ฉันอยากกินเต้าหู้ของเธอ

โดย บุษรา เรืองไทย

ที่เมืองจีนถ้ามีใครมาพูดกับคุณว่า “我想吃你豆腐。”ที่แปลว่า “ฉันอยากกินเต้าหู้ของเธอ” ไม่ได้หมายความว่าเขาอยากให้เราหาเต้าหู้ให้กิน หรือนึกว่าเราขายเต้าหู้อะไร  แต่เป็นสำนวนหมายถึงเขาอยากแตะเนื้อต้องตัวคุณต่างหาก สำนวนนี้มีน้ำเสียงออกไปทางทีเล่นทีจริงมากกว่าหมายจะทำอนาจารจริงจัง และคนจีนเองก็ไม่ได้ถือว่าเป็นคำพูดหยาบคายนัก เดิมทีเข้าใจว่ามักเป็นผู้ชายเอาไว้พูดกับผู้หญิง แต่ในความเป็นจริง ก็เห็นว่ามีผู้หญิงสมัยใหม่ใจกล้าพูดกับผู้ชายแบบนี้ด้วยเหมือนกัน

หนังสือภาพอธิบายสำนวนเซี่ยงไฮ้ ฉบับพิมพ์ปี 2015 (ที่มาภาพ: detail.bookuu.com)

ทำไมคนจีนถึงเปรียบเทียบการแตะเนื้อต้องตัวหรือการลวนลามกับการกินเต้าหู้ เมื่อลองค้นดูปรากฏว่า ที่มาของคำว่า “กินเต้าหู้” เดิมทีไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องในทางชู้สาวเลย แต่กลับเกี่ยวข้องกับงานศพแทน ในหนังสือ 《上海俗语图说》(หนังสือภาพอธิบายสำนวนเซี่ยงไฮ้) ที่เขียนโดย วัง จ้งเสียน ตีพิมพ์ครั้งแรก ค.ศ. 1935 อธิบายไว้ว่า สำนวน “กินเต้าหู้” เกิดขึ้นเนื่องจากเวลามีงานศพ ผู้ทำพิธีก็คือพระ ซึ่งพระโดยปกติไม่ฉันเนื้อสัตว์ ฉันได้แต่อาหารเจ อาหารมังสวิรัติ ดังนั้นเพื่อความสะดวก กับข้าวต่างๆ ที่ทำขึ้นในงานศพจึงทำเป็นอาหารเจและมีวัตถุดิบหลักคือเต้าหู้ ผู้คนเลยพากันเรียกธรรมเนียมการกินอาหารในงานศพว่า “吃豆腐饭”(กินอาหารที่ทำจากเต้าหู้) และเรียกย่อๆ ว่า “吃豆腐”หรือ “กินเต้าหู้” นั่นเอง ทีนี้ในระหว่างขั้นตอนพิธีต่างๆ ปกติก็มักมีญาติมิตรหรือคนบ้านใกล้เรือนเคียงมาช่วยงาน หลังจากช่วยงานเสร็จแล้ว เจ้าภาพก็จะจัดโต๊ะเลี้ยงอาหารตอบแทน ซึ่งในช่วงนั้นเองมักมีคนข้างนอกอาศัยจังหวะทำเนียนไปร่วมรับประทานอาหารด้วย ทำให้คำว่า “กินเต้าหู้” มีความหมายแฝงเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือหมายถึงคนที่ชอบฉวยโอกาส และตอนต้นทศวรรษที่ 30 ชาวเมืองเซี่ยงไฮ้ก็เป็นกลุ่มแรกที่เอาคำว่า “กินเต้าหู้” มาใช้เป็นสำนวนเสียดสีประชดประชันพวกที่ชอบเอารัดเอาเปรียบ หรือฉกฉวยโอกาสจากคนอื่นกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งรวมไปถึงพวกผู้ชายที่ชอบแทะโลมผู้หญิงด้วย

สมัยโบราณมีธรรมเนียมว่างานศพจะไม่มีการส่งเทียบเชิญแขกเด็ดขาด ทำได้แค่บอกต่อๆ กัน ส่วนใครจะมาร่วมงานหรือช่วยงานนั้นขึ้นอยู่กับความตั้งใจของเจ้าตัวเอง คนจีนทุกวันนี้ก็ยังคงธรรมเนียมนี้อยู่ จะทำอย่างมากแค่ประกาศลงหนังสือพิมพ์เท่านั้น ต่างจากงานแต่งงานที่ต้องออกการ์ดเชิญจำเพาะเจาะจงเลยว่าจะเชิญใครบ้าง (ในบทความ “ ’ บนกล่องคุกกี้มาจากไหน”  ที่เขียนไว้ก่อนหน้านี้ มีพูดถึงธรรมเนียมการเชิญแขกในพิธีแต่งงานเอาไว้บ้าง สนใจตามไปอ่านกันได้) หรือไม่บางครั้งเจ้าภาพก็จ้างกลุ่มคนใช้แรงงานหรือคนจรจัดมาช่วยงาน เพราะฉะนั้น จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะมีคนแปลกหน้าแฝงตัวเข้าไปร่วมรับประทานอาหารด้วย ซึ่งมีโอกาสที่เจ้าภาพจะจำไม่ได้ หรือต่อให้รู้ก็มักปล่อยเลยตามเลยไม่ว่าอะไร

ที่มาของธรรมเนียมการกินเต้าหู้ในงานศพนี้ เริ่มเกิดขึ้นครั้งแรกในชุมชนบริเวณแถบตะวันตกของมณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีนในปัจจุบัน  เมืองต่างๆ ในบริเวณนี้ยังมีเรื่องเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง เช่นที่เมืองไห่หนิง มีธรรมเนียมว่า 15 วันแรกนับจากตรุษจีน ห้ามไม่ให้กินเต้าหู้ เพราะเต้าหู้มีสีขาว นิยมเอามาใช้ทำอาหารในงานศพ เต้าหู้เลยถูกมองเป็นอาหารสำหรับงานอวมงคลไป อีกหลายเมืองในเจ้อเจียงยังมีนิทานเล่าว่า ผู้ที่ริเริ่มการไหว้เต้าหู้ในงานศพคือ เยว่ อี้ นักการทหารคนสำคัญของแคว้นเอี้ยนสมัยจ้านกว๋อ เพราะพ่อแม่ของเยว่ อี้ ชอบรับประทานเต้าหู้มาก ทำให้สุขภาพดีและอายุยืน หลังจากทั้งสองคนเสียชีวิต เยว่ อี้ได้จัดสำรับอาหารที่ทำจากเต้าหู้มากมายหลายอย่างพร้อมกับสุรา แล้วเชิญญาติสนิทมิตรสหายเพื่อนบ้านทั้งหลายมารับประทานร่วมกัน เรียกว่า “เต้าหู้อายุยืน” แล้วธรรมเนียมการกินเต้าหู้ในงานศพก็สืบทอดแพร่หลายนับแต่นั้นเป็นต้นมา บ้างก็อธิบายว่า การกินอาหารเจในงานศพ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าผู้ตายจะไปสู่การมีชีวิตที่บริสุทธิ์ ซึ่งอาหารเจก็หนีไม่พ้นต้องทำจากเต้าหู้เป็นหลัก

ยังมีที่มาของสำนวน “กินเต้าหู้” ที่ต่างออกไปอีกเรื่องหนึ่ง อ่านแล้วก็สนุกดี เรื่องมีอยู่ว่า มีร้านเต้าหู้ของสามีภรรยาคู่หนึ่ง  กลางคืนสามีเป็นคนทำเต้าหู้ กลางวันภรรยาเป็นคนขาย เนื่องจากภรรยาเป็นคนสวย ผู้ชายทั้งหลายจึงชอบแวะเวียนไปกินเต้าหู้ที่ร้านบ่อยๆ แถมยังขนานนามคนขายว่าเป็น “豆腐西施”หรือ “ไซซีเต้าหู้” อีกด้วย เนื่องจากไซซีเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์จีนที่มีชื่อเสียงเรื่องความงามเป็นยอด ทำให้คนจีนสมัยต่อมานิยมนำมาใช้เปรียบเทียบกับผู้หญิงสวย (เรื่องนี้ก็สามารถตามไปอ่านได้ในบทความเรื่อง “สุดยอดหญิงงามของจีนงามถึงขั้นไหน” ) เรื่องนี้เป็นที่เล่าลือรู้กันทั่วไป เพราะฉะนั้นเวลาผู้ชายคนไหนบอกว่า “จะไปกินเต้าหู้” ก็เป็นที่รู้กันว่าที่จริงแล้วจะหาเรื่องไปคุยกับภรรยาเจ้าของร้านต่างหาก สำนวน “กินเต้าหู้” เลยมีที่มาแบบนี้

นิทานเรื่องนี้สันนิษฐานว่าน่าจะได้เค้าโครงมาจากเรื่องสั้น《故乡》(บ้านเกิด) ของ หลู่ ซวิ่น ที่แต่งขึ้นในปีค.ศ. 1921 เรื่องนี้ผู้เขียนบอกเล่าถึงเรื่องราวความรู้สึกของการกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดของตนที่เมืองเส้าซิง มณฑลเจ้อเจียง (อีกแล้ว) ผ่านตัวละครที่เรียกแทนตัวเองว่า “ข้าพเจ้า” หลังจากกลับบ้านเกิด ได้พบกับผู้คนที่เคยรู้จักในวัยเด็ก หนึ่งในนั้นคือหยางเอ้อร์ส่าว (พี่สะใภ้รองหยาง) ผู้เล่าจำได้ว่าสมัยยังเด็กหยางเอ้อร์ส่าวเปิดร้านขายเต้าหู้ ชาวบ้านแถวนั้นพากันเรียกเธอว่า “ไซซีเต้าหู้” เพราะเมืองเส้าซิงเป็นบ้านเกิดของไซซี และสมัยสาวๆ น่าจะสวยไม่น้อย รวมทั้งมีอาชีพขายเต้าหู้ เลยได้ชื่อว่า ไซซีเต้าหู้

ตัวละครหยางเอ้อร์ส่าวจากเรื่องสั้น “บ้านเกิด” ของ หลู่ ซวิ่น (ที่มาภาพ: learning.sohu.com)

จากนิทานเรื่องนี้ ทำให้ได้สำนวนที่เกี่ยวกับเต้าหู้มาอีกสำนวนหนึ่ง คือ “ไซซีเต้าหู้” ผู้หญิงที่ได้สมญานาม “ไซซีเต้าหู้” ยังมีปรากฏอีกหลายแห่งทั้งในวรรณกรรมและบันทึกประวัติศาสตร์ต่างๆ ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิงลงไป และเกือบทั้งหมดก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับเต้าหู้โดยตรง โดยในหนังสือ 《台湾豆腐文化探索———以桃源大溪为例》(สำรวจวัฒนธรรมเต้าหู้ของไต้หวัน กรณีศึกษาจากเขตต้าซี เมืองเถาหยวน) บอกเอาไว้ว่า “ไซซีเต้าหู้ หมายถึง สาวสวยที่มาจากครอบครัวยากจน”

ดูเผินๆ เหมือนสำนวน “กินเต้าหู้” กับ “ไซซีเต้าหู้” จะไม่เกี่ยวข้องกัน แต่สิ่งที่สะท้อนอยู่ในนั้นเหมือนกันคือ เต้าหู้ แฝงนัยถึงกลุ่มชนชั้นล่างในสังคม หรือความยากจน  ประเด็นนี้เห็นได้ชัดในช่วงสมัยการปฏิวัติทางชนชั้นของจีน บทความเรื่อง “豆腐解放” หรือ “ปลดแอกเต้าหู้” ของ อี้ อิง ที่เขียนในปี ค.ศ. 1934 ใช้มุมมองของชนชั้นกลางอาศัยเรื่องเต้าหู้มาโจมตีกลุ่มชนชั้นสูง เช่นประโยคที่ว่า “คนรวยกินโสมจีน คนจนกินเต้าหู้”  หรือกระทั่งเอาเรื่องจักรพรรดิผู่อี๋ (ปูยี) ที่โปรดเสวยเต้าหู้มาเขียนล้อเลียนว่า “ชาวเจ้อเจียงตะวันตกมีสำนวน : การกินอาหารในงานศพ เรียกว่า  ‘กินเต้าหู้’ ตอนนี้ผู่อี๋ชอบกินเต้าหู้ คาดว่าจุดจบของรัฐบาลหุ่น คงใกล้ถึงคราวแล้ว” นอกจากนี้ ซุน จงซาน (ซุนยัตเซ็น) เคยเขียนชื่นชมอาหารประเภทเต้าหู้ไว้ว่า “ที่คนจีนมักดื่มคือชาอ่อน รับประทานคือข้าวเปล่า เพิ่มผักกับเต้าหู้เข้าไป อาหารจำพวกนี้ นักสุขศึกษาทดสอบแล้วว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพที่สุด ด้วยเหตุนี้ คนที่ยากจนข้นแค้นในประเทศจีน ไม่มีโอกาสได้ทานเนื้อดื่มเหล้า จึงมักอายุยืน”

ผ่านพ้นยุคสมัยของสงครามชนชั้น ปัจจุบัน คงไม่มีใครมองว่าเต้าหู้เป็นอาหารคนจนอีกแล้ว ทุกวันนี้เต้าหู้กลายเป็นอาหารขึ้นชื่อที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปตามแต่ละเมือง เช่น เต้าหู้เหม็นของฉางซา เต้าหู้ม๋าโผของเสฉวน เต้าหู้ไซซีของเจ้อเจียง (อันนี้ระวังอย่าสับสนกับไซซีเต้าหู้) เป็นต้น ถึงแม้สำนวน “กินเต้าหู้” และ “ไซซีเต้าหู้” ยังคงมีคนพูดกันอยู่ในปัจจุบัน แต่ความหมายก็เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคม ประวัติศาสตร์ของเต้าหู้ในประเทศจีนยาวนานมาสองพันกว่าปีแล้ว บทบาทของมันปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและสภาพแวดล้อม ในเมื่อประวัติศาสตร์ยังคงเดินหน้า จากนี้ไปไม่รู้ว่าจะมีใครมอบนิยามใหม่ให้กับมันอีก หรือประวัติศาสตร์อาจวนย้อนกลับมาอีกครั้งก็เป็นได้ใครจะรู้

เต้าหู้เหม็นของเมืองฉางซา มณฑลหูหนาน  (ที่มาภาพ: jianshu.com)

เต้าหู้ม๋าโผ มณฑลเสฉวน (ที่มาภาพ: cookpower.com.tw)

เต้าหู้ไซซี เมืองจูจี้ มณฑลเจ้อเจียง (ที่มาภาพ: douguo.com