โดย ช. คนไม่หวังอะไร

ธนาคารแห่งประเทศไทยสรุปธุรกิจปี พ.ศ. 2559 โต 24% นักลงทุนชาวไทยแห่ลงทุนในต่างประเทศ ส่วนใหญ่ไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกา 1.86 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2558 ที่ 8.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 9.8 หมื่นล้านบาท หรือ 112.5% รองลงมาคือประเทศญี่ปุ่น 1.35 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2558 ที่ 8.27 หมื่นล้านบาท คิดเป็นการเพิ่มขึ้น 5.2 หมื่นล้านบาท หรือ 63.9% กลุ่มอาเซียนเป็นภูมิภาคที่นักลงทุนไทยไปลงทุนเพิ่ม โดยในปี พ.ศ. 2559 มีการลงทุนรวม 1.01 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2558 ที่ 7.5 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.7 แสนล้านบาท คิดเป็น 36%

กลุ่มธุรกิจที่ออกไปลงทุนค่อนข้างมาก คือ กลุ่มการผลิตอาหาร ในปี พ.ศ. 2559 มีมูลค่าการออกไปลงทุนรวม 2.88 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2558 ที่ 1.14 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 65.6% กลุ่มการผลิตเครื่องดื่ม ปี พ.ศ. 2559 มีมูลค่าการออกไปลงทุน 1.46 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.87 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 50.15% กลุ่มคอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ทางทัศนศาสตร์มีมูลค่า 4.88 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 48.47% กลุ่มผลิตยานยนต์รถพ่วงและรถกึ่งพ่วง มีมูลค่าการลงทุน 8.78 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 145.6% กลุ่มไฟฟ้าก๊าซไอน้ำและระบบการปรับอากาศมีมูลค่าการลงทุน 3.78 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 90.1% กลุ่มกิจกรรมการเงินและประกันภัย มีมูลค่าการลงทุน 4.87 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.35%

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของนักลงทุนชาวไทยเพิ่มขึ้นทุกปีและสูงกว่าการลงทุนในประเทศ ในปี พ.ศ. 2559 เอกชนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ 2.92 ล้านล้านบาท ขณะที่มีการลงทุนในประเทศ 2.55 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2553 ซึ่งเอกชนไทยลงทุนในต่างประเทศเพียง 2.65 แสนล้านบาท ขณะที่ลงทุนในประเทศ 1.93 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่ลงทุนในกลุ่มอาเซียนประมาณ 31% โดยตั้งบริษัทโฮลดิ้งในประเทศที่ให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี หรือ Tax heaven มากขึ้น เช่น หมู่เกาะเคย์แมนและหมู่เกาะเวอร์จิน คิดเป็นสัดส่วน 15% ฮ่องกง 10% มอริเชียส 8% ส่วนญี่ปุ่น จีน และสหรัฐฯ มีสัดส่วนแห่งละ 4% สำหรับอุตสาหกรรมที่ไปลงทุนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาโดยไม่รวมภาคการเงิน คือ ธุรกิจขายส่งและขายปลีก การทำเหมืองแร่และเหมืองหิน การผลิตอาหาร เครื่องดื่ม และการผลิตเคมีภัณฑ์ พลังงานด้านไฟฟ้า ก๊าซและไอน้ำ เนื่องจากประเทศเกิดใหม่หลายประเทศเศรษฐกิจเติบโตดีกว่าไทย มีสัดส่วนวัยทำงานมากกว่า 50% ของประชากรทั้งหมด เช่น เวียดนาม ลาว พม่า และอินเดีย

กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกล่าวว่า เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2559 พบว่าบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้จากการลงทุนในต่างประเทศมีจำนวน 192 บริษัท โดย 150 บริษัทเป็นการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV และอาเซียน รายได้จากการลงทุนจากต่างประเทศก็เพิ่มขึ้น คิดเป็น 46% ของรายได้รวม จากปี พ.ศ. 2558 อยู่ที่ 45% แม้สัดส่วนจะเพิ่มไม่มากแต่ในด้านตัวเงินเพิ่มสูงเนื่องจากฐานที่สูง ส่วนประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพเปิดเผยว่า นักลงทุนไทยยังลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะ กลุ่มประเทศ CLMV คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม แต่ส่วนใหญ่เน้นที่พม่า เพราะเพิ่งจะเปิดประเทศรับการลงทุนจากต่างประเทศ ค่าแรงยังไม่สูง โดยอุตสาหกรรมที่ยังมีการลงทุนดี คือ เสื้อผ้าและอาหาร เป็นต้น

นั่นเป็นข้อมูลด้านดีสำหรับระบบทุนนิยม และไม่แปลกอะไร เพราะการลงทุนต่างๆ นั้นย่อมแสวงหาผลกำไร การเคลื่อนย้ายทุนจากภาคเอกชนมีข้อสังเกตที่สำคัญ คือ ช่วงปี พ.ศ. 2553 กับ ปี พ.ศ. 2559 แตกต่างกัน อาจบ่งชี้อะไรในหลายๆ ด้านว่าทำไมในประเทศจึงไม่ค่อยมีการลงทุนในช่วงระยะเวลา 5 ปีมานี้ ทำให้ประชากรของประเทศมีภาวะการดำรงชีพที่ถดถอยลง หนี้สินมากขึ้น แม้รัฐบาลจะแสดงความห่วงใยเฉพาะกิจ โดยมีมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยเมื่อปี พ.ศ. 2559 เปิดให้ลงทะเบียน 30 วัน มีผู้มาลงทะเบียนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรและอาชีพอื่นๆ 8.3 ล้านคน ซึ่งมีรายได้ไม่ถึง 100,000 บาทต่อปี รัฐได้ให้การช่วยเหลือผู้มีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาท/ปี คนละ 3,000 บาท กับผู้ที่มีรายได้กว่า 30,000 แต่ไม่ถึง 100,000 บาท/ปี คนละ 1,500 บาท ซึ่งหลังจากตรวจสอบโดยละเอียดแล้วมีผู้มีสิทธิ์ถูกต้อง 7.7 ล้านคน ใช้งบประมาณ 12,750 ล้านบาท ขณะที่ในปี พ.ศ. 2560 รัฐเปิดให้ลงทะเบียน 45 วัน และเพิ่มจุดลงทะเบียนให้มากขึ้น มีผู้มาลงทะเบียน 14 ล้านคน

จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ในจำนวนผู้มาลงทะเบียน 7.7 ล้านคนในปี พ.ศ. 2560 พบว่า 5 ล้านคนเป็นผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท/ปี ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจนถึง 3.66 ล้านคน ในจำนวนนี้มีอาชีพเกษตรกร 1.3 ล้านคน ว่างงาน 1.3 ล้านคน และกลุ่มที่มีอาชีพเป็นผู้รับจ้าง พนักงานรัฐ ค้าขาย ก่อสร้าง อีกประมาณ 1 ล้านคน ที่เหลือเป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา อีกราว 6.9 หมื่นคน สำหรับส่วนที่ลงทะเบียนผ่านธนาคารออมสิน 3.6 ล้านคน ธนาคารกรุงไทย 2.34 ล้านคน สำนักงานเขต 50 แห่งของกรุงเทพมหานคร 1.41 แสนคน และผ่านคลังจังหวัด 1.5 แสนคน ยังไม่สำรวจข้อมูลเบื้องต้น โดยในปี พ.ศ. 2560 รัฐบาลยังไม่มีข้อสรุปว่าจะให้การช่วยเหลือเช่นไร คงต้องรอกระทรวงการคลังสรุปเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา หลังจากที่กระทรวงการคลังเตรียมตั้งกองทุน 50,000 ล้านบาท รองรับสวัสดิการแห่งรัฐ

คนจนในประเทศยังมีอีกมากที่ยังไม่ได้มาลงทะเบียน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือ TDRI เปิดเผยสถานการณ์ในไทยว่า ครัวเรือนไทยกว่า 49% หรือ 10 ล้านครัวเรือนจากทั้งหมด  21 ล้านครัวเรือนเป็นหนี้ โดย 91.4 % เป็นหนี้ในระบบ และอีก 4.9% เป็นหนี้นอกระบบ ที่เหลือ 3.7% มีหนี้ทั้ง 2 แบบ ทั้งนี้แรงงานไทยที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 15,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน เป็นหนี้ถึง 97% (มูลค่าเฉลี่ย 132,000 บาท) โดยหนี้นอกระบบส่วนใหญ่เคยผิดนัดชำระหนี้ อาชีพที่มีหนี้มากที่สุด ได้แก่ อาชีพเกษตรกรและกลุ่มคนที่ทำธุรกิจ ส่วนใหญ่กู้เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค ซื้อบ้านและที่ดิน ทำการเกษตร ทำธุรกิจ การศึกษาบุตร และอื่นๆ เขียนเรื่องแบบมักจะเครียด แต่ไม่ทราบว่าผู้ปกครองจะเครียดหรือเปล่า อาย ไม่ค่อยสนใจ ก็อาจเป็นไปได้ ไม่งั้นปัญหาคงไม่สั่งสมมาเยอะขนาดนี้