ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 147; ดู Thor: Ragnarok หนังเรื่องสุดท้ายของไตรภาค Thor เรื่องที่ 5 ของเฟสสามแห่งจักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล และถ้านับรวมตั้งแต่เฟสหนึ่งก็เป็นเรื่องที่ 17

ในบรรดาซูเปอร์ฮีโร่ทีมอเวนเจอร์สทั้งหมด มีธอร์เพียงคนเดียวที่มีสถานะเป็นเทพ ทั้งนี้ เพราะเรื่องราวของธอร์มีที่มาจากเทพปกรณัมของชาวยุโรปเหนือแถบสแกนดิเนเวีย (ประเทศนอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก) ซึ่งเป็นนักเดินเรือผู้สามารถและนักรบผู้โหดเหี้ยม จนได้รับการขนานนามว่า ไวกิง (Vikings ภาษาอังกฤษโบราณแปลว่า โจรสลัด) แต่โดยทั่วไปก็เป็นที่รู้จักในนาม ชาวนอร์ส (Norsemen แปลว่า ชาวเหนือ) เทพปกรณัมนอร์สมีอิทธิพลต่ออารยธรรมยุโรปอยู่พอสมควร เพราะในช่วงที่ไวกิงเรืองอำนาจ เมื่อประมาณ ค.ศ. 650-1070 (พ.ศ. 1193-1613 ราวๆ ช่วงอาณาจักรทวารวดีโน่นน่ะฮ่ะ) ไวกิงได้รุกรบแผ่ขยายอาณาเขตไปแทบจะทั่วทวีปยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งอังกฤษ อิทธิพลอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือ ผลงานวรรณกรรมของนักประพันธ์นามอุโฆษชาวอังกฤษ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ที่เรียกกันว่า ปกรณัมชุดมิดเดิลเอิร์ธ (Middle-earth Legendarium) อันประกอบด้วยนิยายแฟนตาซีหลายชุดหลายเรื่องเรียงร้อยกัน มี The Lord of the Rings และ The Hobbit เป็นต้น

ธอร์ เป็นเทพเจ้าแห่งสายฟ้าของชาวนอร์ส ตามธรรมดาในทุกๆ วัฒนธรรมมักจะมีเทพเจ้าสายฟ้าเป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ เพราะฟ้าผ่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่ากลัวมากสำหรับคนโบราณ (สมัยนี้ก็ยังน่ากลัวข่าาาา) การจินตนาการให้สายฟ้าเป็นพลังอำนาจหรืออาวุธของเทพก็ทำให้อุ่นใจได้ในระดับหนึ่ง แถมยังสนุกด้วย ดังเช่นสองอารยธรรมอันยิ่งใหญ่ทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกอย่างอินเดียและกรีก-โรมัน ก็มีเทพเจ้าสายฟ้าเป็นของตัวเอง อินเดียมีพระอินทร์ เทพผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคแรกเริ่ม ก่อนที่พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม จะมีบทบาทเหนือกว่าในยุคหลัง ส่วนกรีกมีซูส (โรมันเรียก จูปิเตอร์) มหาเทพตลอดกาล เทพทั้งสองมีสายฟ้าเป็นอาวุธ ของพระอินทร์เรียก “วชิราวุธ” ของซูสเรียก “ธันเดอร์โบลต์” ส่วนธอร์ เป็นบุตรของมหาเทพโอดิน มีพลังสายฟ้าอยู่ในตัว ซึ่งโอดินประทานให้

ทีนี้ก็มีอีกทฤษฎีหนึ่งมองว่า เทพเจ้าและเทพปกรณัมทั้งหลายไม่ได้เกิดจากจินตนาการของมนุษย์ที่พบเห็นปรากฏการณ์ธรรมชาติหรอก แท้จริงเทพเจ้าก็คือมนุษย์ต่างดาวหรือ “สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญา” ที่มาเยือนโลกตั้งแต่อดีตกาลนานมาแล้ว โดยนำความรู้และเทคโนโลยีอันก้าวหน้ามาถ่ายทอดให้แก่มนุษย์ในสมัยโบราณ ทำให้มนุษย์สามารถสร้างสรรค์อารยธรรมและสถาปัตยกรรมอันยิ่งใหญ่ต่างๆ ซึ่งแม้แต่ในปัจจุบันก็ยังฉงนสนเท่ห์กันอยู่ว่าสร้างได้อย่างไร คนโบราณในอารยธรรมต่างๆ ทั่วโลกจึงยกย่องมนุษย์ต่างดาวเหล่านั้นเป็นเทพเจ้า และแต่งเทพปกรณัมหรือมหากาพย์เพื่อบันทึกเรื่องราวของเทพเจ้าเหล่านั้น ทฤษฎีนี้เรียกกันว่า ทฤษฎีพระเจ้าอวกาศ (Ancient Alien) มีคนเชื่อเยอะมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกา มาร์เวลก็สนับสนุนทฤษฎีนี้ 555 ดังนั้น ถึงแม้ธอร์ในจักรวาลมาร์เวลจะมีสถานะเป็นเทพ แต่แท้จริงก็คือมนุษย์ต่างดาวซึ่งมนุษย์โลกในสมัยโบราณยกย่องให้เป็นเทพนั่นเอง

เรื่องราวของธอร์ในจักรวาลมาร์เวลค่อนข้างจะอิงกับเทพปกรณัมแบบเก็บเล็กผสมน้อยได้ดีพอควร อย่างจักรวาลวิทยา (cosmology) ตามความเชื่อของนอร์สก็เก็บมา โดยปรับให้ “อาณาจักร” หมายถึงดาวเคราะห์ต่างๆ มีต้นไม้อิกก์ดราซิลเป็นแกนจักรวาล เชื่อมอาณาจักรทั้งเก้าเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย “แอสการ์ด” อาณาจักรของเทพชั้นเอก “วานาไฮม์” อาณาจักรของเทพชั้นรอง “โยธันไฮม์” อาณาจักรของยักษ์น้ำแข็ง “นิฟเฟิลไฮม์” อาณาจักรแห่งน้ำแข็ง “มัสเปลส์ไฮม์” อาณาจักรแห่งไฟ “มิดการ์ด” อาณาจักรของมนุษย์ (midgard แปลว่า แผ่นดินที่อยู่ตรงกลาง คืออยู่ระหว่าง ice & fire ของนิฟเฟิลไฮม์กับมัสเปลส์ไฮม์ #อ่อๆผิดเรื่อง) “สวาร์ทัลฟ์ไฮม์” อาณาจักรของเอลฟ์มืด “อัลฟ์ไฮม์” อาณาจักรของเอลฟ์สว่าง และ “นีดาเวลเลียร์” อาณาจักรของคนแคระ การเดินทางเข้าออกระหว่างแอสการ์ดกับอาณาจักรอื่นๆ ต้องใช้ไบฟรอสต์ หรือ “สะพานสายรุ้ง” ซึ่งมีไฮม์ดัลล์เป็นผู้อารักขา ไฮม์ดัลล์ผู้นี้มีดวงตาวิเศษซึ่งเฝ้ามองระแวดระวังไปทั่วทั้งจักรวาล และมีดาบประจำตัวสำหรับเสียบลงในแท่นเพื่อเปิดปิดสะพานสายรุ้ง หากปราศจากดาบนี้ ต่อให้มีคาถาสะเดาะกุญแจแบบขุนแผนก็เปิดไม่ได้

หนัง Thor ภาคแรกเมื่อปี 2011 เปิดตัวธอร์ เจ้าชายแห่งแอสการ์ด (แสดงโดย คริส เฮมส์เวิร์ธ) โอรสของราชาโอดิน (แสดงโดย แอนโธนี ฮอปกินส์) กับราชินีฟริกกา (แสดงโดย เรเน รุสโซ) ธอร์มีน้องชายบุญธรรมชื่อ โลกิ (แสดงโดย ทอม ฮิดเดิลสตัน) ซึ่งมีชาติกำเนิดเป็นยักษ์น้ำแข็ง โอรสของราชาลาฟฟีแห่งโยธันไฮม์ โอดินเอาลูกเขามาเลี้ยงเอาเมี่ยงเขามาอมตั้งแต่โลกิยังเป็นกุมารน้อย เมื่อแอสการ์ดกับโยธันไฮม์ทำสงครามกันอย่างดุเดือด จนโอดินเสียดวงตาข้างขวาไป สุดท้ายสองฝ่ายเลยเซ็นสัญญาสงบศึกกัน โดยโอดินขอโลกิมาเลี้ยงด้วย ทำนองจะให้เป็น ‘องค์ประกันหงสา’ ฝ่ายลาฟฟีก็โอเคสิ อยู่ดีๆ เหมือนมีคนมาเสนอว่า “ให้ลูกยูมาเป็นไส้ศึกที่บ้านไอมั้ย ไอจะเลี้ยงดูให้อย่างดี” เงี้ย ด้วยเหตุนี้ โลกิจึงได้มาเป็นเจ้าชายแห่งแอสการ์ด เข้าคอร์สเปลี่ยนสีผิวจากสีฟ้าเป็นสีขาวอมชมพูน่ารักมาก #พอก่อน

ธอร์เติบโตขึ้นเป็นนักรบที่เก่งกล้าห้าวหาญ ส่วนโลกิเก่งทางด้านเวทมนตร์มายาศาสตร์ซึ่งได้รับสืบทอดจากราชินีฟริกกา โอดินเห็นว่าธอร์มีคุณสมบัติพร้อมจะเป็นรัชทายาทแล้ว จึงมอบอาวุธวิเศษในคลังสมบัติของแอสการ์ดให้ธอร์อย่างหนึ่ง สิ่งนั้นก็คือ ค้อนโยลเนียร์ ซึ่งมีพลังอำนาจมหาศาล ผู้ที่จะใช้ค้อนนี้ได้มีเพียงผู้ที่คู่ควรเท่านั้น หากไม่ใช่ แค่ยกค้อนก็ไม่ขึ้น แต่ถ้าเป็นคนที่ใช่ แค่แบมืออยู่เฉยๆ ค้อนก็จะลอยกึงกังๆ มาหาเอง (เสียงกึงกังจริงๆ เพราะมาด้วยความเร็วสูง พุ่งชนทุกอย่างที่ขวางหน้า) ปรากฏว่าหลังจากได้ค้อนมาไม่ทันไร ก็มียักษ์น้ำแข็งลักลอบเข้าคลังสมบัติแอสการ์ด โลกิจึงยุให้ธอร์บุกโยธันไฮม์ ฝ่ายธอร์ก็มั่นหน้าอยู่แล้ว ยิ่งมีค้อนยิ่งห้าว จึงชวนโลกิไปกับเพื่อนอีก 4 คน รวมเป็น 6 แล้วจะไปสู้เขาได้ไงคะ สุดท้ายโอดินก็ต้องมาช่วย แต่ลาฟฟีก็ประกาศสงครามกับแอสการ์ดอยู่ดี โทษฐานที่ผิดสัญญาสงบศึก โอดินโกรธมาก จึงลงโทษธอร์ด้วยการยึดพลังสายฟ้า แล้วส่งธอร์ไปยังมิดการ์ด ที่รัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ทำให้ธอร์กลายเป็นเทวดาตกสวรรค์ และได้พบกับ ดร.เจน ฟอสเตอร์ (แสดงโดย นาตาลี พอร์ตแมน) ซึ่งต่อมาก็เป็นแฟนกันตามระเบียบ อีกทั้งนี่ยังเป็นครั้งแรกที่หน่วยชีลด์ได้ค้นพบธอร์ อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเข้าร่วมทีมอเวนเจอร์สของธอร์ด้วย

โลกิจอมขมังเวทย์เสกร่างมายามาหาธอร์ที่มิดการ์ด หลอกว่าโอดินตรอมใจตายไปแล้วเพราะเสียใจเรื่องธอร์ ธอร์จึงไม่ควรกลับแอสการ์ดอีกต่อไป ธอร์ก็เชื่อข่าาาา มารู้ความจริงเมื่อเพื่อน 4 สหายมาตามหาและแจ้งข่าว แต่ยังไม่ทันทำอะไร รัฐนิวเม็กซิโกก็ถูกโจมตีโดยหุ่นยนต์สังหารของแอสการ์ด ซึ่งก็ไม่ต้องสงสัยเลยเนอะว่าฝีมือใคร ธอร์ยอมสละชีพเพื่อปกป้องมนุษย์ ค้อนที่ยกไม่ขึ้นตั้งแต่ตกสวรรค์ลงมาด้วยกันจึงลอยกึงกังมาใส่มือธอร์ ธอร์ปราบหุ่นราบคาบ แล้วรีบไปสกัดโลกิซึ่งกำลังจะไปโยธันไฮม์ ธอร์จึงทำลายสะพานไบฟรอสต์แม่ม ทำให้โลกิลอยละลิ่วหายไปในห้วงอวกาศ

โลกิกลับมาอีกครั้งใน Marvel’s The Avengers หนังอเวนเจอร์สภาคแรก ในปี 2012 โดยพากองทัพเอเลียนมาบุกมิดการ์ด แล้วก็ปั่นหัวคนโน้นคนนี้ตามวิสัย ซึ่งคนที่เชื่อตลอดก็คือธอร์ คือคงแพ้ทางกันอะนะ สุดท้ายโลกิก็ต้องพ่ายแพ้ให้แก่ทีมอเวนเจอร์ส ซึ่งร่วมกันต่อสู้สุดชีวิตจนสามารถปกป้องโลกไว้ได้ แล้วธอร์ก็จับโลกิไปขังคุกที่แอสการ์ด

ต่อมาในหนังธอร์ภาค 2 Thor: The Dark World เมื่อปี 2013 ระหว่างที่โลกิติดคุกอยู่ มาลาคิธราชาเอลฟ์มืดได้บุกแอสการ์ด สังหารราชินีฟริกกา ธอร์จึงต้องเอาโลกิออกจากคุกมาช่วยกันต่อสู้ สุดท้ายโลกิสละชีพตัวเองเพื่อให้ธอร์ปราบมาลาคิธได้สำเร็จ ธอร์เสียใจอาลัยโลกิมาก แต่ปรากฏว่าจริงๆ แล้วโลกิไม่ได้ตาย ฮีกลับไปแอสการ์ด เนรเทศโอดิน แล้วแปลงกายเป็นโอดินปกครองแอสการ์ดแทน

ในหนังอเวนเจอร์สภาค 2 Avengers: Age of Ultron เมื่อปี 2015 (อ่านได้ในเบี้ยน้อยหอยน้อย 035) ทีมอเวนเจอร์สไปปฏิบัติการที่ประเทศโซโคเวีย เพื่อหยุดยั้งหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ “อัลทรอน” ไม่ให้ทำลายล้างโลก การต่อสู้ครั้งนั้นทำให้โซโคเวียเสียหายอย่างหนัก ซูเปอร์ฮีโร่คนหนึ่งในทีมจึงเนรเทศตัวเองขึ้นยานขับไปดาวอื่น เขาผู้นั้นคือ ดร.บรูซ แบนเนอร์ (แสดงโดย มาร์ค รัฟฟาโล) ผู้จะกลายร่างเป็นอสุรกายยักษ์ตัวเขียว “เดอะฮัลค์” เมื่อรู้สึกโกรธหรือจิตใจหวั่นไหวไม่มั่นคง

ที่มาภาพ: joblo.com

หนัง Thor: Ragnarok มีเรื่องราวต่อเนื่องจาก Avengers: Age of Ultron หลังจากศึกโซโคเวียผ่านไปได้ 2 ปีพอดี ระหว่างนั้นที่โลกมนุษย์ ทีมอเวนเจอร์สได้แตกออกเป็นสองขั้วและตีกันเองไปแล้วใน Captain America: Civil War หนังกัปตันภาค 3 เมื่อปี 2016 (อ่านได้ในเบี้ยน้อยหอยน้อย 059) แต่ธอร์กับเดอะฮัลค์ไม่ได้ไปร่วมตีกับเขาด้วย เพราะอยู่นอกโลก และธอร์ก็เลิกกับเจนไปเรียบร้อยแล้ว #สาธุ

“แร็กนาร็อค” ก็คือวันสิ้นโลก (หมายถึง 9 อาณาจักร) ตามเทพปกรณัมนอร์ส แต่ในหนังปรับให้เป็นอวสานแอสการ์ด อาณาจักรอื่นๆ ยังอยู่ดี แร็กนาร็อคเป็นสิ่งที่ถูกทำนายไว้ตั้งแต่สร้างแอสการ์ด ว่าผู้ที่จะล้างผลาญแอสการ์ดจนสิ้นก็คือเซอร์เทอร์ ราชาแห่งมัสเปลส์ไฮม์ (อาณาจักรไฟ) ธอร์มองเห็นแร็กนาร็อคในนิมิตตั้งแต่เริ่มศึกโซโคเวีย พอเสร็จศึก ก็เลยไปมัสเปลส์ไฮม์ เพื่อปราบเซอร์เทอร์ เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม แต่แกใช้เวลาถึง 2 ปีอยู่มัสเปลส์ไฮม์หรืออะไรยังไง อันนี้ก็ช่างมันเถอะ ไปดูโลกิ เอ๊ย! ธอร์ ก็เพลินดีไม่ใช่น้อย เปลี่ยนทรงผมด้วยนาจา อีกนิดเดียวจะไถขาวแล้วข่าาา #ว้าย

แรกเห็นโปสเตอร์หนังเรื่องนี้ จิตดิฉันก็ประหวัดไปถึง Guardians of the Galaxy (อ่านได้ในเบี้ยน้อยหอยน้อย 113) รู้สึกว่าอารมณ์คล้ายๆ กันพิกล พอไปดูหนัง เอิ่ม! มันเปลี่ยนแนวมาสายตลกเกรียนๆ เหมือนกันนี่เอง คงจะพิจารณาแล้วว่าแนวนี้ตีหัวเข้าบ้านง่ายกว่า สำหรับดิฉันคิดว่าเปลี่ยนมาเป็นแบบนี้ก็บันเทิงดีอยู่หรอก แต่อดเสียดายไม่ได้ว่าความเป็นเอกภาพในฐานะหนังไตรภาคมันก็เสียไป ไม่เหมือนไตรภาคที่จบไปแล้วอย่าง Ironman กับ Captain America ซึ่งมีแนวทางชัดเจนของมันอยู่ และด้วยความที่หนังพยายามประเคนมุข ก็เลยออกจะเฝือในบางจังหวะ ทำให้อืดไปบ้าง จะดีก็ตรงที่ไม่มีนางเจนเนี่ยแหละ เพราะนางเป็นตัวละครที่น่ารำคาญมาก นี่ไม่ได้อิจฉานางเลยนะ ไม่เล้ยยย

ธอร์ในภาคนี้แทบไม่มีรายละเอียดอะไรที่ต่อเนื่องจากสองภาคแรกเลย เรียกได้ว่าเททิ้งเกือบทั้งกระบะ แต่สิ่งหนึ่งที่หนังคงไว้และเลือกให้เป็นแกนกลางที่เชื่อมร้อยหนังทั้งสามภาคเข้าด้วยกัน ก็คือความสัมพันธ์ระหว่างธอร์กับโลกิ หนังนำเสนอความเป็นพี่ชายน้องชายที่รักกันแต่ก็เขม่นกันได้อย่างมีรสชาติและแม่นยำ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่านักแสดงทั้งสองร่วมงานกันมาในโปรเจ็กต์นี้หลายปีแล้ว และสนิทสนมกันมากในชีวิตจริง ก็เลยอ่านขาดว่าจะต้องแสดงออกอย่างไร ไม่งั้นเราคงงงเป็นไก่ตาแตกว่าอิสองคนนี้มันจะอะไรกันนักหนา ผีเข้าผีออกอยู่นั่น กล่าวโดยสรุป ดิฉันว่าความสัมพันธ์อันซับซ้อนแต่คมชัดของธอร์-โลกิคือสิ่งดีงามที่สุดของหนังเรื่องนี้แล้วล่ะ #แล้วขุ่นแม่เคทล่ะอยู่ไหน #ไม่รู้ไม่ค่อยได้ดูนาง 555

สรุป: จ่าย 200 ได้กลับมา 140 (ที่ผ่านมาไม่มีเวลาไปดูเลย จนกลัวหนังจะออกก่อน หลังเลิกงานจึงรีบแจ้นไปดูที่ห้างสรรพสินค้าใกล้บ้าน ดังนั้นที่ขาดทุนนี่ไม่ใช่ความผิดของหนังนะ แต่เดี๊ยนดันดูแพงเอง 555)

โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

22 พฤศจิกายน 2560

(ขอบคุณภาพปกจาก nerdreactor.com)