โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

6 พฤษภาคม 2015

ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 034; ดู Boychoir ที่โรงหนังบ้าน หนังเด็กชายร้องเพลง ต้องดูค่ะ!!

Choir (ไควร์) หรือคณะนักร้องประสานเสียงนั้น มีอยู่หลายประเภท ถ้านักร้องเป็นเด็กชายล้วน จะเรียกว่า Boys’ Choir นักร้องในวงบอยส์ไควร์จะต้องเป็นเด็กชายที่เสียงยังไม่แตกหรือเพิ่งแตก คือเสียงจะต้องมีความแหลมอยู่พอที่จะร้องโน้ตสูงได้โดยใช้เสียงแท้ไม่ใช่เสียงหลบ ในต่างประเทศมีวงบอยส์ไควร์ที่โด่งดังอยู่หลายวง เวลาไปออนทัวร์ก็จะเป็นซูเปอร์สตาร์เลย โดยเฉพาะ Soloist หรือคนที่มีหน้าที่ร้องนำในวง เด็กคนนี้ต้องมีคุณสมบัติเพียบพร้อม เช่น เสียงดี ร้องเพลงเก่ง หูแยกแยะเสียงได้ละเอียด สามารถร้องคีย์สูงเกินมนุษย์มนา มีวินัย มีปฏิภาณไหวพริบ ฯลฯ คือต้องมีทั้งพรสวรรค์และความสามารถในการเรียนรู้ ถ้าวงไหนมีโซโลอิสต์เก่งๆ ก็มีโอกาสมากที่จะประสบความสำเร็จในระดับสูง ทุกวงจึงเฝ้าแสวงหาเด็กที่มีคุณสมบัติดีพอที่จะมาฝึกฝนเป็นโซโลอิสต์ชั้นเยี่ยมได้

หนัง Boychoir เล่าเรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่ง ชื่อสเต็ท (แสดงโดยน้องแกร์เร็ตต์ แวริง) ซึ่งก็เป็นไปตามสูตร คือจะเป็นเด็กดีๆ แบบชาวบ้านเขาไม่ได้ ต้องเป็นเด็กมีปัญหา แต่มีพรสวรรค์ในการร้องเพลง ครูผู้เล็งเห็นพรสวรรค์นั้นจึงแนะนำให้เขาไปเข้าโรงเรียนนักร้องประสานเสียงเด็กชาย ชื่อ National Boychoir โรงเรียนแบบนี้มีอยู่จริงๆ เป็นโรงเรียนประจำซึ่งนอกจากเด็กจะต้องเรียนวิชาสามัญแล้ว ยังต้องเรียนร้องเพลง เรียนดนตรี ฝึกระเบียบวินัยน้องๆ ทหาร และฝึกซ้อมอย่างหนักเพื่อออกแสดงทั้งในประเทศและต่างประเทศ ฟังดูน่าสนใจ แต่ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าควรส่งบุตรหลานไปเข้าเรียนหรือเปล่า เพราะความกดดันสูงมาก เด็กจะต้องแข่งขันกันตลอด เนื่องจากเวลาจะมีคอนเสิร์ตแต่ละครั้งก็ต้องออดิชัน แล้วโรงเรียนก็โปรโซโลอิสต์มากจนก่อให้เกิดความอิจฉาริษยา ใช้วิธีสกปรกกลั่นแกล้งกัน ที่สำคัญคือ ต่อให้เด็กเก่งแค่ไหน แต่เขาก็จะมีเวลาเพียงไม่กี่ปีที่จะได้ใช้ความสามารถนั้น เพราะพอโตขึ้น เสียงเปลี่ยน การเป็นนักร้องในวงบอยส์ไควร์ของเขาก็ต้องจบลง และเขาก็ต้องไปประกอบสัมมาอาชีวะอื่น ดังนั้น ถ้าเด็กไม่มีใจรักจริงๆ เขาจะรู้สึกทรมานมากตลอดเวลาที่เรียนอยู่ และเมื่อเรียนจบแล้วเขาก็จะรู้สึกว่าที่ผ่านมามันช่างสูญเปล่า เพราะโรงเรียนนี้เป็นแบบที่ครูคาร์เวลล์ ผู้ควบคุมวง (แสดงโดย ดัสติน ฮอฟฟ์แมน) กล่าวไว้ว่า “ที่นี่เราให้ชีวิตแก่เด็ก แต่ไม่ได้ให้อาชีพ”

ที่จริงประเด็นนี้น่าสนใจดี และหนังก็ดูจะตั้งใจเล่นประเด็นนี้อยู่ เพราะเป็นความขัดแย้งหลักระหว่างสเต็ทกับครูคาร์เวลล์เลยทีเดียว การที่ครูไม่ยอมให้สเต็ทเป็นโซโลอิสต์สักทีทั้งๆ ที่เขาพิสูจน์ตัวเองแล้วว่ามีความสามารถเหมาะสม ก็เพราะครูรู้สึกว่าสเต็ทยังรักดนตรีไม่พอ และที่ครูต้องเน้นเรื่องความรักมาก ก็เพราะเหตุผลดังที่กล่าวมานั่นแหละ แต่หนังกลับไม่ได้พัฒนาความขัดแย้งนี้เท่าที่ควร แถมยังคลี่คลายมันด้วยวิธีง้ายง่าย คือใช้เหตุบังเอิญ (co-incidence) ช่วย เส้นเรื่องมันเลยไม่ค่อยแจ่มเท่าไหร่ แต่ฉากร้องประสานเสียงปลื้มปริ่มน้ำตาเล็ดนะคะ ดูแล้วก็คิดถึงตัวเองและเพื่อนๆ สมัยที่เรียนร้องเพลงประสานเสียงในวิชา Voice Training ที่เราเรียนรอดกันมาได้ต้องเป็นเพราะเรารักดนตรีแน่ๆ เลย 555

สรุป: จ่าย 100 ได้กลับมา 100

ภาพ: สเต็ทในฉากโซโล่

Photography By Myles Aronowitz

ที่มารูป: http://informantmedia.com



หมายเหตุ: เมื่อปี 2004 มีหนังเกี่ยวกับบอยส์ไควร์เรื่องหนึ่ง เป็นหนังฝรั่งเศส ชื่อ The Chorus เรื่องนี้ดีงามสุดๆ ญาติมิตรทุกท่านพึงหามาชมค่ะ