โดย ช. คนไม่หวังอะไร

เมื่อช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกขึ้นในยุโรป มีการนำเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานคน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เกิดภาวะการว่างงานและเศรษฐกิจตกต่ำ สภาพสังคมทั่วไปมีการแบ่งชนชั้นออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายนายทุนกับฝ่ายกรรมกร นายทุนแสวงหากำไรจากการลงทุน กรรมกรถูกบีบคั้น จึงเริ่มแสวงหาหนทางที่จะปลดเปลื้องความทุกข์ นักเศรษฐศาสตร์มีความคิดอยากจะช่วยพยุงฐานะของสังคม จึงได้เสนอแนวทางปรับปรุงสภาพเศรษฐกิจ  โดยร่วมมือระหว่างผู้ที่เดือดร้อนให้รู้จักช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน บุคคลที่สอนให้คนรู้จักคำว่า สหกรณ์ เป็นชาวอังกฤษ ชื่อโรเบิร์ต โอเวน ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ให้กำเนิดการสหกรณ์ขึ้นในโลก และได้รับยกย่องให้เป็นบิดาแห่งสหกรณ์

สหกรณ์ คือ องค์การของกลุ่มบุคคลซึ่งรวมตัวกันโดยสมัครใจ ในการดำเนินวิสาหกิจที่เป็นเจ้าของร่วมกันและควบคุมตามหลักประชาธิปไตยเพื่อสนองความต้องการ(อันจำเป็น) และความหวังร่วมกันทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม สหกรณ์การเกษตรของไทยแห่งแรกจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2459 ชื่อว่าสหกรณ์วัดจันทร์ จังหวัดพิษณุโลก มีขนาดเล็กในระดับหมู่บ้าน ต่อมาแพร่หลายมากขึ้น จนได้มีการแยกประเภทสหกรณ์เพื่อให้ออกเป็น 7 ประเภทเพื่อให้เป็นระบบสหกรณ์มากขึ้น เป็น 7 ประเภทคือ 1. สหกรณ์การเกษตร 2. สหกรณ์การประมง 3. สหกรณ์นิคม 4. สหกรณ์ร้านค้า 5. สหกรณ์บริการ 6. สหกรณ์ออมทรัพย์ และ 7.สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2559 ของกรมการส่งเสริมสหกรณ์ ระบุว่า ไทยมีสหกรณ์ทั้งหมด 8,263 แห่ง แยกเป็นสถานะดำเนินการ 6,861 แห่ง และยังไม่เริ่มดำเนินการ 268 แห่ง รวม 7,129 แห่ง และมีสถานะยกเลิกสหกรณ์ 1,134 แห่ง โดยทั้งหมดแยกเป็นสหกรณ์การเกษตร 3,686 แห่ง สหกรณ์ประมง 81 แห่ง สหกรณ์นิคม 89 แห่ง สหกรณ์ออมทรัพย์ 1,432 แห่ง สหกรณ์ร้านค้า 155 แห่ง สหกรณ์บริการ 1,129 แห่ง และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 557 แห่ง อีกทั้งสามารถแยกเป็น 1. สหกรณ์ภาคการเกษตร (การเกษตร, ประมง, นิคม) 3,699 แห่ง และ 2. สหกรณ์นอกภาคการเกษตร (ออมทรัพย์, ร้านค้า, บริการ, เครดิตยูเนี่ยน) 3,162 แห่ง แต่ละสหกรณ์มีจำนวนสมาชิกดังนี้

  1. สหกรณ์การเกษตร 6,393,812 คน
  2. สหกรณ์ประมง 15,148 คน
  3. สหกรณ์นิคม    184,645 คน
  4. สหกรณ์ออมทรัพย์ 2,935,517 คน
  5. สหกรณ์ร้านค้า 642,782 คน
  6. สหกรณ์บริการ 482,806 คน
  7. สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน 792,695 คน

รวมทั้งสิ้น        11,447,405 คน

จากข้อมูล ณ สิ้นปี พ.ศ. 2558 สหกรณ์ออมทรัพย์มีทุนดำเนินงานคงเหลือ 2.06 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2557 = 8.88% แบ่งเป็น 1. แหล่งเงินทุนภายใน 1,578,991.33 ล้านบาท (เป็นเงินรับฝากจากสมาชิก 610,668.26 ล้านบาท ทุนของสหกรณ์ 955,092.28 ล้านบาท อื่นๆ 13,230.79 ล้านบาท) 2. แหล่งเงินทุนภายนอก 480,465.98 ล้านบาท (เงินกู้ยืม และเครดิตการค้า 458,750.56 ล้านบาท, เงินรับฝากจากสหกรณ์อื่น 21,298.25 ล้านบาท หนี้สินอื่น 417.17 ล้านบาท) การใช้เงินทุนของสหกรณ์ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนให้กู้ยืมแก่สมาชิก 77.27% (1,591,176.25 ล้านบาท) เงินสดและเงินฝากธนาคาร 53,549.92 ล้านบาท เงินฝากสหกรณ์อื่น 66,636.74 ล้านบาท เงินลงทุน 231,316.51 ล้านบาท เงินให้กู้ยืมแก่สหกรณ์อื่นสุทธิ 94,187.37 ล้านบาท ลูกหนี้สุทธิ 8,335.40 ล้านบาท ที่ดินอาคารและอุปกรณ์ 4,815.30 ล้านบาท สินทรัพย์ไม่มีตัวตน 629.85 ล้านบาท สินทรัพย์อื่น 8,809.97 ล้านบาท ผลการดำเนินงานมีรายได้ทั้งสิ้น 121,963.92 ล้านบาท (เป็นรายได้ดอกเบี้ย 109,760.19 ล้านบาท ผลตอบแทนจากเงินลงทุน 11,311.69 ล้านบาท รายได้อื่น 892.04 ล้านบาท) มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 56,671.06 ล้านบาท กำไรสุทธิ ปี พ.ศ. 2558 = 65,292.86 ล้านบาท

ที่ผ่านมาระบบสหกรณ์ไทยเริ่มมีปัญหา สหกรณ์ไทยกลายเป็นดินแดนสนธยา หน่วยงานของรัฐหละหลวมจนเกิดทุจริตขนาดใหญ่ในสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ซึ่งผิดปกติมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2546 แต่เรื่องเพิ่งมาเปิดเผยในปีพ.ศ. 2552 โดยนำเงินฝากของสมาชิกไปปล่อยกู้ให้แก่บุคคลภายนอก 12,000 – 16,725 ล้านบาท ซึ่งผิดกฎข้อบังคับชัดเจน ทำให้สมาชิกจำนวน 56,469 ราย วงเงินรวมกันประมาณ 7,825 ล้านบาท ไม่สามารถถอนเงินฝากได้ และที่สำคัญเงินจำนวนนี้เป็นเงินจากสหกรณ์อื่นๆ อีก 76 แห่ง ซึ่งมีสมาชิก 300,000 คนที่นำมาฝากไว้ประมาณ 7,700 ล้านบาท อาจกระทบสภาพคล่องไปด้วย จากสถานการณ์โดยรวม คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2560 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์  กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหน้าที่เสนอแนะให้มีการตรวจสอบหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขในกิจการของสหกรณ์ซึ่งประกอบธุรกิจเงินทุนขึ้นโดยเฉพาะ และให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีหน้าที่และอำนาจกำกับดูแลสหกรณ์ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกา มีอำนาจสั่งแก้ไขระงับ หากพบความเสียหายต่อประชาชน กับขอให้นายทะเบียนสหกรณ์สั่งให้คณะกรรมการสหกรณ์พ้นจากตำแหน่งหรือสั่งเลิกสหกรณ์ได้

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบแนวทางการปฏิรูประบบการบริหารจัดการและกำกับดูแลกิจการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน จำนวน 2,006 แห่ง สินทรัพย์รวม 2.5 ล้านล้านบาทด้วย ซึ่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเห็นว่า หากปรับหลักเกณฑ์ในการดูแลได้ เชื่อว่าความเสี่ยงของกิจการสหกรณ์จะดีขึ้นได้ ไม่ว่าสหกรณ์จะอยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานใด ทั้งนี้แนวทางปฏิรูปดังกล่าวจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ส่วนสาเหตุที่ไม่นำสหกรณ์มาอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น เป็นเพราะสหกรณ์กระจายอยู่ทั่วประเทศ และพันธกิจของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ดูแลความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบอยู่แล้ว ส่วนหลักเกณฑ์กำกับดูแลกิจการสหกรณ์ 4 ด้านหลักมีดังนี้ 1. กำกับดูแลทางการเงินด้วยแนวทางเดียวกับสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 2. ร่างระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ซึ่งจะมีสาระสำคัญในเรื่องธรรมาภิบาล ถ่วงดุลอำนาจ และการปล่อยสินเชื่อ 3. การลงทุนของสหกรณ์ต้องไม่เกิน 10% ของส่วนของผู้ถือหุ้น มูลค่าการลงทุนในหุ้นกู้ของแต่ละบริษัทต้องไม่เกิน 5% ของปริมาณหุ้นกู้ของบริษัทนั้น และการให้กู้แก่สหกรณ์หนึ่งต้องไม่เกิน 10% ของส่วนของผู้ถือหุ้นหรือไม่เกิน 15 ล้านบาท 4. ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ต้องดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 6% ของเงินรับฝากและเงินกู้ยืม

เมื่อไม่กี่วันมานี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาลงนามร่วมกับสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 16แห่ง เพื่อนำร่องแก้ไขปัญหาหนี้ครู ซึ่งปัจจุบันครูทั่วประเทศทุกสังกัดจำนวน 5 แสนคนมีหนี้สินประมาณ 3 แสนล้านบาท โดยมุ่งเน้นช่วยเหลือครูในภาวะวิกฤติก่อน ด้วยการรวมหนี้มาไว้ที่เดียวในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 3.5 ครอบครัวต้องมาทำข้อตกลงร่วมด้วย ซึ่งในช่วงแรกจะเริ่มต้นประมาณ 1,000 คนและจะทยอยเพิ่มขึ้น

(ขอบคุณภาพปกจาก pixabay.com)