โดย ศุภางค์ จิระรัตนวรรณะ

ประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของคนไทย จนแทบจะเป็นเหมือนอยู่ประตูข้างบ้านที่ทุกคนพร้อมเดินทางไปได้อย่างง่ายดายในทุกวันนี้  นอกเหนือจากการไปท่องเที่ยว ชอปปิง กินอาหาร และขนมหวานที่ขึ้นชื่อทั้งหลาย สิ่งที่ดึงดูดผู้ไปเยือนคงเป็นวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวญี่ปุ่นที่มักสร้างความประทับใจได้เสมอ การได้มีโอกาสไปสัมผัสชีวิตนักเรียนญี่ปุ่นชั้นประถมอยู่สามสี่ครั้ง ทำให้เราได้เห็นถึงวินัยที่ไม่ดูเคร่งเครียด และเด็กก็ยังคงเป็นเด็ก

การมีชาวต่างชาติไปที่โรงเรียนนั้นเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับเด็กทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้มีโอกาสพูดคุย เล่นเกม และรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน  พวกเราสิบชีวิตเตรียมเกมและของรางวัลเป็นตุ๊กตาพวงกุญแจช้าง และพวงกุญแจโลหะรูปต่างๆ ที่เกี่ยวกับประเทศไทย มีนักเรียนระดับชั้นประถม 3 ถึงประถม 6 แล้วแต่โรงเรียนไหนจะจัดนักเรียนกลุ่มไหนมา แต่สิ่งหนึ่งที่เราสัมผัสได้ชัดเจนคือ ความมีวินัย ตรงต่อเวลา และการกล้าแสดงออกของเด็กๆ ญี่ปุ่นนั้น เหลือเฟือ!

เกมมีทั้งการตอบคำถาม ถามคำถาม การละเล่นแบบญี่ปุ่นและไทย  ซึ่งทำให้ของรางวัลหมดไปอย่างรวดเร็ว เด็กๆ ที่นี่ไม่ใช้สมาร์ตโฟน จึงตื่นเต้นมากเวลาเราหยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาเพื่อถ่ายรูป หรือเพื่อปรึกษาอากู๋เรื่องศัพท์ภาษาญี่ปุ่นเพื่อสื่อสารกับเด็กๆ พวกเขากระตือรือร้นที่จะช่วยเหลือเราเวลาสอนเราเล่นเกม หรือของเล่นต่างๆ และใส่ใจกิจกรรมที่กำลังเกิดขึ้น แม้ว่าจะไม่เข้าใจภาษากันดีนัก แต่เด็กๆ ล้วนให้ความร่วมมือเพื่อให้กิจกรรมแต่ละอย่างลุล่วงไปด้วยดี  

สิ่งที่อดพูดถึงไม่ได้ คือ การแสดง marching band ของเด็กๆ ที่ดูจริงจัง อลังการ จนพวกเรายิ้มทั้งน้ำตา ช่างน่ารักน่าชื่นชมและให้เกียรติพวกเราเป็นอย่างมาก คุณครูทั้งหลายก็ยืนคอยดูแลอยู่ห่างๆ แบบไม่ต้องพูดต้องสั่งอะไรเลย ทุกคนรู้หน้าที่ วิ่งกรูกันทำโน่นทำนี่ จนพวกเรางง พอถึงเวลาแยกย้ายไปใช้เวลากับห้องเรียนต่างๆ เด็กนักเรียนแต่ละห้องก็จะมาจูงมือเราไปที่ห้อง เรียกชื่อเรา แล้วก็แย่งกันพูดเป็นภาษาญี่ปุ่นบอกเราว่า อาหารวันนี้มีอะไรบ้าง (แล้วเราเข้าใจไหม? ไม่เลยจ้า) แต่เห็นความพยายามแล้วต้องยกนิ้วให้ พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ก็ใช่ว่าจะเงียบ แย่งกันพูดแย่งกันอธิบายถึงอาหาร เวลาเราทำหน้าไม่เข้าใจ

เมื่อถึงเวลาพักกลางวัน เสียงกริ่งดังกริ๊ง  เด็กๆ บางกลุ่มจะรีบไปสวมหมวกพ่อครัวสีขาว ใส่ผ้ากันเปื้อน จัดโต๊ะหลังห้อง และไปยกหม้อข้าว หม้อแกง ถาดขนมปัง กล่องนม และอื่นๆ มาวางเรียงกันไว้ที่โต๊ะหลังห้อง พร้อมยืนประจำที่เพื่อตักอาหารที่ตนรับผิดชอบใส่ถาดอาหารของเพื่อนๆ เด็กคนอื่นๆ ก็กระวีกระวาดจัดโต๊ะที่นั่งให้พวกเรานั่งหัวโต๊ะของแต่ละกลุ่มพร้อมยกอาหารมาวางให้ครบ  พอเราทำท่าหยิบตะเกียบ (ก็แค่จะดูเท่านั้นจ้า) เขาก็รีบบอกว่า อย่าเพิ่งนะ ต้องรอกินพร้อมกัน ต้องพนมมือพูดไรงี้ก่อน (อันนี้เข้าใจจากภาษากาย และความรู้ด้านวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่พอมีติดตัว เพราะคุณน้องเขาพูดภาษาญี่ปุ่นรัวๆ)  ขณะรับประทานอาหารก็พูดคุยกันระหว่างเด็กๆ กันเอง เด็กกับครูประจำชั้น ซึ่งให้ความรู้สึกเหมือนเป็นพี่สาวมากกว่าเป็นครู คุยเล่นกันสนุกสนาน ทันใดนั้น มีเสียงต่องติงต๊องดังขึ้น ทั้งห้องเงียบกริบทันที และตั้งใจฟังว่าประกาศเรื่องอะไร ขอบอกว่า ประทับใจมาก “วินัย” เป็นแบบนี้เองสินะ

เมื่อรับประทานอาหารเสร็จ ทุกคนจะเอาถาดไปวาง มีคนรับผิดชอบคอยเก็บไปไว้ส่วนกลาง และมีอีกกลุ่มที่ทำหน้าที่แกะกล่องนมล้าง ตากใส่กะละมัง เพื่อไปรีไซเคิลต่อไป เด็กๆ ชวนเราไปล้างมือหลังกินข้าว (คุณพี่อยากกอดทุกคนมาก ณ จุดนี้) เมื่อถึงเวลาต้องร่ำลา (อิ่มแล้วก็กลับค่ะ) เด็กๆ ก็มารุมล้อม เรียกชื่อ พูดโน่นพูดนี่ ซึ่งเราไม่เข้าใจทั้งหมด แต่เราเห็นแววตาเป็นมิตร และก็กอดกับเด็กๆ ทุกคนเลย พวกเขามาโบกมือส่งเราที่หน้าห้อง โดยมีตัวแทนห้องสองคน เดินพาเราไปส่งที่ห้องรับรอง (รู้งานอย่างยิ่ง)  

ที่อดพูดถึงอีกไม่ได้ คือ ฉากตอนเข้าห้องน้ำ เพราะทุกพักกลางวัน เด็กทุกระดับชั้นจะมีหน้าที่ทำความสะอาดส่วนต่างๆ ของโรงเรียน เมื่อเราเข้าไปเจอเด็กหญิงตัวน้อยสามคนในชุดผ้ากันเปื้อน สวมรองเท้าบูทยาง มือถือแปรงขัดห้องน้ำ  และผ้าเช็ดทำความสะอาด และมีผ้าปิดปากเรียบร้อย เราก็เกรงใจว่าเข้าได้ไหม เด็กๆ ทำท่าเชื้อเชิญ ให้เดินเข้าไป  ผลักประตูห้องน้ำให้ และยกฝาชักโครกขึ้นให้!!! พอเราออกจากห้องน้ำ ก็โค้งลาเราด้วย

ญี่ปุ่นไม่ได้สวยแค่ดอกซากุระ หรือน่ามาเที่ยวชมเพราะอาหารอร่อยๆ แต่เป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ยังแทรกตัวอยู่อย่างเหนียวแน่นในสภาพแวดล้อมที่ต้องเติบโตไปตามวิถีเมือง  ถึงแม้ตึกจะสูงใหญ่แค่ไหน รถไฟฟ้าจะเร็วเท่าไร ก็ไม่สามารถปิดบังความเป็น “ชาวญี่ปุ่น” ที่ชัดเจนแม้อยู่ภายใต้เสื้อผ้าแบบตะวันตก เพราะ ญี่ปุ่น ก็ คือ ญี่ปุ่น อย่างที่คนทั่วโลกรับประกันกับตัวเองได้ว่า ถ้าได้มาญี่ปุ่น ก็จะได้สัมผัสรากเหง้าแบบญี่ปุ่นแน่ๆ