เมื่อปีที่แล้ว หนังสยองขวัญ/ระทึกขวัญเรื่อง Get Out สร้างปรากฏการณ์เซอร์ไพรส์ไปทั่วโลก ด้วยพล็อตเรื่องแปลกใหม่ที่แทรกด้วยอารมณ์ขันเชิงเสียดสี โดยหนึ่งในความเซอร์ไพรส์ทั้งหลายคือ ผู้กำกับและเขียนบทหนังเรื่องนี้ คือนักแสดงสายตลก จอร์แดน พีล (Jordan Peele) ซึ่งผลงานกำกับ-เขียนบทเรื่องแรกนี้ก็ทำให้เขาคว้ารางวัลออสการ์ Best Original Screenplay มาครองด้วยต่างหาก

ส่วนในปีนี้ จอห์น คราซินสกี (John Krasinski) นักแสดงหนุ่มที่มีชื่อเสียงมาจากซีรีส์ตลกเรื่อง The Office ก็น่าจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับพีลได้ไม่ยากนัก ด้วยการแสดงฝีมือกำกับและร่วมเขียนบทหนังสยองขวัญเรื่อง A Quiet Place พร้อมทั้งดึงเอาเอมิลี บลันท์ (Emily Blunt) นักแสดงสาวยอดฝีมือ ซึ่งเป็นภรรยาของคราซินสกีเอง มาแสดงนำด้วยกัน

ที่มาภาพ: joblo.com

A Quiet Place กล่าวถึงครอบครัวแอ็บบ็อตที่ใช้ชีวิตท่ามกลางความเงียบในชนบทที่ห่างไกลอารยธรรมเมือง และหากมีใครคนใดส่งเสียงแม้เพียงเล็กน้อยออกมา สัตว์ร้ายลึกลับกลุ่มหนึ่งที่ไวต่อเสียงอาจจับพวกเขาเป็นเหยื่อได้ทุกเมื่อ ราวกับพล็อตเช่นนี้ยังไม่ตึงเครียดพอ ทีมเขียนบทจึงเขียนให้ตัวละครแม่กำลังตั้งครรภ์แก่ พร้อมจะคลอดลูกอีกคนได้ทุกเมื่อ (คนเราจะคลอดลูกโดยไม่มีเสียงได้ยังไงกันนะ) หนังเริ่มต้นด้วยบทที่ฉลาด เพราะแค่สถานการณ์ที่บังคับให้ตัวละครต้องเงียบอยู่ตลอดเวลา (ตัวละครสื่อสารกันด้วยภาษามือ) ก็สร้างบรรยากาศที่น่ากดดันได้มากพออยู่แล้ว และผู้กำกับเองก็สามารถควบคุม “เสียง” ของหนังให้ดูอึดอัด น่าระแวง จนคนดูต้องลุ้นตามอยู่ตลอด บางฉากก็ต้องแอบอุทานในใจว่า “โอ้ว ไม่นะ” บางฉากก็เงียบและระทึกมากขนาดคนดูไม่กล้าเคี้ยวป๊อปคอร์นหรือส่งเสียงกระแอมเลย เช่นฉากในอ่างอาบน้ำ (มีในเทรลเลอร์) ที่ชวนลุ้นจนตัวบิดเกร็งและแทบจะยกมือขึ้นมาปิดปากตัวเองกันทีเดียว

ภายใต้ฉากหน้าที่เป็นหนังสยองขวัญ A Quiet Place ก็นำเสนอด้านที่เป็นดราม่าครอบครัวได้อย่างลึกซึ้งและจริงจัง ซึ่งข้อดีส่วนนี้ต้องยกเครดิตให้กลุ่มนักแสดงนำพ่อแม่ลูก โดยเฉพาะ มิลลิเซนท์ ซิมมอนด์สฺ (Millicent Simmonds) ที่แสดงเป็นลูกสาวคนโตที่หูหนวก (ในชีวิตจริงเธอก็หูหนวกด้วยเช่นกัน) เธอเป็นเด็กสาววัยรุ่นหัวขบถที่อยากแสดงศักยภาพของตนออกมาให้พ่อแม่ได้เห็นบ้าง แต่พ่อกลับไม่อนุญาตให้เธอทำอะไรๆ ตามใจได้ บวกกับปมในใจส่วนตัว ทำให้เธอรู้สึกน้อยใจมาตลอดว่าพ่อไม่รัก จริงอยู่ว่าตามเนื้อเรื่องมีข้อจำกัดที่ทำให้ตัวละครพูดสื่อสารกันไม่ได้ อย่างไรก็ดีเธอก็เป็นคนเดียวในครอบครัวที่ “พูดไม่ได้” จริงๆ ความอึดอัดและความแปลกแยกนี้จึงส่งผ่านออกมาทางสีหน้าและแววตา ซึ่งเธอก็แสดงถึงความปวดร้าวที่มีล้นอยู่ข้างในได้ดีมากจริงๆ และความไม่เข้าใจกันระหว่างพ่อลูกนี้เองก็นำไปสู่ดราม่าเข้มข้นตอนท้ายเรื่องด้วย

ดราม่าครอบครัวที่กล่าวไปข้างต้น อาจทำให้หลายคนย้อนกลับมาดูบทบาทของเราเองในครอบครัว ในฐานะลูก เราควรไว้ใจและให้เครดิตพ่อแม่บ้าง แม้มีบางอย่างที่เขาอาจขัดใจเราก็ดี หรือบังคับเราก็ดี ส่วนใหญ่แล้วก็มาจากความตั้งใจที่อยากให้ลูกได้ดีกันทั้งนั้น ส่วนคนที่เป็นพ่อแม่ก็มีภารกิจใหญ่หลวงนัก นั่นคือดูแลปกป้องลูกจากภยันตรายทั้งปวง ในขณะเดียวกันก็ต้องสอนให้ลูกเรียนรู้และมีทักษะในการรับมือกับโลกภายนอก รวมถึงความเสี่ยงต่างๆ นานา สอนให้กล้าในเรื่องที่ควรกล้า สอนให้กลัวในเรื่องที่ควรกลัว และอาจต้องยอมปล่อยให้ลูกเผชิญโลกหรือแก้ปัญหาด้วยตัวเองบ้างเป็นครั้งคราว เพราะพ่อแม่เองก็ไม่อาจอยู่กับลูกไปตลอดได้ ที่สำคัญคือ ทุกคนในครอบครัวควรรู้จักวิธีทำความเข้าใจและสื่อสารกับอีกฝ่ายให้ได้ มิฉะนั้นอาจก่อให้เกิดปัญหาเรื้อรังที่กัดกินใจของแต่ละคนอย่างไม่ตั้งใจไปโดยปริยาย

8.5/10 ครับ ^_^

ป.ล. 1 สงสัยมากว่าถ้าจำเป็นต้องส่งเสียงแบบสุดวิสัย เช่นจาม กรน หรือตด นี่จะทำยังไงกันนะ
ป.ล. 2 ในหนังไม่มีการเอ่ยชื่อตัวละครเลย (ส่วนนามสกุล Abbott นี่ดูเอาจากตู้รับจดหมาย) แต่ในเครดิตกลับมีบอกไว้หมด เริ่มจากแม่ชื่อ Evelyn พ่อชื่อ Lee ลูกสาวชื่อ Regan และลูกชายชื่อ Marcus

โดย Average Joe

7 เมษายน 2561

(ขอบคุณภาพปกจาก reelgood.co.uk)