ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 163; ดูหนังโซโล่ของ Black Panther ซูเปอร์ฮีโร่เพียงหนึ่งเดียวที่เป็นกษัตริย์ หม่อมฉันขอพระราชทานพระราชานุญาตใช้ภาษาสามัญในการบรรยาย อิๆๆ

Black Panther เป็นหนังเรื่องที่ 18 ของจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล ดำเนินเรื่องต่อจาก Captain America: Civil War (ปี 2016) ซึ่งเป็นหนังที่เปิดตัวเจ้าชายทีชัลลา (แสดงโดย แชดวิก โบสแมน) ทั้งในฐานะเจ้าชายรัชทายาทแห่งวากันด้า ประเทศที่ตั้งอยู่ในทวีปแอฟริกาตะวันออก และในฐานะ “แบล็กแพนเธอร์” ซูเปอร์ฮีโร่ในชุดเสือดำ ผู้ตกลงเข้าร่วมกับฝ่ายไอร์ออนแมนรบกับฝ่ายกัปตันอเมริกา เพราะเข้าใจว่าบัคกี้ (แสดงโดย เซบาสเตียน สแตน) คือผู้ก่อวินาศกรรมในพิธีลงนามข้อตกลงโซโคเวีย (อ่านได้ในเบี้ยน้อยหอยน้อย 059) อันเป็นเหตุให้กษัตริย์ทีชากา พระราชบิดา สิ้นพระชนม์ ต่อมาเมื่อเจ้าชายรู้ความจริง ว่าผู้วางแผนก่อวินาศกรรมโดยมีเป้าหมายให้ทีมอเวนเจอร์สแตกร้าวจากภายในและทำลายกันเอง ก็คือพันเอก เฮลมุต ซีโม (แสดงโดย ดาเนียล บรูห์ล) ผู้สูญเสียครอบครัวไปจากการปฏิบัติภารกิจของทีมอเวนเจอร์สที่โซโคเวีย เจ้าชายก็เลยละวางความแค้น ขัดขวางซีโมจากการฆ่าตัวตาย ติดต่อเจ้าหน้าที่ซีไอเอ เอเวอเร็ตต์ รอสส์ (แสดงโดย มาร์ติน ฟรีแมน) ให้นำตัวซีโมไปรับโทษตามกฎหมาย จากนั้นเจ้าชายก็ให้ความช่วยเหลือบัคกี้อย่างลับๆ โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของวากันด้า แช่แข็งบัคกี้ไว้ให้อยู่ในสภาวะจำศีล เพื่อไม่ให้ใครมาใช้เขาเป็นเครื่องมือในการทำชั่วได้อีก

หนัง Black Panther เล่าเรื่องราวของเจ้าชายทีชัลลาหลังจากนั้น โดยเท้าความถึงอดีตกาลตั้งแต่กำเนิดวากันด้า ทำให้เรารู้ว่าเพราะอะไรประเทศเล็กๆ แห่งนี้จึงเป็นที่เดียวที่มีทรัพยากรธรรมชาติอานุภาพมหาศาลอย่างแร่ไวเบรเนียม อันเป็นแร่ธาตุที่แข็งแกร่งที่สุดในจักรวาลมาร์เวล และสามารถใช้ไวเบรเนียมเป็นพื้นฐานในการพัฒนาวิทยาการและเทคโนโลยีต่างๆ จนกลายเป็นประเทศที่ไฮเทคที่สุดในโลก แต่ก็เพราะไวเบรเนียมนี่เองที่ทำให้วากันด้ามีปัญหาภายในเหมือนคลื่นใต้น้ำอยู่ เนื่องจากกษัตริย์วากันด้าทุกยุคทุกสมัยเลือกที่จะรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ด้วยการแสดงตนเป็นประเทศกสิกรรมยากจนที่ไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากประเทศอื่น แม้ข้าวของเครื่องใช้ที่ทำจากไวเบรเนียมจะเล็ดลอดออกไปในตลาดมืดบ้างอะไรบ้าง (ซึ่งทำให้กัปตันอเมริกามีโล่และบัคกี้มีแขนจวบจนปัจจุบัน) วากันด้าก็ยังพยายามปิดบังความจริงไม่ให้โลกภายนอกล่วงรู้ ปัญหาก็เลยเกิดเมื่อมีคนไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้ ที่สำคัญ คนคนนั้นเป็นพระราชวงศ์ชั้นสูงด้วย ความขัดแย้งดังกล่าวจึงพัวพันอีรุงตุงนังเป็นความยุ่งขิงที่รอเวลาปะทุ แล้วก็มาระเบิดในช่วงพระราชพิธีราชาภิเษกของเจ้าชายทีชัลลาพอดี #เริ่ดข่าาาา

ความสำเร็จของหนัง Black Panther นั้น นับว่าเป็นปรากฏการณ์ของโลกภาพยนตร์ได้เลยทีเดียว หรือจะมองให้กว้างออกไปเป็นปรากฏการณ์ในเชิงสังคมและการเมืองด้วยก็ย่อมได้ เพราะการที่หนังนำเสนอเรื่องราวของคนผิวดำกลุ่มหนึ่งในฐานะซูเปอร์ฮีโร่และมนุษย์ที่มีความยิ่งใหญ่สูงส่งในประการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานภาพ ลักษณะนิสัย ความรู้ความฉลาด ความเก่งกล้าสามารถ และอุดมการณ์ พร้อมทั้งเชิดชูความยิ่งใหญ่นั้นอย่างจริงใจ อย่างควรค่า และอย่างเคารพ ก็นับเป็นการประกาศเกียรติยศศักดิ์ศรีของคนเชื้อสายแอฟริกันอย่างเต็มภาคภูมิ ที่สำคัญ นี่เป็นครั้งแรกก็ว่าได้ ที่หนังซูเปอร์ฮีโร่ได้นำกระแสความเคลื่อนไหวทางศิลปะและวัฒนธรรมของคนผิวดำมาเป็นรากฐานของการเล่าเรื่องและการดีไซน์องค์ประกอบทุกอย่าง เพื่อสะท้อนภาพ ‘คนดำในอุดมคติ’ ผู้มีความภูมิใจในรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมชนเผ่า ที่ยึดโยงอยู่กับพิธีกรรม ตำนาน และสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเจ้าของทรัพยากรและเทคโนโลยี ซึ่งขับเคลื่อนไปด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการสร้างสรรค์องค์ความรู้

เพื่อให้เห็นภาพชัด ดิฉันขอยกตัวอย่างเรื่องกำเนิดวากันด้าละกัน ไหนๆ ก็เกริ่นไว้แล้ว เรื่องนี้มันเป็นตำนานที่มีความผูกพันกันอยู่ 2 ส่วน ระหว่างไวเบรเนียมซึ่งเป็นความไฮเทค กับเทวีเสือดำซึ่งเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิม แล้วทั้งสองส่วนนี้ก็นำไปสู่การก่อกำเนิดของแบล็กแพนเธอร์ ผู้ได้พละกำลังเหนือมนุษย์ของเสือดำ จากการกินสมุนไพรที่งอกขึ้นมาด้วยพลังแห่งไวเบรเนียม สวมชุดเกราะสุดไฮเทคที่สร้างจากไวเบรเนียม โดยสามารถเก็บซ่อนทั้งชุดไว้ในรูปเครื่องประดับแบบชนเผ่าซึ่งละม้ายสร้อยคอที่ทำจากเล็บเสือดำ จะเห็นได้ว่า วัฒนธรรมชนเผ่ากับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีมันผสมผสานกลมกลืนเข้าด้วยกัน แบบเข้าไปถึงเลือดถึงเนื้อแซ่บนัวมาก #อย่าเข้าใจผิดว่าเดี๊ยนกำลังชวนกินเสือดำ แล้วมันจะเป็นแบบนี้ทุกองค์ประกอบเลย แม้กระทั่งรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ดูแล้วสนุกมากมาย

ทีนี้พอได้เสนอภาพ ‘คนดำในอุดมคติ’ แล้ว ก็ขยายผลไปสู่ ‘การโต้กลับ’ จากที่ผ่านมาคนดำต้องตกเป็นเบี้ยล่างของคนขาว ต้องตกเป็นทาส เป็นพลเมืองชั้นสอง เป็นประชาชนในประเทศด้อยพัฒนา ถูกเหยียดหยามให้อยู่ในสถานะที่ต่ำกว่ามาโดยตลอด หนังเรื่องนี้ได้นำเสนอภาพคนดำที่เหนือกว่าคนขาวแทบจะทุกทาง อยู่ในประเทศที่ร่ำรวยกว่า เจริญกว่าในทุกทาง และอยู่ในฐานะผู้ที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือ ไม่ใช่ผู้รับความช่วยเหลือ น่าสนใจที่ว่า การไม่แสดงตัวว่าเหนือกว่า จริงๆ แล้วอาจจะยิ่งเป็นการตอกย้ำความเหนือกว่าก็ได้ ที่เด็ดสุดคือ ตัวละครตัวหนึ่งตั้งเป้าไว้ว่าจะล่าอาณานิคมกันเลยทีเดียว แต่หนังก็ตะล่อมการโต้กลับนี้ให้ลงเอยอย่างนุ่มนวล ให้เห็นว่าการแก้แค้นไม่มีประโยชน์อะไร ไม่ใช่วิสัยของผู้เจริญ ทำให้หนังมีน้ำเสียงที่ไม่ก้าวร้าว แฝงนัยไว้แบบสวยๆ เป็นผู้ดีมีสกุล

จนถึงบัดนี้ มาร์เวลยังไม่เคยพลาดเลยในการเลือกนักแสดงมารับบทตัวละครเอก ดิฉันเคยปรารภไว้ตั้งแต่เรื่อง Ant-Man แล้ว (อ่านได้ในเบี้ยน้อยหอยน้อย 044) ว่ามาร์เวลมักจะไม่เลือกพระเอกแถวหน้าของวงการมาเล่น แต่เลือกคนที่จะถ่ายทอดบทบาทของตัวละครนั้นได้จริง สำหรับแชดวิก โบสแมน ท่านที่เคยดูหนังเรื่อง Draft Day เมื่อปี 2014 คงจะจำได้ว่าเขาเล่นเป็นนักอเมริกันฟุตบอลเลือดร้อนจอมโวย ออกแนวชาวบ้านหน่อยๆ แต่พอมารับบทเจ้าชายทีชัลลา ออร่ากษัตริย์มาเต็ม ซึ่งออร่าแบบนี้ใช่จะมีกันทุกคนได้ แม้กระทั่งท่าเดินก็ยังดูเป็นขัตติยชาติทุกกระเบียด มีความสง่างาม ทรงอำนาจ แต่ก็อ่อนโยนนุ่มนวล

อีกอย่างที่มาร์เวลไม่ค่อยพลาด ก็คือการสร้างตัวละครให้มีลักษณะนิสัยเฉพาะตัวที่น่าติดตาม เข้าถึงได้ และทำให้เรารักได้ โดยเฉพาะในหนังเรื่องนี้ ด้วยความที่ตัวละครหญิงทุกตัว ทั้งฉลาด ห้าวหาญ และเก่งกล้าสามารถมาก ฝ่ายชายก็เลยออกจะเกรงใจ ยึดมั่นในวัฒนธรรมของ ‘ชนเผ่าเกลียมัว’ อย่างเคร่งครัด น่ารักจุงเบย #สมาคมแม่บ้านวากันด้าจงเจริญ

สรุป: จ่าย 140 ได้กลับมา 238

ภาพ: แชดวิก โบสแมน กับสร้อยเส้นนั้น (ปกหน้า นิตยสาร Rolling Stone ฉบับที่ 1308 วันที่ 8 มีนาคม 2561), ที่มาภาพ: etonline.com

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

26 กุมภาพันธ์ 2561

(ขอบคุณภาพปกจาก capesonfilm.com)