โดย ปวิวัณณ์ คำเจริญ

28 มีนาคม 2017

ดูหนังอย่างคนเบี้ยน้อยหอยน้อย 105; ดู Apprentice รอบสื่อที่โรงหนังบ้าน เดินไปเดินกลับชิลๆ

พอได้ยินชื่อ Apprentice หลายๆ คนคงคิดถึงรายการ The Apprentice ซึ่งโดนัลด์ ทรัมป์ (ก่อนที่จะเป็นประธานาธิบดี) ทำหน้าที่พิธีกร รายการดังกล่าวเป็นเรียลลิตี้โชว์ ให้คนมาแข่งกันทำธุรกิจตามโจทย์ที่ให้ในแต่ละสัปดาห์ แล้วก็คัดคนออกเรื่อยๆ ผู้ชนะจะได้เป็นลูกมือฝึกหัด (Apprentice) ของทรัมป์ ได้รับผิดชอบโปรเจ็กต์ที่ทรัมป์มอบหมาย พร้อมค่าตอบแทนอย่างงาม ทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวอะไรกับหนัง Apprentice #อ่าว!! แค่จะบอกว่า หนังเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของลูกมือฝึกหัดเหมือนกัน – ไม่ใช่ฝึกหัดทำธุรกิจ – แต่ฝึกหัดเป็นเพชฌฆาต

เรื่องราวใน Apprentice เกิดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ ในสิงคโปร์นั้น ไม่ได้มีแค่ประชากรชาวจีน แต่ยังมีชาวมลายูด้วย แถมยังมีชาวอินเดียอีกพอสมควร ดังนั้น สิงคโปร์จึงมีภาษาราชการถึง 4 ภาษา ได้แก่ อังกฤษ จีนกลาง มลายู และทมิฬ โดยภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง ใช้คุยกับคนที่ต่างเชื้อชาติกับเรา อย่างตัวละครเอกของหนังเรื่องนี้ เป็นชาวมลายู หนังก็เลยใช้ภาษามลายูสลับกับภาษาอังกฤษทั้งเรื่อง ฟังแล้วสนุกสนานดี

Apprentice เป็นเรื่องของชายหนุ่มนามว่า ไอมัน (แสดงโดย ฟีร์ดาอุส ราห์มัน) ซึ่งเมื่อตอนที่ยังละอ่อนน้อยอยู่ พ่อของเขา ‘ดูเหมือนจะ’ ตกเป็นแพะในคดีฆาตกรรม จึงถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ เหตุการณ์นี้เป็นบาดแผลในชีวิตของไอมันมาโดยตลอด เมื่อเติบโตขึ้น เขาจึงไปสมัครเป็นผู้คุมนักโทษในเรือนจำที่พ่อของเขาถูกจองจำและถูกประหาร ทำให้ได้พบกับเพชฌฆาตที่แขวนคอพ่อเขา เป็นชายวัยใกล้เกษียณที่ยังมีพลังเต็มเปี่ยม ชื่อว่าราฮิม (แสดงโดย วาน ฮานาฟี ซู) เจ้ากรรม ราฮิมดันมาถูกชะตาไอมัน และหมายมั่นปั้นมือให้ชายหนุ่มเป็นผู้สืบทอดตำแหน่ง จึงขอตัวไอมันมาฝึกหัดเป็นเพชฌฆาต คราวนี้ไอมันจะทำอย่างไร จะเดินหน้าต่อหรือล้มเลิก ขอเชิญทุกท่านติดตามได้ในโรงภาพยนตร์ เริ่มวันพฤหัสที่ 30 มีนาคมนี้ฮ่ะ

ที่มาภาพ: tiffanyyong.com

หนังเรื่องนี้เป็นผลงานการเขียนบทและกำกับของนักทำหนังเชื้อชาติจีนชาวสิงคโปร์ นามว่า วูเจวิ้นเฟิง (ฝรั่งเรียก Boo Junfeng) ซึ่งเพิ่งอายุครบ 33 เมื่อเดือนธันวาที่ผ่านมา วูเริ่มทำหนังสั้นมาตั้งแต่อายุ 21 พออายุ 27 ก็ทำหนังยาวเรื่องแรก คือ Sandcastle และได้รับเชิญไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองกานส์เมื่อปี 2010 ต่อมาในปี 2015 วูก็ได้เขียนบทและกำกับหนังเนื่องในโอกาสครบ 50 ปีการก่อตั้งประเทศสิงคโปร์ เป็นหนังที่ประกอบด้วยหนังสั้น 7 เรื่องของผู้กำกับ 7 คน ชื่อเรื่องว่า 7 Letters ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนสิงคโปร์เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในปีนั้น

วูได้แรงบันดาลใจในการทำหนัง Apprentice จากหนังสือเรื่อง Once a Jolly Hangman: Singapore Justice in the Dock ของอลัน ชาเดรก นักเขียน-นักหนังสือพิมพ์ชาวอังกฤษ ชาเดรกเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อวิพากษ์วิจารณ์กระบวนการยุติธรรมของสิงคโปร์ ซึ่งยังมีการประหารชีวิตด้วยการแขวนคออยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคดีเกี่ยวกับยาเสพติด เนื้อหาหลักของหนังสือเป็นเรื่องราวของดาร์ชาน ซิงห์ (เชื้อชาติอินเดียแหงๆ) อดีตหัวหน้าเพชฌฆาตที่แขวนคอนักโทษ (ภาษาอังกฤษเรียกว่า hangman) ในเรือนจำชางงี ผู้เคยแขวนคอนักโทษร่วมพันคน ตั้งแต่ปี 1959 จนกระทั่งเกษียณในปี 2006 นอกจากนี้ยังมีบทสัมภาษณ์นักสิทธิมนุษยชน ทนายความ และอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งตีแผ่ความไม่ชอบมาพากลในกระบวนการยุติธรรมและกิจการราชทัณฑ์ของสิงคโปร์ด้วย

ที่มาภาพ: amazon.com

แวบแรกที่ได้ยินชื่อหนังสือเล่มนี้ ดิฉันรู้สึกคุ้นกับวลี Jolly Hangman (คนแขวนคอผู้รื่นเริง) มาก คิดว่าน่าจะอยู่ในเพลงที่พ่อเคยเปิดฟังเมื่อดิฉันยังเด็กๆ เมื่อไปค้นดูก็ปรากฏว่าเป็นเพลงจริงๆ ชื่อเพลงว่า Poor Will and the Jolly Hangman ของวง Fairport Convention วงโฟล์กร็อกอังกฤษ เนื้อเพลงกล่าวถึงอำนาจของคนแขวนคอซึ่งสามารถชี้เป็นชี้ตายใครก็ได้ แม้แต่ชายผู้น่าสงสารชื่อวิลล์ ซึ่งไม่ได้ทำอะไรผิด เพลงนี้มีเนื้อหาเสียดสีขั้นสุด โดยเฉพาะท่อนที่ว่า “Here’s a toast to the Jolly Hangman. He’ll hang you the best that he can.” (นี่คือการดื่มฉลองแด่คนแขวนคอผู้เริงใจ เขาจะแขวนคอคุณอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้) การนำวลี Jolly Hangman มาใช้เป็นชื่อหนังสือ จึงเป็นการจงใจเสียดสีอย่างไม่กระมิดกระเมี้ยน

หนังสือ Once a Jolly Hangman: Singapore Justice in the Dock (เมื่อครั้งเป็นคนแขวนคอผู้เริงใจ: ความยุติธรรมในคอกจำเลยสิงคโปร์) วางแผงที่สิงคโปร์ในปี 2553 แต่วางได้ไม่กี่วันก็ถูกกวาดล้างจนเกลี้ยง และอลัน ชาเดรก ผู้เขียน ในวัย 76 ปี ก็ถูกจับขณะเดินทางมาสิงคโปร์เพื่อโปรโมตหนังสือ และต้องโทษจำคุกในข้อหาหมิ่นประมาทเป็นเวลา 2 เดือน ปรากฏว่าในช่วงเวลาไม่กี่วันที่หนังสือได้ขายนั้น วูเจวิ้นเฟิงซื้อทัน #ไวมากเหอะ แล้วหลังจากนั้นเขาก็ใช้เวลา 5 ปีในการเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ ในหนังสือ รวมทั้งสัมภาษณ์คนอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ญาติๆ ของนักโทษประหาร อิหม่ามและบาทหลวงที่มาสวดมนต์ให้นักโทษก่อนประหาร แล้วจึงกลั่นข้อมูลทุกอย่างปั้นเป็นบทหนังเรื่อง Apprentice ได้สร้างเป็นหนังโดยการร่วมทุนของสิงคโปร์ เยอรมนี ฝรั่งเศส ฮ่องกง และกาตาร์ แต่ฉากเรือนจำทั้งหมดต้องไปถ่ายที่ออสเตรเลีย เพราะสิงคโปร์ไม่ยอมให้ถ่าย และชื่อเรือนจำในเรื่องก็ต้องเป็นชื่อสมมุติ

ถ้าดูหนังเรื่องนี้ตอนอายุน้อยกว่านี้ ดิฉันคงจะงงว่าอีตาไอมันมันจะเข้าไปทำงานกับคนที่ฆ่าพ่อมันทำไม แต่เมื่อมาดูตอนเจริญวัยมากแล้วนี่ ต่อให้หนังไม่บอกตรงๆ ดิฉันก็เข้าใจชัด เพราะเห็นมาเยอะแล้วในช่วงชีวิตที่ผ่านมา ว่าคนบางคนก็พยายามถมหลุมดำในใจตัวเองให้เต็มด้วยวิธีการแปลกๆ คนบางคนก็พยายามหาคำตอบให้แก่คำถามที่ค้างคาใจ จนถึงกับยอมเอาทั้งชีวิตเข้าแลก และคนบางคนก็ถูกดึงดูดให้เข้าไปพัวพันกับคนที่เป็นต้นเหตุแห่งความปวดร้าวในชีวิต แล้วถลำลึกลงเรื่อยๆ โดยไม่อาจต้านทาน

ดิฉันห่างหายจากการใช้ภาพพจน์ paradox (ปฏิพากย์พจน์) มานานแล้ว น่าจะตั้งแต่เบี้ยน้อยฯ 074; After the Storm ละมัง #ขายของเนียนๆ วันนี้ขอใช้สักหน่อยว่า หนัง Apprentice มี “ความคลุมเครือที่ชัดเจน” ตลอดทั้งเรื่อง ระหว่างที่ดูเราอาจไม่แน่ใจอะไรเลย เพราะหนังก็ไม่ได้บอกอย่างตรงไปตรงมา แต่พอดูจบแล้วขบคิด เราจะเข้าใจทุกอย่างชัดด้วยตัวเราเอง อย่างคาแร็กเตอร์ตัวละครเอกทั้งสอง คือไอมันกับราฮิมนั้น ภายใต้ฉากหน้าซึ่งดูมั่นคง มันมีความไม่มั่นคงแฝงอยู่ ช่วงแรกเราจะรู้สึกว่าไอมันเป็นชายหนุ่มที่สุขุม และรู้ตัวอยู่ตลอดเวลาว่ากำลังทำอะไร แต่จริงๆ แล้วมันก็แค่เด็กน้อยคนหนึ่งซึ่งสำคัญผิดว่าตัวเองโตแล้ว ส่วนราฮิม เป็นชายสูงวัยที่ดูเท่ คูล ทรงอำนาจ และเชื่อมั่นในปรัชญาแห่งความเป็นเพชฌฆาตของตน แต่พอถูกสะกิดนิดเดียวก็สั่นสะเทือนอย่างรุนแรง จนนำมาซึ่งจุดเปลี่ยนของเรื่องอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด

แม้หนังเรื่องนี้จะได้แรงบันดาลใจจากหนังสือที่เขียนขึ้นเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกโทษประหาร แต่ก็ไม่ได้มีท่าทีโจมตีกระบวนการยุติธรรมและโทษประหารอย่างเอาเป็นเอาตาย เพราะมันยังสำรวจลึกลงไปในความเป็นมนุษย์ แล้วโยนคำถามมากมายใส่แสกหน้าผู้ชมอย่างสุภาพ ล้วนเป็นคำถามเชิงจริยธรรม ซึ่งหากคิดไม่รอบด้านแล้ว ก็ไม่มีทางที่จะได้คำตอบ

แต่หนังก็กระตุ้นและท้าทายให้เราหาคำตอบต่อไปโดยไม่หยุดยั้ง เพราะนี่คือสิ่งสำคัญที่เราทุกคน ในฐานะสมาชิกของสังคม จำเป็นต้องทำอย่างยิ่ง และจำเป็นต้องเริ่มทำนับแต่บัดนี้

สรุป: จ่าย 0 ได้กลับมา 105

หมายเหตุ:
1. Apprentice ได้รับเลือกให้เข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองกานส์ ปี 2016 และได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนสิงคโปร์เข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม #หลังจากต้องไปถ่ายที่ออสเตรเลียเพราะสิงคโปร์ห้ามถ่าย #พีค

2. หนังชนะรางวัล Asian Film Awards (ประกวดกันทั้งทวีปเอเชีย) ในสาขาลำดับภาพยอดเยี่ยม โดยผู้ได้รับรางวัลนี้ คือ ลี ชาตะเมธีกุล มือตัดต่อชาวไทยซึ่งโด่งดังไปทั่วทั้งเอเชียแล้วล่ะตอนนี้ นี่เป็นการรับรางวัลเอเชียนฟิล์มสาขาลำดับภาพครั้งที่ 3 แล้วสำหรับพี่ลี โดยครั้งแรกได้จากเรื่องแสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) ของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เมื่อปี 2550 และครั้งที่ 2 ได้จากหนังมาเลเซียเรื่อง Karaoke เมื่อปี 2553 #ชาบู

(ขอบคุณภาพปกจาก themalaymailonline.com)