16 มีนาคม 2016

การพึ่งพาฝูงนกพิราบเพื่อการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เรื่องคุณภาพอากาศอาจฟังดูเป็นความคิดที่ไม่ได้เรื่องแต่พนันได้เลยว่า คุณต้องไม่เคยเห็นฝูงพิราบปฏิบัติการสะพายเป้แบบนี้แน่นอน

ขอแนะนำ ฝูงพิราบลาดตระเวนแห่งลอนดอน หน่วยบินพิเศษนี้มีหน้าที่วัดค่าไนโตรเจนไดออกไซด์ในเมืองที่มีค่ามลพิษทางอากาศสูงที่สุดระดับต้นๆ ของโลกรายงานของราชวิทยาลัยแห่งลอนดอนปี 2015 ระบุว่า ประชากรเกือบ 9,500 คนในเมืองหลวงของอังกฤษเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร เนื่องจากการสัมผัสอากาศที่มีมลพิษในระยะยาว รายงานขององค์การอนามัยโลกปี 2014 ระบุว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับมลพิษทางอากาศสูงเกือบ 7 ล้านคนทั่วโลกฝูงพิราบลาดตระเวนนี้ประกอบด้วยนกพิราบ 10 ตัวที่ผ่านการฝึกฝน และออกปฏิบัติการบินไปทั่วฟ้าพร้อมเซนเซอร์หนัก 25 กรัมบนหลัง เพื่อวัดค่าการปล่อยมลพิษอันตรายที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเสมอไป

จากนั้นจะทำการทวีตค่าที่วัดได้กลับมาชาวลอนดอนสามารถทวีต @PigeonAir เพื่อสอบถามสหายมีปีกให้ติดตามระดับไนโตรเจนไดออกไซด์ในบริเวณที่ตนอยู่ จากนั้น ด้วยการช่วยเหลือจากนักวิจัยที่พลูมแลปส์ (Plume Labs) ฝูงนกที่ชาญฉลาดจะทวีตค่าที่วัดได้กลับมา ซึ่งมีค่าตั้งแต่ “ปานกลาง” จนถึง “สูงมาก” นกพิราบตัวใดตัวหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นนอร์เบอร์ โกโก้ หรือ จูเลียส จะมีอุปกรณ์ติดตามจีพีเอสติดตัว และสัตวแพทย์จะติดตามความเป็นไปของนกฝูงนี้ทุกๆ สามวันที่ออกปฏิบัติการ ปิแอร์ ดูเคนัว และแมตต์ แดเนียลส์ จากบริษัทเอเจนซีการตลาดชื่อ DigitasLBi เป็นเจ้าของความคิดฝูงพิราบลาดตระเวนโดยได้รับรางวัลชนะเลิศประเภท“การแก้ปัญหา” จากการแข่งขัน #PoweredByTweets ปีที่แล้ว

ฝูงลาดตระเวนนี้เป็นก้าวแรกของการรณรงค์โดยบริษัทพลูมแลปส์ ก้าวต่อไปคือ การสรรหาชาวลอนดอน 100 คนเพื่อติดตามมลพิษของตัวเอง แต่เป็นภาคพื้นดิน ไม่ใช่ในอากาศ บริษัทได้พัฒนาเซนเซอร์พกพาให้ผู้เข้าร่วมการรณรงค์ใช้ติดตามค่าการปล่อยมลพิษ โดยผลที่ได้จะนำมาประมวลผลเป็นแผนที่คุณภาพอากาศตามจริงทั่วกรุงลอนดอน

พลูมแลปส์ยังต้องระดุมทุนกว่า 10,000 ปอนด์ (ประมาณ 500,000 บาท) เพื่อเริ่มโครงการนี้ ที่ผ่านมาระดุมทุนได้ประมาณครึ่งหนึ่งแล้ว โรแมง ลากง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทพลูมแลปส์ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่า “ประชากรหลายล้านคนทั่วโลกเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศทุกปี ซึ่งถือเป็นโรคระบาดประเภทหนึ่งก็ว่าได้ แต่เรามักไม่ตระหนักกัน เพราะเป็นสิ่งที่แทบมองไม่เห็น

“ฝูงพิราบลาดตระเวนจะทำให้เรามองเห็นสิ่งที่มองไม่เห็น ซึ่งก็เป็นความเปรียบที่ดี มีอีกหลายอย่างที่เราไม่คำนึงถึงแค่เพราะเรามองไม่เห็น เช่น คนมักไม่คิดว่าเราหายใจเอาอากาศเข้าไปประมาณ 20 กิโลกรัมทุกวัน “เช่นเดียวกับนกพิราบที่บินอยู่รอบตัวเรา แต่เราแทบไม่สังเกตเห็น” แต่ด้วยกระเป๋าเป้แปลกตาบนหลังแบบนี้ งานนี้พิราบพวกนี้คงเป็นที่สังเกตมากขึ้นแล้วล่ะ

ที่มา: edition.cnn.com

หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2016 ทวิตเตอร์ @PigeonAir แจ้งว่า นกพิราบได้ยุติการทำงาน และกลับไปใช้ชีวิตเดิมแล้ว