โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

8 มกราคม 2017

ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 086; น้องชายให้บัตรสะสมแต้มของโรงหนังบ้านมา ก็เลยไปดู Lion หนังที่สร้างมาจากเรื่องจริงของเด็กชายชาวอินเดียคนหนึ่ง ผู้ซึ่งถูกโชคชะตาพัดพาจาก ‘บ้านเกิด’ ไปสู่ ‘เมืองนอน’ ในออสเตรเลีย แต่ ‘การเดินทาง’ ของเขาก็หาได้สิ้นสุดเพียงนั้นไม่

ซารู ไบรเออร์ลีย์ เกิดที่หมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่งในเมืองขันทวา รัฐมัธยประเทศ เมื่ออายุ 5 ขวบเขาพลัดหลงกับพี่ชาย ติดอยู่บนรถไฟที่วิ่งไปกัลกัตตา ซึ่งอยู่ห่างจากบ้านถึง 1,600 กิโลเมตร ซารูใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่สองเดือน ก่อนจะถูกส่งไปอยู่บ้านเด็กกำพร้า และได้รับอุปการะโดยสามีภรรยาชาวออสเตรเลียน จอห์นและซู ไบรเออร์ลีย์ หลังจากนั้น 20 ปี คือในปี 2006 (พ.ศ. 2549) เมื่อซารูอายุได้ 25 ก็มีบางสิ่งกระตุ้นเตือนเขาให้คิดถึงอดีตของตัวเอง คิดถึงพี่ชายและแม่ที่แท้จริง ซึ่งน่าจะกำลังรอคอยเขาอยู่ที่บ้านเกิด พอดีในปีนั้น กูเกิลเอิร์ธ (Google Earth) เพิ่งจะเปิดตัว ซารูจึงได้ใช้เป็นเครื่องมือในการตามหาบ้านเดิมจนพบ และได้ถ่ายทอดประสบการณ์อันน่ามหัศจรรย์นี้เป็นหนังสือ ชื่อ A Long Way Home โดยมีแลร์รี บัตต์โรส นักเขียน-นักหนังสือพิมพ์ชาวออสเตรเลียน เป็นผู้เรียบเรียง

หนังสือเล่มนี้ได้รับการดัดแปลงเป็นหนัง Lion โดยการร่วมทุนของออสเตรเลีย อังกฤษ และอเมริกา ผู้แสดงเป็นซารู ได้แก่ เดฟ ปาเตล นักแสดงอังกฤษเชื้อสายอินเดีย ส่วนพ่อแม่บุญธรรมของเขา รับบทโดยนักแสดงออสซีแท้ๆ เดวิด เวนแนม กับนิโคล คิดแมน ร่วมด้วยรูนีย์ มารา ในบทแฟนสาวชาวนิวยอร์กของซารู นับว่าได้ทีมนักแสดงที่แข็งแรงมาก

ดิฉันมีความรู้สึกที่ประหลาดมากเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ กล่าวคือ ระหว่างที่ดู ไม่สามารถตัดสินได้เลยว่าจะชอบหรือไม่ชอบหนังเรื่องนี้ดี ปกติดิฉันจะเซนส์เร็วมาก ดูไปไม่กี่นาทีก็จะรู้แล้ว แต่ Lion ให้ความรู้สึกที่ก้ำกึ่งโดยตลอด ดิฉันคิดว่าเพราะมันสร้างมาจากเรื่องจริง จึงมีอะไรหลายๆ อย่างที่สลับซับซ้อนและน่าหงุดหงิดเกินกว่าเราจะเข้าใจได้ แต่ปรากฏว่าพอเรื่องดำเนินไปถึงตอนจบ มันตอบคำถามให้แก่ความก้ำกึ่งของดิฉันได้ทุกอย่างเลย แล้วความรู้สึกค้างๆ คาๆ ก็เหมือนได้รับการปลดปล่อย ซึ่งเป็นอารมณ์เดียวกับซารูไม่มีผิด ดิฉันเพิ่งเข้าใจว่า ตลอดทั้งเรื่องผู้ชมอย่างเราถูกจัดวางให้อยู่ในฐานะเดียวกับซารู คือเหมือนจะเดินไปข้างหน้าได้ แต่ก็ถูกยื้อยุดไว้ด้วยอะไรบางอย่างอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น “การเดินทางอันยาวไกลเพื่อกลับบ้าน” ของซารู จึงไม่ได้หมายถึงการเดินทางทางกายเท่านั้น แต่มันคือการเดินทางของจิตใจด้วย ซึ่งอย่างหลังนี่แหละที่จะทำให้ชีวิตคนเราก้าวไปข้างหน้าได้อย่างแท้จริง โดยมีอดีตเป็นปัจจัยผลักดันสนับสนุน ไม่ใช่เป็นตัวเหนี่ยวรั้งให้ถอยหลังหรือจมอยู่กับมัน

ที่มาภาพ: http://kino-teatr.ua/

กล่าวถึงการแสดงบ้าง เชื่อว่าหลายๆ ท่านน่าจะรู้จักเดฟ ปาเตล แล้ว เพราะเมื่อตอนแจ้งเกิดจากบทนำในเรื่อง Slumdog Millionaire ในปี 2008 ก็โด่งดังมากอยู่ หลังจากนั้นถ้าไม่นับหนังฮอลลีวูดง่อยๆ เปลี้ยๆ ก็มีหนังอังกฤษอย่าง The Best Exotic Marigold Hotel ซึ่งประสบความสำเร็จมากจนต้องมีภาคต่อ คือ The Second Best Exotic Marigold Hotel เดฟแสดงเป็นเด็กหนุ่มเพี้ยนๆ เปิ่นๆ แต่มีฝันที่ยิ่งใหญ่ โดยประชันบทบาทกับนักแสดงอาวุโสยอดฝีมือเต็มจอ ต่อมาในปี 2016 เขาได้รับบทนักคณิตศาสตร์อัจฉริยะ ศรีนิวาสะ รามานุจัน ใน The Man Who Knew Infinity เป็นการรับบทบุคคลที่มีตัวตนจริงเป็นครั้งแรก แต่ดิฉันดูแล้วรู้สึกว่าฝีมือยังเฉยๆ จนมาเรื่องนี้แหละที่อยู่ดีๆ เขาก็โตขึ้นแบบก้าวกระโดด แสดงอารมณ์ความรู้สึกอึดอัดขัดข้องเจ็บปวดกดดันได้อย่างเข้าถึง จนดึงคนดูไปรู้สึกร่วม ไปตกที่นั่งเดียวกันอย่างไม่ทันรู้ตัวและไม่อาจต้านทานได้เลย น้ำตาแห่งความปลาบปลื้มหยดที่ 1 จึงขออุทิศให้นาง

น้ำตาหยดที่ 2 จะให้ใครไปไม่ได้นอกจากคุณพ่อคุณแม่บุญธรรม ไม่ทราบว่าทุกท่านจำเดวิด เวนแนมได้หรือเปล่า แกเล่นเป็นฟาราเมียร์ใน The Lord of the Rings น่ะฮ่ะ ส่วนนิโคล คิดแมนนี่ไม่ต้องพูดถึง ทุกคนคงรู้จักดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องพูดก็คือ การที่ดาราซึ่งมีพลังดาราสูงมากๆ อย่างสองคนนี้ จะมาเล่นเป็นคนธรรมดาให้ดูน่าเชื่อว่าเป็นคนธรรมดาจริงๆ นั้น มันยากมาก มันจะกดไม่ลง แต่ทั้งสองก็ทำได้อย่างไม่ติดภาพใดๆ โดยเฉพาะคิดแมน แค่ปรากฏตัวฉากแรกก็โดนแล้ว และต่อจากนั้นในทุกๆ ฉากของเธอ ก็ไม่มีฉากไหนเลยที่ดิฉันไม่ร้องไห้

น้ำตาหยดที่ 3 จริงๆ ไม่ควรนับเป็นหยด ควรนับเป็นห่า เป็นน้ำตาที่มอบให้แก่นักแสดงอินเดียทุกคน ไม่รู้มีใครคิดเหมือนดิฉันหรือเปล่าว่านักแสดงอินเดียที่มาเล่นหนังฮอลลีวูดนั้น แต่ละคนทำไมช่างเก่งกาจยังกะแสดงเป็นมาจากท้องพ่อท้องแม่ นี่ตั้งแต่ต้นเรื่องดิฉันก็น้ำตากระเด็นแล้ว แม่ของซารู (แสดงโดย ปริยังกา โบส) พี่ชายของซารู (แสดงโดย อภิเษก ภาระเต) และซารูตอนเด็ก (แสดงโดย ซันนี ปาวาร์) ทำเอาดิฉันตายสนิทจริงๆ แล้วรูนีย์ มารา ก็เกือบตายตามดิฉันไปด้วย 555 แต่ด้วยความที่นางก็ไม่ใช่ธรรมดา เลยเอาตัวรอดไปได้สวยๆ

เห็นดิฉันร้องไห้น้ำตาเป็นเผาเต่านี่ โปรดอย่าเข้าใจว่ามันเป็นหนังเศร้า ดิฉันไม่เคยร้องไห้ให้กับความเศร้า แต่จะมีน้ำตาท่วมท้นเสมอเมื่อได้ดูหนังดีๆ ที่ขับเคลื่อนความคิดและความรู้สึกของดิฉันได้

เมื่อดูจบ ดิฉันก็ตอบตัวเองได้แล้วว่าชอบหรือไม่ชอบหนังเรื่องนี้ ไม่มีความรู้สึกก้ำกึ่งหรือค้างคาอีกต่อไป

ส่วนชื่อหนัง ที่ใช้ชื่อ Lion นั้น ก็เพราะว่า…

สรุป: จ่าย 0 ได้กลับมา 125

หมายเหตุ: Lion เข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ 4 สาขา (พรุ่งนี้เช้าประกาศผล มาลุ้นกัน)

  1. ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมประเภทดรามา
  2. นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมในภาพยนตร์ – เดฟ ปาเตล
  3. นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมในภาพยนตร์ – นิโคล คิดแมน
  4. ดนตรีประกอบยอดเยี่ยม