โดย Average Joe

20 มกราคม 2014

ที่มารูป: http://www.thewrap.com

ท่ามกลางความระทึก ตื่นเต้น และเวียนหัว (สำหรับบางคน) สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากในหนัง Captain America เอ้ย Captain Phillips ก็คือ สถานภาพของโจรสลัดโซมาเลียที่ถูกสถานการณ์บังคับให้มาเป็นโจร ในฉากสั้นๆ ฉากหนึ่งที่กัปตันฟิลลิปส์ถามมูเซ่ แกนนำโจรสลัดว่า มาปล้นเรือทำไม รู้ไหมว่าเรือลำนี้ขนอาหารไปช่วยคนในอัฟริกา รวมถึงโซมาเลียด้วยนะ มูเซ่ก็ตอบกลับว่า แล้ว(อเมริกา)รู้บ้างไหมว่าที่อัฟริกาไม่มีจะกิน ก็เพราะอเมริกามาจับปลาในน่านน้ำของเขาไปเสียหมดไงล่ะ ทำเอากัปตันและคนดูอย่างเราเงิบไปพักใหญ่ และแม้กัปตันจะบอกว่า “There’s got to be something other than being a fisherman or kidnapping people.” มูเซ่ก็ตอบกลับมาว่า “Maybe in America, Irish, maybe in America.” 

บทสนทนาข้างต้นทำให้เราต้องมานั่งขบคิดกันต่อเกี่ยวกับอำนาจและโอกาสของคนที่อยู่ในสังคม ชนชั้น และพื้นเพที่ต่างกัน สิ่งที่กัปตันพูดเรื่องทางเลือก (ที่ไม่ต้องเป็นโจร) นั้นก็จริงอยู่ แต่นั่นคือมุมมองของชนชั้นกลางในอเมริกา ที่ที่คำว่า American Dream ยังเป็นทัศนคติหลักของคนทั่วไป ทุกคนล้วนมีโอกาสในการหางาน หาเงิน และความสำเร็จเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น หากแต่กัปตันอาจจะลืมไปว่า ในบางประเทศหรือบางท้องที่ ด้วย “ความจน” เพียงคำเดียว ก็บดบังแม้กระทั่งเศษเสี้ยวแห่งความหวังที่มาชี้ให้เห็นทางด้วยซ้ำ ด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจที่สุดขั้ว ก็ทำให้คนบางกลุ่มต้องพยายามทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอด ซึ่งรวมถึงการแสวงหาอำนาจในการต่อรองที่บังเอิญขัดกับกรอบความถูกต้องของคนอีกกลุ่ม (ที่มีโอกาสมากกว่า) การที่กัปตันแสดงความเห็นออกไปเช่นนั้น แสดงให้เห็นว่า การยืนอยู่ในจุดที่สูงกว่า ก็ไม่ได้แปลว่าจะมองเห็นทุกสิ่งชัดเจนเสมอไป โดยเฉพาะสิ่งที่มองอยู่นั้น มีความซับซ้อนมากกว่าเปลือกที่คลุมไว้อยู่ หากไม่ลงไปลอกเปลือกดูทีละชั้นๆ ก็ไม่อาจเห็นความจริงที่ซ่อนอยู่ชั้นล่างสุดได้ คำถามก็คือ หากเราตกอยู่ในสถานภาพแบบมูเซ่และพวกพ้องบ้าง เราจะเลือก (หากแม้จะมี “ทางเลือก”) ทำอย่างไรกัน

ล่าสุดใครหลายคนคงเซอร์ไพรส์ที่ Tom Hanks และผู้กำกับ Paul Greengrass หลุดโผชิงออสการ์ไปหน้าตาเฉย ถึงใครจะบอกว่าลุงทอมแสดงดีตามสไตล์เดิมๆ (ที่คาดหวังได้) ก็เถอะ แต่การแสดงที่ดีก็คือการแสดงที่ดี (ทีพ่อลีโอที่ทำหน้าเครียดตะเบ็งเสียงใส่คนดูได้ตั้งหลายเรื่อง ก็ยังมีคนยอมรับว่าเขาแสดงดี ใช่ไหมล่ะ) น่าเสียดายที่ลุงทอมแสดงได้แบบถวายหัวขนาดนี้แล้วดันถูกมองข้ามไปเสียได้ (ส่วนตัวชอบลุงทอมในเรื่องนี้พอๆ กับในเรื่อง Cast Away) ส่วนผู้กำกับก็สามารถคุมหนังทั้งเรื่องได้อยู่หมัด ไม่ว่าจะเป็นจังหวะการดำเนินเรื่อง บรรยากาศที่คุกรุ่นด้วยความตึงเครียด รวมทั้งความสมจริงของทุกฉาก ได้แต่ปลอบใจตัวเอง (และสองลุง) ว่า แม้จะไม่ได้เข้าชิงออสการ์ Captain Phillips ก็ยังเป็นหนึ่งในผลงานที่น่าภูมิใจและน่าจดจำของทั้งคู่มากทีเดียว

9/10 ครับ

ปล. Captain Phillips ได้เข้าชิงออสการ์หกสาขาด้วยกัน คือ Best Picture, Best Supporting Actor, Best Editing, Best Sound Editing, Best Sound Mixing และ Best Adapted Screenplay
ปล.2 สิ่งหนึ่งที่เป็นประโยชน์หลังจากดูหนังเรื่องนี้ก็คือ ได้รู้เสียทีว่า Maersk อ่านว่า “เมิร์สก์” แหะๆๆ
ปล.3 แนะนำบทวิจารณ์ Captain Phillips: Only the Strongest Will Survive ในนิตยสาร Starpics ฉบับที่ 837 January 2014 หน้า 122-123