โดย แม่คนที่สอง

ปัจจุบันดูเหมือนเป็นเรื่องปกติเมื่อเห็นหรือได้ยินคุณแม่คนไทยพยายามพูดภาษาอังกฤษกับลูกในที่สาธารณะ เนื่องจากกระแสโลกาภิวัตน์ที่คืบคลานเข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ภาษา รวมไปถึงวัฒนธรรมการดำเนินชีวิตของคนไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงนี้มีกระแสตอบรับที่ดี โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่นิยมให้ลูกมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ผู้เขียนมีอาชีพครูสอนภาษาไทยในโรงเรียนนานาชาติ ได้มีประสบการณ์และพบเจอนักเรียนไทยในโรงเรียนนานาชาติจำนวนมากที่มีความสามารถใช้ภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วกว่าภาษาไทย บางคนหน้าตาเป็นคนไทย แต่สำเนียงการพูดไม่ใช่คนไทยเลยแม้แต่น้อย มีนักเรียนเคยเล่าให้ฟังว่า เวลาไปเดินซื้อของในห้างสรรพสินค้า หากตนพูดภาษาอังกฤษกับเพื่อน พนักงานขายจะต้อนรับและดูแลดีกว่าตอนที่ใช้ภาษาไทย นี่แสดงให้เห็นว่า คนทุกชนชั้นในสังคมไทยยอมรับและให้เกียรติคนไทยที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี ดังนั้น ภาษาแม่ที่เป็นภาษาไทยจึงถูกลดบทบาทความสำคัญลงไป โดยเฉพาะในกลุ่มสังคมที่พ่อแม่ให้ความสำคัญต่อการใช้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ดี ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ได้เกิดงานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษาเกี่ยวกับความสำคัญของภาษาแม่ (Mother-tongue) เนื่องจากกระแสความเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสังคมไทยเท่านั้น แต่ในสังคมต่างชาติที่มีการย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ในต่างแดนก็มักมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเช่นกันว่า จะดีหรือหากเด็กที่เกิดและเติบโตในต่างแดนไม่ได้ใช้ภาษาแม่เป็นภาษาแรก (First language) เนื่องจากผลงานวิจัยพบว่า ภาษาแม่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการของเด็กในด้านต่างๆ หลายประการ

ประการแรก พัฒนาการทางด้านอารมณ์และจิตใจ หากเรานึกถึงช่วงเวลาที่เด็กคนหนึ่งอยู่ในท้องแม่ ภาษาที่เด็กได้ยินในขณะที่แม่ตั้งครรภ์ เป็นภาษาที่มีบทบาทสำคัญต่อการหล่อหลอมความคิดและอารมณ์ของเด็กคนนั้น นักจิตวิทยาเด็กกล่าวว่า การรับรู้เรื่องราวของเด็กจะเริ่มต้นจากภาษาแรกที่แม่ใช้ ความรู้สึกแรก ความสุข ความกลัว และคำพูดคำแรกของเด็กจะสื่อสารได้ด้วยภาษาแม่ ดังนั้น ภาษาแม่จึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างกรอบความคิด อารมณ์ และทัศนคติที่มีต่อโลกของเด็กคนหนึ่ง ความผูกพันของเด็กกับพ่อแม่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับ “แม่”) จะเกิดขึ้นได้จากการแสดงออกซึ่งความรัก ความเมตตา ผ่านภาษาที่แม่ใช้ ภาษาแม่ถ่ายทอดไปถึงหัวใจของลูก ทำให้ลูกเกิดความรักและเชื่อมั่นศรัทธาในตัวแม่ เนลสัน แมนเดลากล่าวว่า “If you talk to a man in a language he understands, that goes to his head.  If you talk to him in his language, that goes to his heart.”  นั่นหมายความว่า การสื่อสารกับคนคนหนึ่งด้วยภาษาแม่ที่เขาใช้ มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการเข้าไปสัมผัสถึงจิตใจของคนคนนั้น

ประการที่สอง ภาษาแม่เป็นเครื่องมือแสดงเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของลูก ภาษาแม่จะเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเด็กคนหนึ่งกับวัฒนธรรมของสังคมนั้น และสร้างให้เด็กรู้จักตัวเอง  เด็กที่ไม่รู้จักภาษา วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่มาของชนชาติที่ตนถือกำเนิด จะสูญเสียความเชื่อมั่นและความศรัทธาในตัวเอง ครอบครัวและสังคม รวมทั้งชนชาติที่ตนถือกำเนิดมา จากงานวิจัยของ Intercultural Development Research Association (IDRA) ซึ่งทำการวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกามากว่า 40 ปี กล่าวถึงความสำคัญของภาษาแม่ว่า ช่วยให้เด็กมองเห็นความเป็นตัวตน (Identity) ที่แท้จริงของตัวเอง และเห็นคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ การเห็นคุณค่าของเอกลักษณ์และความเป็นตัวตนนี้จะช่วยเสริมสร้างให้เขามีมุมมองที่ดีต่อตนเองและบุคคลแวดล้อมที่อยู่เคียงข้าง ทั้งพ่อแม่ ครูอาจารย์ และปู่ย่าตายาย และสร้างนิสัยให้เขาไม่ดูถูกคนอื่นที่มีสถานะทางสังคมต่ำต้อยกว่า

ประการที่สาม ภาษาแม่เป็นพื้นฐานการเรียนรู้ภาษาอื่น หากพ่อแม่ใช้เวลาที่บ้านพูดคุยเล่าเรื่องต่างๆ และปรึกษาปัญหาภายในบ้านกับลูกด้วยภาษาแม่ ลูกจะมีพัฒนาการการใช้คำศัพท์ เข้าใจแนวความคิด ค่านิยมและทัศนคติของพ่อแม่และสมาชิกในครอบครัว เมื่อมาถึงโรงเรียน พวกเขาก็จะเรียนรู้ภาษาอื่น และมีความสำเร็จในด้านการเรียน การเรียนรู้ภาษาอื่นได้ดี ผู้เรียนต้องอาศัยทักษะพื้นฐานของการเรียนรู้และการใช้ภาษาแม่ พื้นฐานความรู้ภาษาแม่ที่เข้มแข็งจะช่วยให้เด็กสามารถถ่ายทอดวิธีการเรียนรู้ด้านภาษา ในการเรียนภาษาอื่น พวกเขาจะเรียนรู้วิธีการเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างของแต่ละภาษา เขาจะเรียนภาษาที่สองและภาษาที่สามได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าคนที่ไม่ใช้ภาษาแม่เป็นภาษาแรก

ครอบครัวเป็นพลังสำคัญในการเสริมสร้างผลักดันให้ลูกใช้ภาษาแม่เป็นภาษาแรก พ่อแม่ควรสร้างทัศนคติให้ลูกรักและภาคภูมิใจในภาษาแม่ ควรใช้ภาษาแม่ที่บ้าน เล่านิทาน ให้ลูกดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ ฟังเพลง ทำกิจกรรมร่วมกับสมาชิกในครอบครัวด้วยภาษาแม่ หรือแม้แต่ที่โรงเรียนนานาชาติที่ผู้เขียนสอนอยู่ก็สนับสนุนให้เด็กๆ ทุกคนเรียนและใช้ภาษาแม่เป็นภาษาแรกในช่วงวัยเด็ก เพราะนั่นคือช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการสร้างพัฒนาการที่ดีในการสร้างพื้นฐานการรู้ภาษาแรกที่เข้มแข็งที่สุดของชีวิต

“เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว คุณแม่อินเตอร์ทั้งหลายหันมาพูดกับลูกด้วยภาษาไทยจะดีกว่าไหมคะ?”


References

Guvercin Hurisa, Mother Tongue: The Language of Heart and Mind.  Available at http://www.fountainmagazine.com/Issue/detail/Mother-Tongue-The-Language-of-Heart-and-Mind


Cummins, Jim. Bilingual Children’s Mother Tongue Why Is It Important for Education? Available at http://www.iteachilearn.com/cummins/mother.htm. Accessed in June 2009

International Herald Tribune, May 23, 2008. Brain Activity Reveals Mother Tongue. Available at http://www.iht.com/articles/ap/2008/05/23/europe/EU-FEA-GEN-Italy-Language-Of-Thoughts.php


Intercultural Development Research Association, Why is it Important to Maintain the Native Language?” Available at http://www.idra.org/IDRA_Newsletter/January_2000_Bilingual_Education/