเยอรมนีจนลุกลามเป็นสงครามโลกนั้น ทางการออสเตรียได้เปิดบ้านรับการยึดครองของนาซีเยอรมัน จนทำให้ชาวออสเตรียนรักชาติจำนวนมากตัดสินใจลี้ภัยไปต่างประเทศ หนึ่งในนั้นคือครอบครัวฟอน ทรัปป์ ของคุณครูมาเรีย ซึ่งลี้ภัยไปอเมริกา แล้วก็ได้แต่งหนังสือจนกลายเป็นละคร The Sound of Music นอกจากนี้ก็ยังมีอีกครอบครัวหนึ่งที่จำเป็นต้องลี้ภัยไปอเมริกาเช่นกัน ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการ หนึ่งคือพวกเขารักออสเตรียอย่างสุดชีวิตจนไม่อาจก้มหัวให้นาซีได้ และสอง พวกเขามีเชื้อสายยิว

มาเรีย อัลต์มันน์ และสามี หลบหนีจากออสเตรียบ้านเกิด ไปลงหลักปักฐานที่ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา โดยทิ้งพ่อแม่ของเธอไว้เบื้องหลัง บรรพบุรุษของมาเรียเป็นชาวยิวที่มาตั้งรกรากในออสเตรียและสร้างเนื้อสร้างตัวจนเป็นคหบดี พอนาซีบุกยึดบ้านเธอ ทรัพย์สินมีค่าหลายชิ้นก็ถูกยึดไปด้วย รวมทั้งภาพวาดชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่ง เป็นภาพของ อเดเล บล็อค-เบาเออร์ ป้าของมาเรีย เขียนโดยกุสตาฟ คลิมต์ จิตรกรชื่อดังของออสเตรีย ใช้เทคนิคสีน้ำมัน ประดับเงินและทองคำเปลว นี่เป็นภาพของอเดเลภาพแรกที่คลิมต์เขียน จึงได้ชื่อว่า Portrait of Adele Bloch-Bauer I

หลังจากมาเรียรวมทั้งชาวออสเตรียนมากมายหนีออกนอกประเทศ และประชากรเชื้อสายยิวที่เหลืออยู่ถูกกวาดต้อนไปเข้าค่ายกักกันแล้ว ทางการก็เข้าค้นบ้านที่ถูกทิ้งร้าง แล้วยึดทรัพย์สินมีค่าเป็นสมบัติของรัฐ ส่งไปจัดแสดงยังพิพิธภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งไปประดับตามบ้านคนใหญ่คนโต ภาพของอเดเลถูกนำไปไว้ที่พิพิธภัณฑ์เบลเดเวียร์ในกรุงเวียนนา เรียกกันว่าภาพ Woman in Gold ด้วยความงดงามของภาพนี้ ทำให้ต่อมาได้กลายเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาของออสเตรีย ถึงกับกล่าวกันว่านี่คือ “โมนาลิซาแห่งออสเตรีย” เป็น “สมบัติประจำชาติ” ที่ทุกคนภาคภูมิใจ และตั้งมูลค่าภาพไว้ถึง 5,000 ล้านบาท

หนัง Woman in Gold เป็นเรื่องราวการต่อสู้ของมาเรีย อัลต์มันน์ (รับบทโดย เฮเลน มีร์เรน) เพื่อทวงคืนภาพ
ของอเดเลผู้เป็นป้า หลังจากถูกทางการออสเตรียยึดไปอย่างผิดกฎหมายเป็นเวลากว่า 60 ปี นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะออสเตรียย่อมไม่ยอมปล่อยภาพสำคัญนี้ไปง่ายๆ แต่มาเรียก็สู้ไม่ถอย ร่วมกับทนายอ่อนหัดแต่กัดไม่ปล่อย แรนดี้ เชินเบิร์ก (ไรอัน เรย์โนลดส์) และนักหนังสือพิมพ์ออสเตรียสายต่อต้านนาซี ฮูแบร์ทัส เชอร์นิน (ดาเนียล บรุห์ล) จนในที่สุดก็ได้ภาพซึ่งเป็นสมบัติของครอบครัวเธอตั้งแต่ต้นกลับคืนมา

การแสดงของเฮเลน มีร์เรน ล้ำเลิศจนรู้สึกว่า ถ้าคนรุ่นนี้เล่นหนังเราต้องรีบไปดู หนังจะได้มีรายได้เยอะๆ และเขาก็จะได้เล่นเรื่องอื่นๆ ให้เราดูอีก แม้บทหนังจะนำเสนอเรื่องราวที่เคร่งเครียดจริงจัง แต่ก็มีความสนุกสนานเฮฮาอยู่ในเนื้อ ด้วยการแสดงที่แพรวพราวของป้าเฮเลนและจังหวะรับส่งที่ลื่นไหลของไรอัน เรย์โนลดส์ ส่วนดาเนียล บรุห์ล นั้น แค่ออกมาฉากแรกดิฉันก็เชื่อแล้ว (เช่นเดียวกับที่เชื่อสุดใจว่าเขาคือ นิกิ เลาดา ใน Rush) ทั้งสามแสดงร่วมกันได้แซบดี นับว่าเป็นทีมนักแสดงที่น่าชมทีมหนึ่ง

หนังเล่ารายละเอียดการสู้คดีตั้งแต่ต้น ตัดสลับกับภาพย้อนหลัง (flashback) เมื่อมาเรียนึกถึงอดีตของตน กลวิธีนี้แม้จะธรรมดามากแต่ก็มีความสำคัญต่อเรื่อง เพราะนำไปสู่ประเด็นที่ว่า นี่ไม่ใช่แค่การทวงถามความยุติธรรมของคนคนหนึ่ง แต่ยังแสดงให้เห็นว่าคนที่เป็นเหยื่อของการเบียดเบียนกดขี่ข่มเหงนั้น ต้องใช้ความพยายามมากแค่ไหนในการกอบกู้ชีวิตและจิตใจกลับคืนมา เมื่อเรามองย้อนไปในประวัติศาสตร์ เราจะพบความโหดร้ายเช่นนี้เสมอ เราจึงต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เพื่อเรียนรู้ความผิดพลาดที่เคยเกิดขึ้น พยายามแก้ไขมันเท่าที่จะทำได้ และระมัดระวังไม่ให้ “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” อีก

สรุป: จ่าย 100 ได้กลับมา 130

ที่มารูป: http://movie.mthai.com

ที่มารูป: http://www.nightphoomin.com

ภาพ: บน – นักแสดงทั้งสามในฉากตอนชนะคดี / ล่าง – มาเรีย อัลต์มันน์ กับภาพ Portrait of Adele Bloch-Bauer I