โดย ช. คนไม่หวังอะไร

คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ห่วงอนาคตของประเทศ ซึ่งไม่รู้ว่าทิศทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ข่าวสารหรือข้อมูลต่างๆ คงจะได้รับน้อยลง เพราะการปกครองในปัจจุบันเน้นความมั่นคงของคณะผู้ปกครองมากกว่าความมั่นคงของประเทศในระยะยาว สถานการณ์ด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมคงไม่อาจคาดการณ์ได้ แม้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะประกาศใช้บังคับแล้ว แต่กฎหมายลูกหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญยังไม่แล้วเสร็จ ร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง พรรคการเมือง และองค์กรอิสระยังไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร เช่นเดียวกับโครงการเศรษฐกิจขนาดใหญ่ซึ่งรัฐบาลและคสช. ได้ประกาศไปแล้ว แต่ก็ยังไม่มีพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับแผนงานนี้มารองรับ รวมถึงการกำหนดรายละเอียดของการดำเนินการตามโครงการที่ผู้รับผิดชอบได้แถลงแล้วว่าภายในหนึ่งปีต่อจากนี้จึงจะแล้วเสร็จ นอกเหนือจากรายละเอียดต่างๆ ของการร่วมทุนจากภาคเอกชนและต่างประเทศ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรเช่นกัน

อาจต้องยอมรับกันก่อนว่าการปกครองของเรามั่วมาตลอด แม้จะกล่าวและอ้างว่าเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการแบบใดก็ตาม ก็คงไม่จริงทั้งหมด ไม่ว่าจะทหารและข้าราชการปกครอง หรือนักการเมือง นักธุรกิจมาปกครอง หรือผสมผสานกันแต่ละยุคสมัย ก็มีเหตุ มีเงื่อนไข และมีผลทางกฎหมายกับพันธะสัญญาต่อๆ มา ซึ่งบางด้านเชื่อมโยงจากอดีตมาถึงปัจจุบัน นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่สหรัฐอเมริกาชนะสงครามและเป็นผู้กำหนดกติกาใหม่ การปฏิวัติในปี พ.ศ. 2490 โดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ และจอมพล ป.พิบูลสงคราม กับการปฏิวัติ พ.ศ. 2500-2501 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แตกต่างกันอย่างไร หรือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 กับรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 ซึ่งบางคนอาจพอเข้าใจโครงสร้างอำนาจทางสังคม แต่จะเข้าใจลึกซึ้งพอหรือไม่ เพราะไม่ได้หมายถึงเฉพาะด้านการเมือง การเมืองเองก็ไม่ได้เป็นตัวกำหนดทุกอย่าง ระบบเศรษฐกิจ–สังคม–ต่างประเทศ ต่างก็เชื่อมโยงกันหมด สาระสำคัญเหล่านี้ล้วนมีความหมาย ซึ่งหากไม่ทราบรายละเอียดบางด้าน ผู้แก้ก็จะกลายเป็นลิงแก้แห ยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่งมากขึ้น

หลายคนอาจทราบรายละเอียด แต่ก็ไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะเกรงจะตกเป็นเหยื่อทางสังคมหรือเหยื่อของผู้มีอำนาจ ซึ่งน่าเสียดาย ความจริงผู้มีอำนาจควรเปิดใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง เพื่อจะได้ดำเนินการแก้ไขเรื่องใดก่อนอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องที่มีผลกระทบในวงกว้าง เศรษฐกิจแย่ลงเรื่อยๆ คนจนมากขึ้น แต่คนรวยกลับขยายตัวทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นเรื่อยๆ จำนวนคนรวยน้อยลงแต่ปริมาณสินทรัพย์ส่วนตนหรือนิติบุคคลกลับมีมากขึ้น ประเด็นนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้แถลงผลประกอบการนิติบุคคลที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปีพ.ศ. 2559 ว่า บริษัทในตลาดฯ มีจำนวนทั้งสิ้น 567 บริษัท มีกำไรในปี พ.ศ. 2559 รวมกัน 909,000 ล้าน เพิ่มขึ้นจากปีพ.ศ. 2558 ถึง 30.41% ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแจ้งว่า ประชากรถึง 40% (27 ล้านคน) มีรายได้เฉลี่ยในปัจจุบันไม่เกิน 5,344 บาท ต่อคนต่อเดือน ซึ่งในจำนวนนี้มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 3,175 บาท ต่อคนต่อเดือนถึง 10.5 ล้านคน ความหมายโดยสรุปก็คือ ทุนอยู่ในตลาดทรัพย์และสถาบันการเงิน แต่คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงทุนเหล่านี้

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า สถานภาพแรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท โดย 97% ของแรงงานมีภาระหนี้และก่อหนี้ครัวเรือนเฉลี่ยครัวเรือนละ 131,479 บาท เพิ่มขึ้น 10.43% จากปีพ.ศ. 2558 นับว่าสูงสุดในรอบ 8 ปี ใกล้เคียงกับประชากรในภาคเกษตร ส่วนหนึ่งมาจากการมีหนี้สะสมตั้งแต่ 3 ปีที่ผ่านมาจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่แย่ และจากปัญหาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 50 ปีที่ราคาสินค้าเกษตร ทั้งข้าว ยางพารา และน้ำมันปาล์มตกต่ำพร้อมกัน ราคาน้ำมันดิบลดลงทำให้การส่งออกลดลง  ส่งผลให้รายได้ครัวเรือนไม่เพิ่มขึ้น

เมื่อไม่นานมานี้ สวนดุสิตโพลล์สำรวจปัญหาในสายตาคนไทย พบว่า 5 อันดับแรกที่ประชาชนคิดว่าต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน คือ 1. การค้ามนุษย์ การหลอกลวง และการล่วงละเมิดทางเพศ 81.53% 2. การทุจริตคอร์รัปชันและการเรียกรับสินบน 80.20% 3. การทำร้ายกันในครอบครัวและความรุนแรงโหดร้าย 78.32% 4. การปล้นฆ่าชิงทรัพย์และลักทรัพย์ 71.81% และ 5. การหลอกลวงต้มตุ๋นและการฉ้อโกงทรัพย์สิน 61.20%

จากอดีตถึงปัจจุบัน สภาพสังคมไทยโดยรวมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทำให้คนไทยเป็นหนี้ครัวเรือน อันได้แก่ หนี้บ้าน รถยนต์ บัตรเครดิต ถึง 79% ของ GDP ซึ่งคาดว่า GDP ในอนาคตจะโตไม่ทันภาระหนี้ค่อนข้างแน่

ธุรกิจมืดเติบโตรวดเร็วมาก มีมูลค่าหลักล้านล้านบาทต่อปี ไม่ว่าจะเป็นบ่อน ยาเสพติด น้ำมันเถื่อน พนันบอล การค้าประเวณีหญิง-ชาย หรือขายหวย หากเปรียบเทียบรายได้รวมในระบบของทหาร 2 แสนนายและตำรวจ 2 แสนนายยังมีมูลค่าน้อยกว่ารายได้ของธุรกิจผิดกฎหมายเสียอีก การเปิดบ่อนการพนันมีการจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่ที่ทุจริตเรียกว่า “ค่าโต๊ะ” คืนละ 60,000 บาท 10 โต๊ะ ก็ 6 แสนบาท 1 ปี ก็กว่า 300 ล้านบาท การแทงบอลเจ้าหน้าที่ก็ได้รับส่วนแบ่งค่าแทง 20% และมีการคอร์รัปชันที่ต้องจ่ายพิเศษแก่ข้าราชการหรือนักการเมืองที่ทุจริตเพื่อให้ได้สัญญาโครงการ เฉลี่ย 1-15% ซึ่งเอกชนก็รู้ว่าผิดกฎหมาย แต่ก็คุ้มที่จะจ่าย โดยรู้ทางหนีทีไล่ จ่ายใคร จ่ายอย่างไรไม่ให้มีหลักฐาน เอกชนจะกำหนดประมาณการในการจ่ายสินบนดังกล่าว แต่จะคิดกี่เปอร์เซ็นต์ของค่างานนั้นขึ้นอยู่กับการเจรจาโครงการที่จะได้รับ

ความฟอนเฟะทางสังคมเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อเยาวชนและคนรุ่นใหม่อย่างมาก ไม่นานมานี้ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดการค้าประเวณี มีดังนี้ 1. เงินใช้จ่ายไม่เพียงพอ 30.6% 2. ถูกหลอกลวง ถูกบังคับ 24.9% 3. ครอบครัวยากจน 21.5% 4. ความฟุ้งเฟ้อตามสมัยนิยม 11.7% 5. ประชดชีวิต 11.3%

(ขอบคุณภาพปกจาก pixabay.com)