โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

19 มกราคม 2016

ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 050; ดู The Big Short ที่ลิโดเมื่อวันอาทิตย์ วันเสาร์อุตส่าห์เช็กรอบดิบดี
พอวันอาทิตย์โรงหนังดันเปลี่ยนรอบ (เปลี่ยนทำไม??) เลยพลาดเวลาที่กะไว้ ต้องรอดูรอบถัดไปซึ่งก็คือสองทุ่ม รอบสุดท้าย ตอนหนังเลิกเดินออกมา วิเวกวังเวงมาก

ในช่วงชีวิตของดิฉัน ได้เห็นวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่มาหลายรอบ (และคิดว่ากว่าจะตายก็คงได้เห็นอีกเยอะ) รอบหนึ่งที่ยังจำได้ดีเพราะเพิ่งผ่านไปไม่นาน ก็คือ วิกฤตสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Subprime Mortgage Crisis) เมื่อปี พ.ศ.2550 – 2551 ซึ่งสาเหตุหลักๆ เกิดจากการที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินในอเมริกาปล่อยสินเชื่อหรือให้เงินกู้แก่ลูกค้าคุณภาพต่ำ เช่น มีประวัติทางการเงินไม่ดี หรือมีแนวโน้มผิดนัดชำระหนี้ ลูกค้าประเภทนี้เรียกว่า ซับไพรม์ (sub = ต่ำกว่า, prime = prime rate คือ ระดับดีเลิศ) ปกติลูกค้าซับไพร์มจะไม่ได้รับอนุมัติให้กู้ยืม แต่สถาบันการเงินเล็งเห็นว่าจะทำกำไรจากลูกค้ากลุ่มนี้ได้ด้วยการคิดดอกเบี้ยสูงๆ ก็เลยให้กู้ จากนั้นหมู่มวลลูกค้าก็กู้เงินไปจำนอง (mortgage) อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในช่วงนั้นราคาต่ำมากเนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล คนอเมริกันก็เลยซื้อบ้านไว้หลายๆ หลังเพื่อเอาไว้เก็งกำไรหรือปล่อยให้เช่า จนกระทั่งเกิดภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ แล้วพอฟองสบู่แตก ก็วินาศสันตะโรไปทุกหย่อมหญ้า เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกมาจนถึงปี 2555 และเนื่องจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้มีต้นกำเนิดจากอเมริกา เราจึงเรียกมันว่า “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์” (ใครเป็นต้นคิดให้เอาชื่ออาหารมาเรียก ตูงงตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งละ)

tumblr

ที่มารูป: https://s.yimg.com

หนัง The Big Short สร้างจากหนังสือสารคดี เรื่อง The Big Short: Inside the Doomsday Machine ของไมเคิล ลูอิส นักข่าวสายธุรกิจและนักเขียนสารคดีชื่อดัง (คนที่เขียนเรื่อง Moneyball กับ The Blind Side ซึ่งได้รับการดัดแปลงเป็นหนังมาแล้ว) หนังเรื่องนี้แสดงให้เห็นสาเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งของวิกฤตซับไพรม์ คือการที่บริษัทวาณิชธนกิจเอาสินเชื่อที่ปล่อยกู้ให้ลูกหนี้ซับไพรม์มารวมกันและรวมกับพันธบัตรต่างๆ แปรรูปเป็นตราสารทางการเงินที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Collateralized Debt Obligations: CDO) เพื่อแสวงหาผลกำไรที่มากขึ้น

ในตอนนั้น ท่ามกลางความหลงระเริงเฮฮาปาจิงโกะของทุกคน มีคนคนหนึ่งที่สังเกตเห็นช่องโหว่ของ CDO และสามารถคาดการณ์ล่วงหน้าจากสถิติผู้ผิดนัดชำระหนี้ค่าบ้าน ว่าขณะนี้กำลังเกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ และฟองสบู่จะแตกภายในไม่กี่ปี คนผู้นั้นก็คือ ดร.ไมเคิล เบอร์รี (แสดงโดย คริสเตียน เบล) ผู้จัดการบริษัทเฮดจ์ฟันด์ชื่อว่า ไซออน แคปิตอล (Scion Capital) อันว่า Hedge Fund หรือ “กองทุนบริหารความเสี่ยง” นี้ ก็คือบริษัทที่ทำกำไรจากการเก็งว่าหลักทรัพย์ใดกำลังผันผวน เช่น ถ้าฟองสบู่อสังหาฯ จะแตก หุ้นที่เกี่ยวข้องกับการนี้จะต้องตกฮวบแน่นอน เฮดจ์ฟันด์ก็จะไปยืมหุ้นจากบริษัทที่เกี่ยวข้อง แล้วเอาหุ้นนั้นไปขาย แล้วรอจนถึงเวลาที่ราคาหุ้นตก ก็ไปซื้อหุ้นมาคืนเจ้าของ โดยกินกำไรส่วนต่าง การกระทำเช่นนี้เรียกว่า ขายชอร์ต (short selling) ณ ตอนนั้น ดร.เบอร์รี ก็จัดชอร์ตไปชุดใหญ่ จนเรื่องล่วงรู้ไปถึง จาเร็ด แวนเน็ตต์ (แสดงโดย ไรอัน กอสลิง) เทรดเดอร์แห่งดอยทช์แบงก์ (Deutsche Bank) แวนเน็ตต์จึงไปชวน มาร์ค บาม (แสดงโดย สตีฟ คาเรลล์) ผู้จัดการเฮดจ์ฟันด์อีกแห่งหนึ่งมาปฏิบัติการขายชอร์ต โดยฮีจะหักค่าหัวคิวตามสมควร นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนหน้าใหม่ใฝ่รวยอีกสองหนุ่ม ซึ่งได้รู้เรื่องนี้โดยบังเอิญและอยากจะขายชอร์ตด้วย แต่เครดิตยังไม่มากพอ จึงไปขอร้องอดีตนายธนาคาร เบน ริกเคิร์ต (แสดงโดย แบรด พิตต์) มาช่วยกรุยทางเข้าวงการ (ชื่อตัวละครเป็นนามสมมุติทั้งหมด ยกเว้น ดร.เบอร์รี คาดว่าแกจะเป็นคนเดียวที่ยอมให้ใช้ชื่อจริง)

ก่อนหน้านี้ดิฉันก็ไม่เคยคาดคิดว่าจะได้ดูหนังที่บอกเล่าการทำงานของเฮดจ์ฟันด์ นี่เป็นเรื่องแรกจริงๆ แล้วก็
ชื่นชมหนังมากว่า สามารถเล่าด้วยความเป็นธรรมอย่างมาก คือหนังก็แสดงให้เห็นว่าคนทำงานเฮดจ์ฟันด์ก็มีหลายแบบ คนที่สนใจแต่ความร่ำรวยของตัวเองก็มี คนที่ยึดถือจรรยาบรรณก็มี และในการทำงานของพวกเขา ก็ต้องเผชิญกับการฉ้อฉลในระบบเศรษฐกิจมากมาย จากกลยุทธ์ของสถาบันการเงิน วาณิชธนกิจ รวมทั้งรัฐบาลด้วย ซึ่งเฮดจ์ฟันด์เองก็แทบเอาตัวไม่รอดเหมือนกัน อย่างไรก็ดี หนังก็กระตุกคนดูตลอดเวลาตั้งแต่ต้นจนจบเลยทีเดียว ว่าความจริงที่ทุกคนจะต้องตระหนักก็คือ มีธุรกิจที่เกิดขึ้นมาจากการหาช่องโหว่ทางเศรษฐกิจแล้วทำกำไรจากสิ่งนั้น ดังนั้นไม่ว่าจะอย่างไร การทำมาหากินของพวกเขาก็ต้องกระทบเราทุกคนซึ่งเป็นประชาชนตาดำๆ อยู่วันยังค่ำ เช่นเดียวกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทุกครั้ง แม้มันจะเกิดจากการแสวงหาผลกำไรด้วยความโลภโมโทสันของสถาบันการเงินต่างๆ แต่สุดท้ายรัฐบาลก็จะอุ้มสถาบันการเงินเหล่านั้น และคนที่ต้องรับเคราะห์ สูญเสียทรัพย์สิน รับภาระหนี้สาธารณะ ซวยซับซวยซ้อนซวยซ่อนเงื่อน ก็คือประชาชน

หนังเรื่องนี้ถูกจัดให้เป็นหนังตลก เนื่องจากนำเสนอด้วยท่าทีจิกกัดเหน็บแนมแกมเย้ยหยัน ทำให้คนดู (ไม่ว่าจะดูรู้เรื่องหรือไม่ก็ตาม อิๆๆ) ได้หัวเราะฮิฮะประปรายตลอดทั้งเรื่อง แต่การเสียดสีนั้น โดยทั่วไปจะมีลักษณะอย่างหนึ่ง คือนอกจากจะสร้างความขบขันหรรษาแล้ว ยังก่อให้เกิดความสะท้อนใจ (และอาจถึงขั้นอนาถใจ) ไปพร้อมกันด้วย เชื่อว่าหลายๆ คนที่ไปดูหนังเรื่องนี้ก็คงรู้สึกแบบนั้นแหละ ก็เราคือประชาชนตาดำๆ นี่นะ

สรุป: จ่าย 0 (ใช้บัตรสะสมแต้ม) ได้กลับมา 70

หมายเหตุ: The Big Short เข้าชิงออสการ์ 5 สาขา

  1. ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
  2. ผู้กำกับยอดเยี่ยม – อดัม แม็คเคย์ (ผู้กำกับเรื่อง Anchorman และเขียนบท Ant-Man)
  3. บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม – อดัม แม็คเคย์ และ ชาร์ลส์ แรนดอล์ฟ (คนเขียนบท Love & Other Drugs)
  4. นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม – คริสเตียน เบล (เคยได้ออสการ์จากเรื่อง The Fighter)
  5. ตัดต่อยอดเยี่ยม